การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ.2565 ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล โดย ครม. มีมติเห็นชอบและอนุมัติเรื่อง มาตรการลดการใช้พลังงานในหน่วยงานภาครัฐตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอดังนี้
1.เห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงานตามที่เสนอในแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ
2.อนุมัติเป็นหลักการให้หน่วยงานราชการดำเนินการตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 พร้อมทั้งรายงานผลการประหยัดพลังงานผ่าน www.e-report.energy.go.th เพื่อกระทรวงพลังงานจะได้รายงานผลต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญ
กระทรวงพลังงาน ได้จัดทำแนวทางประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้หน่วยงานราชการนำไปปฏิบัติ และได้ผลประหยัดพลังงานตามเป้าหมายที่กำหนด โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.กำหนดเป้าหมาย : ลดใช้พลังงานลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 20 (รวมไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง)
2.มาตรการที่ปฏิบัติได้ทันที มีแนวทางดังนี้
2.1 ให้หน่วยงานราชการลดการใช้ไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิงลงร้อยละ 20ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของการประเมินผลตัวชี้วัดการลดใช้พลังงานของหน่วยงานราชการ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 – 2563 โดยปรับเพิ่มเป้าหมายลดใช้พลังงานจากเดิม 10% เป็น 20% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- แนวทางดำเนินการ
- การรายงานข้อมูลการใช้พลังงาน
-ให้หน่วยงานราชการรายงานข้อมูลการใช้พลังงานผ่าน www.e-report.energy.go.th ซึ่งทุกหน่วยงานได้มีบัญชีสำหรับเข้าระบบเพื่อรายงานข้อมูลการใช้พลังงานแล้ว
2) มาตรการลดใช้พลังงานด้านไฟฟ้า
– ให้หน่วยงานราชการจัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประสิทธิภาพเบอร์ 5
– กำหนดเวลาเปิด – ปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 8.30 – 16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 – 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน
– กำหนดการใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่ หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อยและรณรงค์ขึ้น – ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์
– พิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) ทั้งนี้ให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์
3) มาตรการลดใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
– ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารแทนการเดินทาง เช่น การประชุมออนไลน์ การจัดส่ง เอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
– ให้พนักงานขับรถยนต์ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 อย่าง เคร่งครัด และขับรถในอัตราความเร็วที่สม่ำเสมอ เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
– เลือกใช้รถยนต์ให้เหมาะสมกับสภาพการเดินทาง และจำนวนผู้เดินทาง
- มาตรการระยะยาว มีแนวทางดังนี้
3.1 ให้ “อาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม” ก่อนปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ประมาณ 800 แห่ง เร่งปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานไม่ให้เกิน “ค่ามาตรฐานการจัดการใช้พลังงาน” ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อเป็นตัวอย่างในการจัดการอาคารของเอกชนที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม
3.2 ให้นำมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐ ภายใต้แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน มาใช้กับหน่วยงานราชการ โดยให้กระทรวงพลังงาน สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำหนดวิธีการและแนวทางที่สามารถนำมาใช้ปฏิบัติได้จริง
ผลการประหยัดพลังงานที่ผ่านมา
การดำเนินงานที่ผ่านมาหน่วยงานราชการได้ดำเนินการรายงานข้อมูลการใช้พลังงานในระบบ www.e-report.energy.go.th ที่กำหนดให้หน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 10 ในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 – 2564 โดยใช้ปี พ.ศ. 2562 เป็นปีฐาน เพื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2563 และ 2564 ในด้านการใช้ไฟฟ้า ที่ประหยัดได้ 100.4 ล้านหน่วย และ 149.0 ล้านหน่วย ตามลำดับ และด้านการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลงได้ 5.7 ล้านลิตร และ 17.6 ล้านลิตร ตามลำดับ รวมผลประหยัด 2 ปี สามารถลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 249.4 ล้านหน่วย และสามารถลดการใช้น้ำมันลง 23.3 ล้านลิตร
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
หากหน่วยงานราชการลดการใช้พลังงานร้อยละ 20 ในครึ่งปีหลังของปีงบประมาณพ.ศ. 2565 คาดว่าจะลดการใช้พลังงานได้ดังนี้
1.ลดการใช้ไฟฟ้าได้ 120 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินมูลค่า 600 ล้านบาท (ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 5 บาท) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) 70,800 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (ไฟฟ้า 1 หน่วย = 0.590 กิโลกรัมเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์) และลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ 12 ล้านลิตร คิดเป็นเงินมูลค่า 420 ล้านบาท (ค่าน้ำมันคิดเฉลี่ยหน่วยละ 35 บาท) ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 26,275 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ (เบนซิน 1 ลิตร = 2.1896 กิโลกรัม เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์) รวมลดปริมาณการใช้พลังงานลงคิดเป็นมูลค่า 1,020 ล้านบาท ลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 97,075 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์
2.การกำกับดูแลอาคารของรัฐที่เข้าข่ายเป็นอาคารควบคุม คาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงาน คิดเป็นไฟฟ้า 174.45 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 872.25 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 102,925 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์
3.การดำเนินงานตามมาตรการบริษัทจัดการพลังงาน (ESCO) สำหรับหน่วยงานภาครัฐคาดว่าจะสามารถลดใช้พลังงานคิดเป็นไฟฟ้า 1,058.33 ล้านหน่วย คิดเป็นมูลค่า 5,291.65 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 624,414 ตันเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์