บรรจุภัณฑ์ ถือเป็นส่วนสำคัญในการปกป้องสินค้าและอำนวยความสะดวกในการบริโภค แต่หากมองในมุมของสิ่งแวดล้อมแล้ว บรรจุภัณฑ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ โดยเฉพาะ ขยะบรรจุภัณฑ์ ที่เกิดจากการผลิต การใช้งาน และการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี ส่งผลให้เกิด มลพิษ ทางดิน น้ำ และอากาศ อีกทั้ง สารเคมีอันตราย จากบรรจุภัณฑ์ยังคุกคามสุขภาพของทั้งมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่ว่าจะปัญหาเป็นภาวะโลกเดือด การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ขยะพลาสติกล้นโลก ขยะอาหารเหลือทิ้ง อากาศเป็นพิษ และปัญหาขยะเสื้อผ้า (Fast Fashion) ซึ่งผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้องค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมขับเคลื่อนแนวทางการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดวรจรชีวิตผลิตภัณฑ์ หรือ Extended Producer Responsibility: EPR ในงาน “Packback in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Driver for EPR in Thailand” เพื่อประกาศเจตจำนงผลักดันการใช้ทรัพยากรเกิดประโยชน์สูงสุด และการส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อน EPR กล่าวเปิดงาน สะท้อนความก้าวหน้า ทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนของกระทรวงฯ ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ และความร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการพัฒนาระบบ EPR ด้านบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย
ดร.ชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของโครงการ EPR Voluntary Program หรือ โครงการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์และมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน โครงการนี้มีจุดเด่นสำคัญคือการมอบสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับบริษัทหรือองค์กรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการบรรจุภัณฑ์และการรีไซเคิล นอกจากนี้ องค์กรที่ผ่านเกณฑ์ตามโครงการยังจะได้รับใบประกาศรับรองจากกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดูแลสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้น ๆ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณชนและเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในตลาดที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญของภาคเอกชนในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ยั่งยืน
เกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน จัดงาน “Packback in Action ปี 3 รวมพลังเดินหน้า: The Driver for EPR in Thailand” เพื่อแสดงเจตจำนงการใช้ทรัพยากรและวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืน โดยผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ SMEs ต้องมีความตื่นตัว เนื่องจากหลายมาตรการในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงหาก พรบ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนประกาศใช้ ทุกบริษัทก็จะต้องเข้าร่วมและดำเนินการตาม ซึ่งปัจจุบันสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้การดำเนินงานของ ส.อ.ท. ได้ประสานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570 นี้
โฆษิต สุขสิงห์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานสภาสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) กล่าวย้ำถึงบทบาทภาคเอกชนในการขับเคลื่อน EPR ร่วมกับภาครัฐในครั้งนี้ว่าเป็นการเปลี่ยนโฉมกลยุทธ์การพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่ผ่านมา TIPMSE ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของการให้ความเห็นต่อการพัฒนาร่างกฎหมาย EPR การพัฒนามาตรการจูงใจ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับระบบ EPR การส่งเสริมการออกแบบตามหลักการการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design-for-recycling หรือ D4R) การสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการ (Call to Action) ในห่วงโซ่ความรับผิดชอบ และการนำหลักการ EPR มาสู่การทดลองทั้งโมเดลเก็บกลับในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี โดยนำร่อง 3 เทศบาลประกอบด้วยเทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึงและเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และจะขยายไปอีก 9 เทศบาลในปี 2567 นี้ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบเก็บกลับของท้องถิ่น และยกระดับสู่การออกเทศบัญญัติหรือข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลให้เกิดต้นแบบการสนับสนุนท้องถิ่นที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ ความท้าทายคือจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็กเข้าใจและเข้าร่วมเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับ EPR ภาคบังคับในอนาคต
ทั้งนี้ การพัฒนากลไก EPR โดยใช้ระบบภาคการผลิต จะเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ที่สำคัญในการเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาทิ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน หรือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อย่างมีนัยสำคัญภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สอดรับกับนโยบายภาครัฐในการนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG” (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy หรือ CE) มาเป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมกำลังนำมาพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎเกณฑ์การค้าโลกใหม่ที่คำนึงถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญ ดังนั้นการเกิดระบบ EPR จึงจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อเป็นกลไกในการจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร เนื่องจากกฎหมายขยะปัจจุบันยังมีช่องโหว่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่เพียงเก็บขนกำจัดอย่างเดียว แต่ไม่มีบทบัญญัติเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิล การประกาศ EPR เป็นกฎหมายในปี 2570 นี้ จึงเป็นเหมือนสัญญาณให้ทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมในการนำบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน