งาน MRA 2019 ชูแนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure ยกระดับภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ


งาน MRA 2019 ชูแนวคิด Smart Manufacturing & Smart Infrastructure ยกระดับภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

สมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น (JMA) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคมและพันธมิตร แถลงความพร้อมการจัดงาน “Maintenance & Resilience ASIA 2019” (MRA 2019) ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Smart Manufacturing & Smart Infrastructure” เพื่อมุ่งหวังยกระดับภาคการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น

ภายในงานมีการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้านโครงสร้างพื้นฐาน, เทคโนโลยีความปลอดภัย, เทคโนโลยีการผลิต, ระบบอัตโนมัติและ หุ่นยนต์อัตโนมัติ (AI) มาใช้ร่วมทำงานกับคนภายในโรงงาน ระหว่างวันที่ 2-4 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ณ ศูนย์การแสดงสินค้าและนิทรรศการไบเทค บางนา

ทาดาซิ โยชิดะ ประธานสมาคมการบริหารจัดการประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า JMA ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) แถลงความพร้อมจัดงาน “Maintenance & Resilience ASIA 2019” (MRA 2019) ครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “Smart Manufacturing & Smart Infrastructure” ระหว่างในวันที่ 2 – 4 ตุลาคม พ.ศ 2562 เพื่อมุ่งหวังที่จะยกระดับการผลิตและโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่าประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยกว่า 40 % ของนักลงทุนชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยจะนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การก่อสร้างถนน การก่อสร้างอุโมงค์ ทางแยกระบบโลจิสติกส์และเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมเมือง ที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ ช่วยลดต้นทุน ลดระยะเวลาการทำงานช่วยให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเข้ามาจัดแสดงภายในงาน พร้อมทั้งจะมีการจัดการประชุมสัมมนาและเวทีเจรจาธุรกิจสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นและนักลงทุนชาวไทยในแบบใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการตัดสินใจร่วมการลงทุนในแต่ละธุรกิจภายในงานให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและ AI สำหรับใช้ในโรงงาน โรงแรม คอนโดมิเนียม และอื่นๆ มาจัดแสดงภายในงานกว่า 200 บูทจาก 120 บริษัททั้งผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นและผู้ประกอบการไทย

ทาดาซิ โยชิดะ

ภาคอุตสาหกรรมไทยพร้อมปรับตัวรับทุกการเปลี่ยนแปลง

ภานุวัฒน์ ตริยางกูรศรี ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินนโยบายขับเคลื่อนแผนการทำงานและยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดั้งเดิมและอุตสาหกรรมใหม่ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานเพื่อให้ผู้ประกอบการทุก ๆยุคทุก ๆสมัยได้มีการผสมผสานการทำงานร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวไกลไปด้วยกัน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่อุตสาหกรรมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามเทรนด์ของทั่วโลก ซึ่งอุตสาหกรรมของไทยต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินงานให้อยู่รอดในทุก ๆช่วงตามความเหมาะสม ไม่เร่งเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมไปทุกอุตสาหกรรมแต่จะพยายามส่งเสริมและดูแลผู้ประกอบการภาคเอกชนทุก ๆอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมไปสู่ยุค Industry 4.0 โดยเฉพาะ 12 S-Curve ตามนโยบายรัฐบาล

“แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา-จีนบ้าง แต่ก็จะพยายามดูแลอย่างเต็มที่ แต่เชื่อมั่นว่าวิกฤตที่เกิดทั่วโลกได้รับผลกระทบหมด เพียงแต่ว่าใครจะเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้เร็วกว่ากัน ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยมีฐานความเข้มแข็งอย่างยิ่งเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการสร้างความมั่นคงให้ประเทศปรับเปลี่ยนการประกอบธุรกิจพัฒนาศักยภาพของกระบวนการผลิต ศักยภาพของบุคลากรที่ทำงาน นำเทคโนโลยีสสมัยใหม่เข้ามาใช้ช่วยให้ผ่านวิกฤตนี้ไปได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยจะทำงานเพียงลำพังโดยไม่อาศัยมิตรการค้าคู่ค้าที่สำคัญที่ร่วมทำธุรกิจกันมาอย่างผู้ประกอบการและนักลงทุนชาวญี่ปุ่นคงไม่ได้ เพราะผู้ประกอบการญี่ปุ่นเป็นผู้ร่วมบุกเบิกการทำนิคมอุตสาหกรรมหลายๆนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เข้ามาตั้งฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ทั่วโลกยอมรับ” ภานุวัฒน์ กล่าว

การที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐของไทยจัดงาน MRA 2019 ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆของประเทศญี่ปุ่น เช่น อากาศยานไร้คนขับ รถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอากาศยาน เทคโนโลยีเซนเซอร์ นวัตกรรมคลังสินค้าอัจฉริยะ โรงงานอัจฉริยะ และอื่นๆเพื่อนำปรับใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรมของไทย เชื่อมั่นว่าจะช่วยยกระดับระบบการผลิตของไทยในปัจจุบันให้ก้าวหน้า มีประสิทธิภาพ และประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับภายในงานจะมีเวทีเจรจาการค้าระหว่างผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นกับผู้ประกอบการชาวไทย ซึ่งจะเป็นอีกเวทีที่จะเป็นโอกาสในการนำเสนอสินค้าและผลิตภัณฑ์ของคนไทยให้นักลงทุนผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นได้รับทราบเผื่อสนใจเข้าร่วมลงทุนเพิ่มเติม

งาน MRA 2019

ระบบคมนาคมของไทย นำเทคโนโลยีของญี่ปุ่นมาปรับใช้

วิจิตต์ นิมิตวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคม กล่าวว่า งาน MRA 2019 จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบขนส่งและโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคของประเทศ ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการบูรณาการ และการพัฒนาระบบ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วน รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน เพราะผู้ประกอบการญี่ปุ่นและนักลงทุนชาวญี่ปุ่นมีความสามารถและมีประสบการณ์ในการคิดค้นเทคนิค เทคโนโลยีใหม่ๆมาใช้ในการผลิต ในการบำรุงรักษาสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นสู่ตลาดการค้า อีกทั้งมีผู้เชี่ยวชาญด้านโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมที่จะเข้ามาช่วยในโครงการของคมนาคมให้มีความคงทน สามารถรับมือการใช้งานและภัยพิบัติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างถนนกว่า 600,000 กิโลเมตร, มอเตอร์เวย์กว่า 10 เส้นทาง, รถไฟฟ้าเชื่อมเป็นระบบในทุกๆสาย, รถไฟทางคู่สู่หัวเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจสายเหนือ สายใต้ สายตะตะวันออก, ท่าอากาศยานที่กำลังรอสร้างใหม่ ท่าอากาศยานเดิมที่กำลังรอซ่อมบำรุงและ ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน เป็นต้น สอดคล้องกับแผนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางบก ทางอากาศ ทางรางและแผนการพัฒนาพื้นที่ EEC ซึ่งต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของประเทศที่มาร่วมลงทุนเข้ามาถ่ายทอดความรู้และร่วมดำเนินการก่อสร้างยกระดับให้การคมนาคมแล้วเสร็จตามแผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม

นอกจากนี้การนำองค์ความรู้จากบุคลากรญี่ปุ่นมาถ่ายทอดสู่บุคลากรของไทยเพื่อให้มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเส้นทางการก่อสร้างทางบก ทางอากาศและทางระบบรางจะช่วยให้การก่อสร้าง การบำรุงรักษาและการลดระดับมลพิษทางอากาศระหว่างการก่อสร้าง การก่อสร้างแล้วเสร็จเปิดใช้บริการจะมีการดูแลรักษาได้อย่างรอบด้านไม่ก่อให้เกิดโทษต่อสภาพแวดล้อม ชุมชน สังคมรอบ ๆพื้นที่ก่อสร้างโครงการต่าง ๆ รวมถึงการสร้างพื้นที่ท่องเที่ยว พื้นที่สวนสาธารณะรอบ ๆโครงการก่อสร้างระบบคมนาคมต่างของกระทรวงคมนาคมเพื่อประโยชน์แก่ทุก ๆคน

เตรียมความพร้อมภาคการศึกษา รับมือยุค Industry 4.0

ศ. ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดตัวการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “การศึกษาระบบ Chula Engineering Education 4.0” อย่างเป็นทางการเมื่อปี พ.ศ. 2557 เนื้อหาหลักสูตรเป็นไปในทิศทางเดียวกับนโยบาย “Industry 4.0” ของรัฐบาลไทย โดยมุ่งเน้นในการพัฒนาศักยภาพของนิสิตนักศึกษาที่ลงวิชาเรียนในแต่ละคณะที่เปิดการเรียนการสอนให้เข้าใจในเนื้อหาในตำราพร้อมกับการใช้ชีวิตให้เป็นคนมีจินตนาการ มีความคิดริเริ่ม มีกิจการมสร้างสรรค์ พร้อมทั้งมีเวทีเปิดให้นิสิตนักศึกษาได้นำเสนอผลงาน งานวิจัยหรือสิ่งที่คิดค้นได้อยู่เสมอ ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้ทุก ๆสิ่งโดยไม่ปิดกั้นทั้งมีภาคเอกชนเข้าไปช่วยแนะนำ นำเสนอทางเลือกในการก้าวเข้าตลาดแรงงานตามสภาพในปัจจุบันที่มีการแข่งขันค่อนข้างสูง ซึ่งหากนิสิตนักศึกษาคนไหนมีความรู้ มีความคิดริเริ่มใหม่ๆ มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาประยุกต์ใช้ตามที่ตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม ทรัพยากรบุคคลในแต่ละประเภทงานให้ความสนใจก็อาจจะได้รับการคัดเลือกไปร่วมงานก่อนที่จะจบการศึกษา ซี่งในแต่ละปีมีจำนวนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“เราจะผลิตบุคลากรให้เรียนรู้ด้วยตนเองตามยุคสมัยใหม่ๆ คำนึงถึงต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ผลลัพธ์ที่เหมาะสมขององค์กรให้อยู่รอดได้ในทุก ๆการเปลี่ยนแปลงอย่างมีธรรมาภิบาล, ใช้แรงงานคนน้อย,ใช้เทคโนโลยี, ออโตเมชั่น, IoT, Big Data และ AI เป็นต้น สำหรับการเข้าร่วมงาน MRA 2019 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะร่วมออกบูท นำเสนอผลงานต่าง ๆที่เป็นผลงานทางด้านอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมเชิญชวนนิสิตของทางมหาวิทยาลัยเข้าร่วมงานเพื่อศึกษาเรียนรู้เทคโนโลยี นวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆและระบบการคิดค้นของชาวญี่ปุ่นที่จะนำมาจัดแสดงภายในงานในครั้งนี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจในการนำไปต่อยอดในการเรียน การคิดค้นผลงานเพื่อประเทศ และการทำงานในอนาคต” ศ. ดร.สุพจน์ กล่าว

งาน MRA 2019

ส.ส.ท.เตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงยุคดิจิทัล

ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน นายกสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. กล่าวว่า สมาคมฯได้มีการเตรียมความพร้อมรับมือในทุก ๆเรื่องไม่ใช่แค่ Industry 4.0 และ Thailand 4.0 นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับนักลงทุนชาวไทยและนักลงทุนชาวญี่ปุ่นที่จะเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย หรือจะไปทำธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นให้ทราบความต้องการทางการทำธุรกิจ ความเสี่ยงในการลงทุนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา พร้อมทั้งแนะนำองค์ความรู้ งานวิจัยเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติ,หุ่นยนต์อัตโนมัติ (AI), สมาร์ทโฮม, สมาร์ทแฟคทอรี่ โดยมีการเสริมทักษะที่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนไปการทำงานที่เปลี่ยนไป ต้องเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด ต้องเรียนรู้เรื่องใหม่ๆตลอดเวลา ต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงอย่ายึดติดกับความเชี่ยวชาญของตนเองจนไม่ยอมรับการแนะนำจาก จากเพื่อนๆที่ศึกษาด้วยกัน เพื่อนร่วมงานก็จะไม่สามารถที่จะเปิดรับความรู้ใหม่ๆมาปรับใช้ในด้านต่าง ๆได้ ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีใหม่ๆย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสียแต่หากเรานำมาใช้กับงาน กับการเรียนที่เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ตนเองและส่วนรวมได้


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save