สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทุนวิจัยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้นำมาใช้ได้จริงต่อยอดงานวิจัย เกิดประโยชน์องค์รวมต่อประเทศในอนาคต
เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า สำนักงาน กกพ. จะสนับสนุนเงินงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อกิจการตามมาตรา 97(4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ประกอบด้วย งบสำหรับการวิจัยและพัฒนาที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติด้านพลังงาน แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) และกรอบการวิจัยที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานให้ความเห็นชอบ โดยภายหลังจากการร่วมลงนามแล้ว จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อกำหนดกรอบการทำงานร่วมกันให้เกิดงานวิจัยที่จะนำมาใช้ได้จริงในการนำมาสร้างเทคโนโลยีด้านพลังงาน ช่วยในการผลิตไฟฟ้าครบวงจร ทั้งเรื่องต้นทุนการผลิต และเทคโนโลยีพลังงานสะอาดยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น และที่สำคัญสร้างบุคลากรที่มีองค์ความรู้ความสามารถให้มากยิ่งขึ้น
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า สกสว. พร้อมสนับสนุนในเชิงวิชาการ บุคลากรร่วมทำงานวิจัยด้านพลังงานที่มีอยู่เดิมและคิดค้นงานวิจัยใหม่ๆให้ทันยุคสมัยเกี่ยวกับพลังงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถระหว่าง กกพ. เพื่อให้การทำงานเป็นไปตามเป้าหมาย ตาม ประเด็นและกรอบการวิจัยที่กำหนดไว้ โดยจะมีทีมวิจัยร่วมติดตามประเมินผลโครงการวิจัย และการส่งเสริมการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทุกๆ หน่วยงานเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศในอนาคต
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ. ) กล่าวถึงทิศทางและยุทธศาสตร์การกำกับกิจการพลังงานของประเทศว่า ทาง กกพ. ได้ปรับการบริหารจัดการโครงสร้างระบบการผลิตไฟฟ้าให้เกิดความมั่นคงในระยะยาว และรองรับการใช้พลังงานในอนาคต (Future Energy) เนื่องจากการใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันมีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการทำงานจะปรับ 2 รูปแบบ คือ พลังงานหลัก ที่คาดว่า ก๊าซธรรมชาติ จะเป็นคำตอบ และพลังงานในอนาคต เช่น ไฮโดรเจน ระบบกักเก็บพลังงาน(ESS) โซลาร์เซลล์ และยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นต้น รวมถึงจะต้องมีเทคโนโลยีที่เข้ามาทำหน้าที่เชื่อมต่อและบริหารจัดการการใช้พลังงานต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เรื่องของสมาร์ทกริด บล็อกเชน และการเกิดขึ้นของรูปแบบธุรกิจใหม่ เพื่อรับมือกับทิศทางการใช้พลังงานที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต
โดยกกพ.ได้เตรียมปรับปรุงกฎเกณฑ์รองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ได้แก่ 1.สนับสนุนนวัตกรรมพลังงาน (Energy Innovation) เพื่อปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมภายใต้โครงการ ERC Sandbox ซึ่งได้ดำเนินโครงการระยะที่ 1 ไปแล้ว 32 โครงการ และปัจจุบัน อยู่ระหว่างดำเนินโครงการระยะที่ 2 เพื่อทดสอบการใช้พลังงานหมุนเวียน ในการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถรักษาการแข่งขันในเวทีโลกได้ 2.กำหนดอัตราไฟฟ้าสีเขียว (Green Tariff) เพื่ออำนวยความสะดวกภาคอุตสาหกรรมและผู้ประสงค์จะใช้พลังงานสีเขียว ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้ต้นทุนอาจจะแพงกว่าอัตราไฟฟ้าทั่วไป แต่จะตอบโจทย์ความต้องการใช้พลังงานสะอาด 3.ปรับปรุงกฎระเบียบประเภทใบอนุญาต เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้เอง (หลังมิเตอร์) รวมทั้งการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ โดยแนวทางดังกล่าวจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์ (แผนปฏิบัติการ) การกำกับกิจการพลังงาน ระยะ 5 ปี (ปี พ.ศ.2566-2570) จะช่วยตอบโจทย์เรื่องของ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition), เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และDigital Technology