คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำโดย รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี ผศ.ดร.กฤษฎา อัศวสกุลเกียรติ รองคณบดีฝ่ายเสริมสร้างความร่วมมือและกิจกรรมเพื่อสังคม และ ผศ.ดร.รุ่ง กิตติพิชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล ร่วมกับ วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง จ.ราชบุรี เปิดงาน โครงการ “ยกระดับเยาวชนด้วยศาสตร์วิศวกรรมเครื่องกลสู่อุตสากรรมไทย 5.0” โดยจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมรถยนต์…สู่เทคโนโลยีพลังงานทดแทน” โดยมี อาจารย์อนุชา จันทร์สนิท ผู้อำนวยการวิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ร่วมเป็นเกียรติในงาน มุ่งยกระดับศักยภาพบุคลากรครูผู้สอนและนักศึกษาอาชีวศึกษา รองรับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
ผศ.ดร.รุ่ง กิตติพิชัย หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมรถยนต์จากเครื่องยนต์สันดาปไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของประเทศไทย เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสิ่งแวดล้อมและพลังงานนั้น ต้องขับเคลื่อนพัฒนาองค์ความรู้ในหลายภาคส่วนไปด้วยกัน ตั้งแต่ภาคการศึกษาซึ่งผลิตบุคลากรในทุกระดับ ภาคอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอี และภาคประชาชนผู้ใช้ยานยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นผู้นำด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลจากคณะกรรมการ ABET ถึง 6 หลักสูตร จึงร่วมกับ วิทยาลัยการอาชีพบ้านโป่ง จ.ราชบุรี จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมรถยนต์…สู่เทคโนโลยีพลังงานทดแทน” เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักศึกษาและบุคลากรในสถาบันการศึกษาอาชีวะทางด้านวิศวกรรมยานยนต์และแนวโน้มของยานยนต์ยุคใหม่ในอนาคต นำความรู้และทักษะที่ได้รับมาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกระดับให้นักศึกษาอาชีวะ ปวช.ปี 1-3 สามารถเข้าสู่การเรียนรู้ภาคปฎิบัติร่วมกับภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่ในอนาคตได้ต่อไป
ในประเทศไทยมีหลายจังหวัดที่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมอู่ต่อรถยนต์ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เช่น ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ ราชบุรี เป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีชื่อเสียงในอุตสาหกรรมนี้และมีอู่ต่อรถยนต์จำนวนหลายสิบแห่ง สร้างงานสร้างรายได้ให้ท้องถิ่นและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ ตลาดดัดแปลงรถยนต์เก่าทั่วประเทศจากใช้น้ำมันระบบสันดาปภายในให้เป็นระบบไฟฟ้า เปิดโอกาสกว้างแก่ผู้ประกอบการอู่รถยนต์ที่ต้องปรับตัวในการตอบโจทย์การลดใช้น้ำมันและลดปัญหามลพิษ อีกทั้งราคาไม่แพงและเข้าถึงง่าย ตลอดจนตอบสนองยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายภาครัฐในการส่งเสริมใช้รถยนต์พลังไฟฟ้า ให้
ในการถ่ายทอดความรู้ครั้งนี้มุ่งเน้นนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งจะเป็นแรงงานในอนาคต ให้ได้เรียนรู้การทำงานของรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีส่วนประกอบต่างๆ เช่น 1. แผงโซล่าเซลล์ (Solar Panel) ทำหน้าแปลงพลังงานแสงที่ได้รับเป็นพลังงานไฟฟ้า 2. ตัวควบคุมประจุการชาร์จ (Charger) ทำหน้าที่ประจุพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับจากแผงโซล่าเซลล์เข้าไปยังแบตเตอรี่ 3. แบตเตอรี่ (Battery) สำหรับกักเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ได้รับจากแผงโซล่าเซลล์ 4.ตัวควบคุมมอเตอร์ (Motor Controller) ทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการจ่ายไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ไปยังมอเตอร์เพื่อควบคุมความเร็วและแรงบิดของมอเตอร์ 5. มอเตอร์ (Motor) ทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานกลเพื่อขับเคลื่อนตัวรถยนต์
นอกจากนี้ ยังเสริมความรู้ด้านการตรวจเช็ครถยนต์และการบำรุงรักษารถยนต์ระบบสันดาปภายในซึ่งยังคงใช้งานไปอีกหลายปีให้มีประสิทธิภาพอีกด้วย โดยเน้นการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา เพื่อแก้ไขได้ตรงจุด โดยสร้างเสริมทักษะการแก้ปัญหาเครื่องยนต์ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น รถสตาร์ทไม่ติด การทำงานของเครื่องยนต์ ส่วนประกอบของมอเตอร์สตาร์ท การตรวจสอบระบบจุดระเบิด การทำงานของระบบปั๊มเร่งในคาร์บูเรเตอร์ การตรวจสอบและซ่อมโซลินอยด์ การวัดกำลังอัดในกระบอกสูบเครื่องยนต์ การหาจุดขัดข้องของไดสตาร์ท เป็นต้น โดยมี ปัญญา เส็งแดง ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และอภินพ พรศรี งานวิศวกรรมเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร