กรีนพีซจี้รัฐยกร่างมาตรฐาน PM 2.5 ใหม่ ชี้พื้นที่หลายแห่งของไทยยังเผชิญมลพิษทางอากาศ เป็นภัยต่อสุขภาพ


กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงเผยการจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในประเทศไทยล่าสุด (ปีพ.ศ.2561) พร้อมทั้งเผยข้อมูลแผนที่แสดงความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 จากภาพถ่ายดาวเทียมในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา) เดินหน้าเรียกร้องให้ภาครัฐยกระดับมาตรฐาน PM 2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน

กรีนพีซจี้รัฐยกร่างมาตรฐาน PM 2.5 ใหม่ ชี้พื้นที่หลายแห่งของไทยยังเผชิญมลพิษทางอากาศ เป็นภัยต่อสุขภาพ
Cr ภาพ : FM91 Trafficpro

การจัดอันดับเมืองที่มีปัญหามลพิษฝุ่นละออง PM2.5 ในประเทศไทยครั้งนี้ พบว่าในปีพ.ศ. 2561 พื้นที่เมือง 10 อันดับที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5 คือ 1) ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร 2) ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก 3) ต.ทรงคะนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ 4) ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 5) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 6) ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง 7) ต.หน้าพระลาน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี 8) ริมถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ 9) ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น และ 10) ริมถนนอินทรพิทักษ์ ธนบุรี

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ในพื้นที่เมืองที่ต้องเผชิญกับมลพิษ PM2.5 ใน 10 อันดับแรกนี้พบว่ามีจำนวนวันที่มีความเข้มข้นของ PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรอยู่ระหว่าง 19-68 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่าค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่ควรเกินค่ามาตรฐาน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มากกว่า 3 วันในช่วงเวลา 1 ปี จะเห็นได้ว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองต้องเสี่ยงกับผลที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวจากการรับสัมผัสมลพิษ PM2.5 ที่เกินมาตรฐานเป็นระยะเวลานาน และหากไม่มีมาตรการจัดการมลพิษทางอากาศที่ก้าวหน้า ผลที่เกิดขึ้นคือวิกฤตด้านสาธารณสุขมีแนวโน้มจะขยายวงกว้างมากขึ้น

“เป็นเพราะไม่ยอมรับวิกฤต รัฐบาลจึงล้มเหลวในการแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การขับเคลื่อนนโยบายการจัดการคุณภาพอากาศให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 3 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้คนมีชีวิตที่มีคุณภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของคนทุกเพศทุกวัยตามเป้าประสงค์ที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากมลพิษทางอากาศ โดยมีตัวชี้วัดคือประชากรในเขตเมืองที่ได้รับมลพิษทางอากาศกลางแจ้งเกินค่ามาตรฐานตามค่าที่กำหนดขององค์การอนามัยโลก (WHO)” ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระหว่าง ปี พ.ศ.2559-2561 ชี้ให้เห็นว่า เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather Event)โดยเฉพาะอย่างยิ่งภัยแล้งที่รุนแรงยาวนานที่เชื่อมโยงกับปรากฏการณ์เอลนิโญในช่วงปี พ.ศ.2558-2559 นำไปสู่การสะสมจุดความร้อน (Hotspot ) ทำให้เกิดการเผาในที่โล่ง มีส่วนสำคัญที่ทำให้มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัสไวต่อมลพิษทวีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นและกระจายครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของไทย เมียนมา ลาวและกัมพูชา จนถึงปีพ.ศ.2561 ค่าเฉลี่ยต่อปีของ PM2.5 ในระดับที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้ที่สัมผัสไวต่อมลพิษ (ตั้งแต่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไปยังคงปกคลุมพื้นที่ประเทศไทยถึงประมาณร้อยละ 60

ธารา กล่าวว่า กรีนพีซเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกร่างมาตรฐานในบรรยากาศของ PM2.5 ขึ้นใหม่สำหรับประเทศไทยโดยกำหนดค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ยรายปีเป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ. 2562 และกำหนดมาตรการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายอาเซียนปลอดหมอกควัน HAZE-FREE 2020 อย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save