กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผนึกกำลังกรมศิลปากร หารือแนวทางอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วย ววน. มุ่งเป้า ‘รวมกันเพื่อเข้มแข็ง’ และใช้งบประมาณวิจัยอย่างคุ้มค่าเพื่อประโยชน์ต่อหน่วยงาน ประเทศชาติ และประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของโบราณสถานอย่างแท้จริง
รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย สตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการกองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) นำคณะนักวิจัยเข้าพบ พนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เพื่อร่วมประชุมหารือการอนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยการเชื่อมโยงการทำงานแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กับกรมศิลปากรซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสร้างทุนทางปัญญาแก่คนไทยในด้านการอนุรักษ์และสร้างสรรค์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ
สกสว.เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบวิจัยของประเทศ ซึ่งให้ความสำคัญกับการทำวิจัยในประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ รวมถึงภัยพิบัติและแผ่นดินไหวที่มีผลกระทบต่อโบราณสถาน ตลอดจนบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งมหาวิทยาลัยในพื้นที่มีบทบาทในการบริการวิชาการ โดยกองทุนฯ ได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยเชิงกลยุทธ์ตามยุทธศาสตร์ชาติผ่าน วช. ขณะที่กรมศิลปากรสามารถขอรับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนฯ ได้โดยตรงเพื่อทำงานตามพันธกิจ
สำหรับประเด็นที่หารือร่วมกันในครั้งนี้คือ แนวทางการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย หน่วยงานเจ้าภาพในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการสืบค้นและบูรณะโบราณสถานให้ยั่งยืนต่อไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ รวมทั้งการจัดทำระบบเตือนภัยโบราณสถานในด้านต่าง ๆ เพื่อวางแผนเสริมกำลังโครงสร้างโบราณสถานได้อย่างทันท่วงที ตลอดจนการถ่ายโอนความรู้ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันเป็นโครงการนำร่องระหว่างนักวิจัยและกรมศิลปากร รวมถึงการขยายเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น มูลนิธินายช่างไทย ใจอาสา ซึ่งมีสมาชิกจากสภาสถาปนิก กฟผ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เพื่อระดมผู้มีความรู้ทางเทคนิคทั้งวิศวกรและนายช่างเพื่อร่วมกันอนุรักษ์โบราณสถาน
ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม หัวหน้าชุดโครงการอนุรักษ์โบราณสถานด้วยหลักวิศวกรรม กล่าวว่า โครงการวิจัยที่ผ่านมาได้บันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างโบราณสถานได้อย่างถูกต้อง เพื่อจัดทำข้อมูลดิจิทัลและนำไปประยุกต์หาความมั่นคง รวมถึงการวิเคราะห์โครงสร้างด้วยเทคนิคขั้นสูงที่พร้อมถ่ายทอดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีพื้นที่วิจัยประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ และอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง นอกจากนี้ยังได้ติดตามสภาพของโบราณสถานเพื่อจัดลำดับความสำคัญในการบูรณะ และฐานข้อมูลวัสดุเชิงวิศวกรรมทั้งวัสดุโบราณและวัสดุสมัยใหม่เพื่อเสริมกำลังและบูรณะซ่อมแซม ตลอดจนการสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อศึกษาความมั่นคงของโบราณสถานและสนับสนุนการสืบค้นทางโบราณคดี
รศ. ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์วัตนธรรมและสถาปัตยกรรมท้องถิ่น กล่าวว่า ปัจจุบันได้สำรวจมรดกทางสถาปัตยกรรมที่อยู่ในภาวะเสี่ยงและจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกียวโต รวมทั้งการสำรวจมรดกสถาปัตยกรรมของประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในส่วนของกรมศิลปากรมีศูนย์เทคโนโลยีของกรมมีชุดข้อมูลโบราณสถาน ทั้งประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหวและน้ำท่วม การจัดทำฐานข้อมูลเกี่ยวกับทะเบียนโบราณสถาน การซ่อมบำรุง ซึ่งมีลำดับชั้นในการเข้าถึงข้อมูล ทั้งนี้กรมศิลปากรอาจชี้เป้าโบราณสถานที่มีความเสี่ยงจากภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อร่วมกันสำรวจข้อมูล และราคาวัสดุที่ใช้ในการบูรณะตามหลักวิศวกรรม รวมถึงการแจ้งเตือนภัยพิบัติเพื่อเฝ้าระวังในพื้นที่ต่าง ๆ
“กรมศิลปากรสามารถใช้ฐานข้อมูลที่นักวิจัยศึกษาไว้แล้วไปใช้ประโยชน์โดยเฉพาะโบราณสถานที่มีความเสี่ยงและได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ การจัดเก็บข้อมูลดิจิทัลที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การศึกษานวัตกรรมร่วมกันเพื่อเตือนภัยและเฝ้าระวังโบราณสถาน รวมถึงการจัดผู้เชี่ยวชาญหรือบุลากรที่พร้อมสนับสนุนงานของกรมศิลปากรในพื้นที่ สำรวจพบโบราณสถาน 7,000-8,000 แห่ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนและกำหนดขอบเขต ซึ่งจะต้องผลักดันให้ขึ้นทะเบียนมากขึ้นเพื่อประโยชน์ในการปกป้องคุ้มครอง ที่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือสมัยใหม่ในการสำรวจ
“หากองค์ความรู้หรือนวัตกรรมของนักวิจัยประกอบกับฐานข้อมูลจะช่วยให้งานของกรมศิลปากรดำเนินการได้เร็วขึ้นก็จะเป็นการดี และหาความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน ประเทศชาติและประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของโบราณสถานที่แท้จริง เป็นการรวมกันเพื่อเข้มแข็ง และใช้งบประมาณในการทำวิจัยอย่างคุ้มค่า โดยอยากให้จัดประชุมร่วมกันเพื่อหาโครงการที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป” อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวสรุปทิ้งท้าย