ความก้าวหน้าของเฮลท์เทค (HealthTech) เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันและสุขภาพยุค Disruption ทั้งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งสนับสนุนรับเทรนด์เติบโตของตลาดโลก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยนวัตกรรม รองรับสังคมสูงวัยและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปี 2020 คาดว่ามูลค่าเฮลท์เทค ในตลาดโลกจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับประเทศไทย ตลาดส่งออกและนำเข้า มีมูลค่าปีละกว่า 1.6 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังขาดบุคลากรสตาร์ทอัพด้านนี้อีกมาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ร่วมกับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ Royal Academy of Engineering แห่งประเทศอังกฤษ จัดแข่งสุดยอดไอเดียเฮลท์เทค Global HealthTech Hackathon Challenges 2019 ณ ศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม (Innogineer Studio) โดยมีผู้สมัครแข่งขันกว่า 200 คน
มณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็น ชาติแห่งสตาร์ทอัพ หรือ Startup Nation โดยมีกรุงเทพมหานครเป็น Global Startup Hub แห่งภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันนิวยอร์คเป็นศูนย์กลางการเงินและสตาร์ทอัพของโลก สำหรับประเทศไทย ในปี 2018 มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่จดทะเบียนจำนวน 1,700 ราย ในระบบของ Startupthailand.com ในการส่งเสริมสตาร์ทอัพเฮลท์เทค ในประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) NIA มีเป้าหมายจะพัฒนาผ่านกิจกรรมการบ่มเพาะและเร่งสร้าง โดยจะทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายด้านการแพทย์และสุขภาพเพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจจากงานวิจัยระดับเชิงลึก ยกระดับอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพอย่างยั่งยืน
สำหรับความร่วมมือจัด Global HealthTech Hackathon 2019 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฟ้นหาและคัดเลือกแนวคิดธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงลึกในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะสตาร์ทอัพการแพทย์และสุขภาพ
ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เฮลท์เทคเป็นความท้าทายสู่การเปลี่ยนแปลงโลก เพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยการนำเทคโนโลยี DeepTech ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และอื่น ๆ เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพ ไม่ว่าจะในรูปแบบ ดาต้าเบส ที่เข้ามาช่วยคิดวิเคราะห์ข้อมูลการรักษา หรือระบบการจัดการทางการแพทย์ เครื่องมือทางการแพทย์ การบริการคนไข้และการเพิ่มประสิทธิภาพห้องทดลอง เป็นต้น
“วันนี้โลกแห่งการดูแลสุขภาพนั้นเปลี่ยนไปชัดเจน อย่างแรก คือ เปลี่ยนจากดูแลสุขภาพแบบพบหมอเมื่อเจ็บป่วย มาเป็นการดูแลสุขภาพต่อเนื่อง โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสำหรับการวินิจฉัยและการรักษาในการแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) ซึ่งเป็นแนวคิดการดูแลรักษาโรคให้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น โดยวิเคราะห์ถึงดีเอ็นเอ ปัจจัยแวดล้อมและพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรค ตัวอย่างเช่น ระบบการติดตามด้วยเซนเซอร์วัดสถิติร่างกาย ประเภทอุปกรณ์นับจำนวนก้าว ระยะเวลาการนอน ซึ่งขณะนี้มีผู้ใช้งานมากกว่าล้านคนทั่วโลกตามจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เติบโตขึ้น เซ็นเซอร์ที่ต้องตรวจผ่านเลือด ได้แก่ ระบบวัดระดับกลูโคส ระบบวัดอัตราการเต้นหัวใจ วัดออกซิเจน ซึ่งอำนวยความสะดวกให้คนไม่ต้องเจาะเลือด แถมยังเชื่อมกับแอพพลิเคชั่นได้” ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ กล่าว
ยุคเฮลท์เทคของวงการสุขภาพได้มาถึงแล้ว แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้น คือ ประเทศไทยควรทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาเพื่อนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และหากไทยสามารถรับรองผลการวิจัยได้เลยภายในประเทศ ก็จะเป็นการลดประหยัดต้นทุนผู้ผลิต ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเฮลท์เทค และตอบสนองต่อการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของอาเซียน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีงานวิจัยที่นำ Deep Tech AI มาใช้ในการพัฒนา การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) มี 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. อุปกรณ์สวมใส่หรือเซนเซอร์ที่ติดตามร่างกาย เสื้อผ้าต่าง ๆ ที่สามารถวัดสัญญาณของระดับประสาท กล้ามเนื้อหัวใจ หรือระบบวัดระดับกลูโคส ผ่านสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นได้ 2. การนำข้อมูลต่างๆมาใช้ในการรักษา เช่น การรักษาโรคออทิสติกด้วยระบบซอฟต์แวร์ ร่วมกับระบบเทรนนิ่ง ตลอดจนหุ่นยนต์ผ่าตัด ซึ่งใช้เทคโนโลยีเอไอมาวางแผน 3. อุปกรณ์ช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาในเรื่องซอฟต์แวร์ เฉกเช่นเดียวกับผู้นำที่ผลิตเครื่องมือแพทย์รายใหญ่ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา, เยอรมนี, เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร
ดร. เคตะ โอโน่ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะและพัฒนานวัตกรรม (Innogineer Studio) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า Hackathon เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการระดมไอเดียแก้ปัญหาและวิเคราะห์ทำความเข้าใจถึงปัญหา เพื่อค้นหาสุดยอดนวัตกรรมใหม่ งาน Global HealthTech Hackathon Challenges 2019 เป็นเวทีแข่งขันประชันไอเดียกันสดๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 วัน 2 คืน โดย ว่าที่สตาร์ทอัพหน้าใหม่จะได้รับโจทย์ ได้ฟูมฟักไอเดีย ฝึกทักษะการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย เรียนรู้เทคนิคการออกแบบ ทั้งมี Mentors วิทยากรให้ความรู้ และเพิ่มประสบการณ์ จุดเด่นของ Hackathon ในครั้งนี้คือ ได้ลงพื้นที่พบแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เช่น รพ. ศิริราช , รพ. รามาธิบดี , ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก และนำเสนอ Business Pitching ทีมใดมีความคมเข้มในศักยภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาได้ มีความอดทนและบริหารเวลาได้ดีก็มิสิทธิ์ลุ้นรับรางวัล มี 3 รางวัล และ NIA จะคัดเลือก 10 ทีม ที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพต่อไป
สำหรับผลการแข่งขันมี 3 ทีม ที่ได้รับรางวัล ได้แก่ อันดับ 1 ทีม Selfin ผลงาน Marketplace for ADHD Children, อันดับ 2 ทีม The Blank ผลงาน AI Pathology และอันดับ 3 ทีม Health U ผลงาน Health U Application นอกจากนี้ NIA จะคัดเลือก 10 ทีม ที่มีศักยภาพมาบ่มเพาะเพื่อต่อยอดเป็นสตาร์ทอัพต่อไป