ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566


การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ..2566 ซึ่งมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ 1 โดย ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ เรื่อง ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ดังนี้

1.เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง (ร่างบันทึกความเข้าใจฯ) ประจำปี พ.ศ. 2566 ระหว่าง อก. กับสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย (สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ขอให้ อก. สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

2.อนุมัติให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ

      สาระสำคัญของเรื่อง

อก. รายงานว่า

1.กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) แจ้งว่า สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ มีหนังสือแจ้งเรื่องการอนุมัติโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ. 2566 (สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ จะเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง – ล้านช้าง เป็นประจำทุกปี โดยมีมูลค่าของโครงการไม่เกิน 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ระยะเวลาดำเนินการ 1 – 3 ปี) ซึ่งโครงการของ อก. ที่ได้รับการอนุมัติ คือ โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบ การขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (Advanced Driver Assistance Systems: ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย (Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people)

  1. สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ ประสงค์ให้ อก. ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตจีนฯ เพื่อส่งมอบงบประมาณดำเนินโครงการดังกล่าว อก. จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ร่างบันทึกความเข้าใจฯ (ข้อเสนอในครั้งนี้) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

      วัตถุประสงค์: กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการงบประมาณของโครงการที่ได้รับอนุมัติจากฝ่ายจีนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้กองทุนอย่างสูงสุด

หลักการเบื้องต้น

      (1) มุ่งสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง

      (2) เคารพกฎหมายและกฎระเบียบของจีนและไทย

      (3) ร่วมกันติดตามประเมินโครงการและการใช้งบประมาณจากกองทุน

รายละเอียด: สำหรับงบประมาณ203,507 ดอลลาร์สหรัฐ (ไม่เกิน 1.41 ล้านหยวน หรือประมาณ 7.86 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินโครงการ:18 เดือน หน่วยงานดำเนินการ: สถาบันยานยนต์

การจัดสรรงบประมาณและการบริหารงบประมาณ

– ฝ่ายจีนจะจ่ายเงินงบประมาณเต็มจำนวนให้กับฝ่ายไทยภายใน 20 วันทำการ หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ

– ฝ่ายไทยโดย อก. (สถาบันยานยนต์) จะแจ้งการได้รับการจ่ายเงินอย่างเป็นทางการผ่านหนังสือทางการทูตหรือในรูปแบบอื่น ๆ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 10 วันทำการ หลังจากได้รับการจ่ายเงิน

การบริหารจัดการโครงการ

ฝ่ายไทย [อก. (สถาบันยานยนต์)] จะดำเนินการ ดังนี้

(1) ใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานดำเนินโครงการ รวมทั้งให้แนวทางและกระตุ้นให้หน่วยงานดำเนินโครงการดำเนินตามแผน ระยะเวลา และงบประมาณของโครงการ ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ เป็นวันเริ่มต้นโครงการ

(2) แจ้งฝ่ายจีนหากมีการเปลี่ยนแปลงที่เป็นนัยสำคัญในการดำเนินโครงการในระยะเวลาที่เหมาะสม

      (3) แจ้งสถานะการดำเนินโครงการ ความก้าวหน้าของโครงการ ความสมบูรณ์ของเป้าหมายโครงการที่กำหนดในแต่ละระยะและการใช้ประโยชน์ของเงินงบประมาณ ตลอดจนส่งเสริมการรับรู้ของสาธารณะและเปิดเผยเกี่ยวกับโครงการและกองทุน รวมทั้งแบ่งปันผลการประชาสัมพันธ์และผลงานด้านการทูตสาธารณะให้กับฝ่ายจีนทราบตามเวลาที่เหมาะสม

การกำกับดูแลและการตรวจสอบ

      (1) ฝ่ายไทยจะให้แนวทางและดูแลการตรวจสอบด้วยตัวเองในเรื่องความก้าวหน้าของโครงการ ประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการและการใช้งบประมาณให้เป็นไปตามข้อกำหนด และจะแจ้งฝ่ายจีนทราบในระยะเวลาที่เหมาะสม

(2) ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันสุ่มตรวจสอบการดำเนินโครงการบนพื้นฐานของความเห็นพ้องร่วมกัน

      (3) ปัญหาและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการจะได้รับการแก้ไขผ่านการหารืออย่างฉันมิตร

การประเมินผล

      (1) ฝ่ายไทยจะจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการเมื่อเสร็จสิ้นแล้วรวมทั้งดำเนินการเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ฝ่ายจีนเป็นลายลักษณ์อักษร

      (2) งบประมาณส่วนที่เหลือจะต้องนำส่งคืนให้แก่ฝ่ายจีนภายใน 3 เดือนหลังจบโครงการ

ผลการบังคับใช้และระยะเวลาการมีผลบังคับใช้

บันทึกความเข้าใจฯ ไม่ก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมายต่อทั้งสองฝ่ายและไม่เป็นสนธิสัญญาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยมีผลบังคับใช้

(1) ในวันที่ลงนามและจะมีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 5 ปี และจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลาอีก 5 ปี

 (2) การสิ้นสุดของบันทึกความเข้าใจฯ จะไม่กระทบต่อการดำเนินกิจกรรม/โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ

การทบทวนและการแก้ไขเพิ่มเติม

      ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยจะมีผลหลังจากวันที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกันผ่านการปรึกษาหารือ

  1. อก. แจ้งว่า การดำเนินโครงการข้างต้น (ตามข้อ 2) จะเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างกันของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือแม่โขง – ล้านช้าง รวมทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างหน่วยงานปฏิบัติอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานเพื่อพัฒนาศักยภาพการผลิตในอนุภูมิภาค ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ให้ความเห็นชอบการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากต่างประเทศในการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้วตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2547 (เรื่อง แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการขอรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ)

  สรุปรายละเอียดโครงการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัย

      วัตถุประสงค์:ประเมินความสามารถเพื่อเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ ประกอบด้วย ยานยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สำหรับผู้สูงวัยโดยมีประเทศเป้าหมาย ได้แก่ ไทยและเวียดนาม โดยการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากจีน

      กิจกรรม: (1) ดำเนินการศึกษาและเก็บข้อมูลในเวียดนาม (2) จัดการการศึกษาดูงานในจีนโดยฝ่ายไทยและเวียดนาม (3) จัดการสัมมนานานาชาติเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีจากจีน ณ ประเทศไทย และ (4) ประเมินผลการดำเนินโครงการ

      ผลที่คาดว่าจะได้รับ:

– เสริมสร้างเครือข่ายห่วงโซ่อุปทานเพิ่มศักยภาพด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารโดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป รวมถึงความสามารถในการแข่งขัน และในสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง

– ส่งเสริมการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงด้านอุตสาหกรรมระหว่างสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ในสาขายานยนต์ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ

– ตอบสนองต่อปฏิญญาซานย่าในด้านการขยายความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต

– สอดรับกับปฏิญญาพนมเปญในด้านความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งแถลงการณ์ร่วมในความร่วมมือด้านศักยภาพการผลิต เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาคและโลก

      ผู้ได้รับประโยชน์:เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ/ภาควิชาการ ในสาขายานยนต์ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะในประเทศสมาชิกแม่โขง – ล้านช้าง ได้แก่ ไทย เวียดนาม และจีน

                หน่วยงานดำเนินการ: สถาบันยานยนต์


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save