สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI จัดเสวนา “TEI-Ecolabelling Forum 2024: Green Solution for Production ตอบโจทย์การผลิตสีเขียวด้วยฉลากสิ่งแวดล้อม ในการสนับสนุนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เพื่อการผลิตและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เนื่องจากการผลิตสีเขียวถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ รวมถึงการใช้วัสดุที่สามารถนำกลับมารีไซเคิล เพื่อช่วยลดการใช้สารเคมีที่เป็นอันตราย และการใช้พลังงานที่สะอาด สามารถช่วยให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้น โดยฉลากเหล่านี้จะบ่งบอกถึงกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ และยังส่งเสริมให้ผู้ผลิตมีแรงจูงใจในการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ดียิ่งขึ้น จึงจัดเสวนาขึ้น ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI กล่าวว่า นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมว่า “ฉลากสิ่งแวดล้อมคือกลไกสำคัญหนึ่งที่ขับเคลื่อนตลาดสีเขียวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวของภาครัฐ ในฐานะผู้บริหารสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการดำเนินงานฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ดำเนินงานร่วมกับทุกภาคส่วน ในการสนับสนุนนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของภาครัฐ เพื่อการผลิตและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ตลอดจนเพื่อสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมในการผลิตและบริโภคสีเขียว และมุ่งสู่การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืนต่อไป
“สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย มีส่วนร่วมในการริเริ่มฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่หนึ่งของไทย นั่นคือฉลากเขียว ในปี 2536 โดยมีมีภารกิจที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการประเภทต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ให้มีแนวปฏิบัติเพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 2) การให้การรับรองฉลากเขียวกับผู้ผลิตที่ผลิตสินค้าและบริการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเป็นไปตามเกณฑ์ข้อกำหนด และ 3) การประสานความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ”
ดร.สุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวเพิ่มเติมในประเด็นฉลากสิ่งแวดล้อมกับการผลิตสีเขียว ว่า “กรมควบคุมมลพิษได้ประสานงานร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อกำหนดให้พัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามบัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือ ซึ่งการพิจารณาสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตามความสำคัญและความพร้อมของผู้ผลิตในการดำเนินการ โดยเกณฑ์ข้อกำหนดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กำหนดให้สินค้าต้องผ่านคุณภาพหรือมาตรฐานเทียบเท่าสินค้าทั่วไป หรือได้รับ มอก. และมีคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อาทิเช่น การพิจารณาประสิทธิภาพพลังงานระหว่างการผลิตหรือการใช้งาน ไม่ใช้สารเคมีหรืออันตรายต่างๆ ในการผลิต มีการจัดการวัตถุดิบ ขบวนการผลิต ที่เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดหรือขยะหลังผลิตภัณฑ์หมดอายุ มีอายุการใช้งาน การสำรองอะไหล่ยาวนานขึ้น ปัจจุบัน บัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ โดยข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2567 มีรายการสินค้าและบริการที่ขึ้นทะเบียน 42 ประเภท 1683 รายการ ประกอบด้วย 1. ฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 หรือฉลากเขียว ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการนโยบายบริหารฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นฝ่ายเลขานุการ ตามที่ท่านผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้กล่าวแล้ว 2. สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากกรมควบคุมมลพิษ หรือตะกร้าเขียว 3. ฉลากทางเลือกด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ฉลากลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ สำหรับสินค้าที่ไม่มีเกณฑ์ของฉลากเขียวหรือตะกร้าเขียวเป็นการเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานที่สนใจสามารถตรวจสอบ บัญชีรายชื่อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกรมควบคุมมลพิษ ได้ที่เว็บเพจของกรมควบคุมมลพิษ”
ดร.ฉัตรตรี ภูรัต ผู้อำนวยการฝ่ายฉลากเขียวและฉลากสิ่งแวดล้อม สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ฉลากสิ่งแวดล้อมคือฉลากที่มอบให้แก่ผลิตภัณฑ์หรือบริการคุณภาพที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยว่า เป็นข้อมูลว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการ ได้ลดการใช้ทรัพยากรหรือลดการก่อมลพิษในกระบวนการผลิต ใช้งาน และหลังใช้งาน รวมถึงเป็นกลไกสื่อสารและบ่งบอกความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ และยังเป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์หรือบริการให้แก่ผู้บริโภค เพราะช่วยหลีกเลี่ยงการโฆษณาชวนเชื่อสีเขียว (Greenwashing) ที่เป็นการหลอกหลวงผู้บริโภค พูดเกินจริงว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งยังเป็นการบิดเบือนข้อมูล ซึ่งความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้น แต่แนวโน้มปัจจุบันของผู้บริโภคด้านสิ่งแวดล้อมยังมีความตระหนักรู้เพิ่มขึ้นแต่ยังคงต่ำ ความเข้าใจยังมีจำกัด อีกทั้งยังมีความท้าทายที่ผู้บริโภคจำนวนมากมองว่าผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนมีราคาแพงกว่า การเข้าถึงผลิตภัณฑ์นั้นยังจำกัดแต่พื้นที่ในเมือง และยังต้องการรายละเอียดที่ชัดเจนของผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการซื้อ โดยปัจจัยความสำเร็จของการผลิตสีเขียวคือการมีส่วนร่วมของห่วงโซ่ทั้งหมด ทั้งภาครัฐ ภาคผู้ผลิต และผู้บริโภค
ดร.ถนอมลาภ รัชวัตร์ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า ฉลากสิ่งแวดล้อมที่สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยให้การรับรองในปัจจุบันนี้ มี 4 ฉลาก คือ 1) ฉลากเขียว เป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่1 ที่ส่งเสริมการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ในประเภทเดียวกัน ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ 2) ฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน (Circular Mark) ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศไทยให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพื่อรักษาฐานทรัพยากรของประเทศ ทำให้ธุรกิจปฏิบัติตามกฎระเบียบและนโยบายด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและพัฒนานวัตกรรมในการใช้วัสดุหมุนเวียน 3) ฉลากข้อมูลสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ (EPD) เป็นฉลากที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดวัฎจักรชีวิต ได้แก้ ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้พลังงานและทรัพยากรของผลิตภัณฑ์ และข้อมูลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4) ฉลากผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค (CEC) เป็นฉลากที่สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดกลางและขนาดย่อม ให้มีการผลิตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นสำคัญสำหรับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ให้การรับรอง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์จากธรรมชาติ ผ้าและผลิตภัณฑ์ทำจากผ้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย และผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป
ทั้งนี้สำหรับกภายงานยังพบกับเวทีเสวนา เรื่อง “Green Solution for Production” ที่มีประเด็นน่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจ ยกระดับผู้ประกอบการต่อฉลากสีเขียว
ศุธาศินี สมิตร ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนรักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการลงทุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวในหัวข้อ Green Production Promotion ปัจจุบันปัจจัยที่สำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อทิศทางการลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่ และSME ระยะเวลา 5 ปีข้างหน้านั้น ยังคงมองเป็นเรื่องของการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมในการลดคาร์บอน ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นส่วนหลัก (Climate Change) และการมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality & Net Zero รวมถึงกติกาภาษีใหม่ของโลกที่ส่งผลต่อการวางแผนการลงทุนของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ขณะที่ BOI นั้นยังคงมีบทบาทในการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นในด้านภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริม BCG และการนำเทคโนโลยีนั้นเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยกระดับมาตราการอุตสาหกรรมสู่การเป็น Smart & Sustainable Industry ในประกาศ กกท. /2565 เรื่องการมอบสิทธิประโยชน์ผู้ประกอบการ ยกเว้นภาษีเงินได้ 3ปี สัดส่วนวงเงิน 50%ของเงินลงทุนในการปรับปรุง แต่ยกเว้นเรื่องอากรขาเข้าเครื่องจักร ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยสู่ 4.0 ทั้งภาคการผลิตและบริกการให้เร่งสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะและยั่งยืน อีกทั้งยังให้ความสำคัญด้านภาคพลังงาน ส่งเสริมให้มีการผลิตพลังงานสะอาด รวมถึงร่วมผลักดันกลไกลจัดหาพลังงานสะอาด (UGT) ในด้านอัตราค่าไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ในด้านของภาคการขนส่งที่ส่งเสริมรถยนต์ EV ทุกประเภท ตลาดจนให้ความสำคัญด้านภาคชุมชนต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชน อาทิ ด้านการเกษตร หรือแม้แต่กรณีการลดฝุ่นค่า PM2.5
วัณณะวัฒน์ โอภาสวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและแผนส่งเสริม SMEs สำนักงานส่งเสริมวิหาสกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบโดยตรงไปยังทุกภาคส่วนให้ต้องมีการเร่งปรับตัวนับเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการ SME ที่ต้องเผชิญในปัจจุบัน ทั้งภาคการส่งออก หรือกลุ่ม SMEที่อยู่ในการแข่งขันในห่วงโซ่มูลค่าโลก (Global Value Chains) หรือ GVC ตลอดทั้ง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ที่ต้องเร่งปรับตัวต่อไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต ความท้าทายนี้ผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงความสำคัญ ในด้านมีองค์ความรู้ที่จะทำอย่างถูกต้อง มีการจัดเตรียมความพร้อมทรัพยากรการดำเนินการต่าง ๆ ไปสู่การดำเนินการอย่างเหมาะสมสามารถมีกระบวนการการตัดสินใจอย่างมีระบบ หากเกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เชื่อว่าจะเติบโตนำไปสู่ความยั่งยืน อย่างไรก็ดี สสว.ในความร่วมมือระหว่าง TEI ในการขอรับรองฉลากเขียวได้มอบให้กับ SME ผู้ประกอบการสามารถสมัครฟรี มูลค่า 5,000 บาท พร้อมทั้งส่วนลดค่าธรรมเนียมการรับรองตรวจประเมินสถานประกอบการ กว่า2หมื่นบาท กรณีหากมีการมาตราฐานระบบบริหารคุณภาพ เช่น ISO 9001 และ ISO 14001 หรือมาตรฐานการรับรองฉลาดสีเขียวจากประเทศสมาชิก จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการควบคุมสอบ และรายการส่วนลดอื่นๆ อีกมากมายตามเงื่อนไข พร้อมทั้งข้อเสนอกองทุน “Thai Climate Initiative Fund” สำหรับแหล่งเงินทุน SME เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ได้รับเงินสนับสนุนนจาก IKI ของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ผ่านองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) ในด้านธุรกิจโรงแรมธุรกิจวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า โดยระยะที่1ด้านบริการของธุรกิจโรงแรมและที่พักนั้นเปิดรับข้อเสนอ ตุลาคม 2567 ในการจัดงบประมาณสนับสนุน กรอบวงเงินทั้งสิ้นไม่เกิน 40 ล้านบาท หรือร้อยละ 50 แต่ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท ทั้งนี้ สสว.พร้อมมุ่งมั่นเดินหน้ากำหนดนโยบาย และเป็นศูนย์กลางในการบูรณาการด้านการส่งเสริม SME ของประเทศสู่ความยั่งยืน
พงษ์สันติ์ วงษ์เสริมหิรัญ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม บริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึง Green Production Practices ในเวทีเสวนาว่า วาโก้ให้ความสำคัญกับการบริหารตามหลัก BCG-Model เพราะนอกจากจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศแล้ว ยังสอดรับกับหลักการ ESG ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญในปัจจุบัน รวมถึงการดำเนินกิจการตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งวาโก้เป็นบริษัทแรกของไทยที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร หรือ Circular Economy Management System : CEMS จากบริษัท บูโร เวอริทัส เซอร์ทิฟิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานระดับโลก
ทั้งนี้ ความสำเร็จในการทำ CEMS ของไทยวาโก้ คือผลจากการทำความเข้าใจกับพนักงานให้มองเห็นประโยชน์ร่วมกันตามแนวทาง BCG รวมถึงการทุ่มเทศึกษาวิจัยในการคัดสรรวัสดุจากธรรมชาติและวัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ หรือใช้ทดแทน เช่นเส้นใยจากขวดพลาสติก เส้นใยจากแหอวน ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะเป็นแบบ ผลิต-ใช้-ทิ้ง แต่การนำหลักการ BCG และ ESG มาใช้ จะทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดมีความคุ้มค่ามากขึ้น ตอบโจทย์การเป็นแบรนด์ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมในที่สุด จนทำให้ได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพผลิตภัณฑ์ Green Label หรือฉลากเขียวเป็นรายแรกของประเทศไทย
นอกจากนี้ ไทยวาโก้ยังได้รับการรับรองผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าลดโลกร้อน (Cool Mode) จากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ (ในกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรม) และกลุ่มผู้ผลิตสิ่งทอ จากการผลิตเสื้อผ้าที่สามารถซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี สวมใส่สบาย ซึ่งเกิดจากการเลือกวัสดุที่มีคุณสมบัติพิเศษในการซับเหงื่อจากผิวหนังและระเหยออก ดังคอนเซ็ปสินค้า WACOAL COOL INNOVATION และยังผ่านการรับรองเสื้อผ้าเบอร์ 5 เป็นเสื้อผ้าใส่สบายและไม่ต้องรีด ในผลิตภัณฑ์ชุดชั้นนอก (Uniform & Work wear ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอีกด้วย(พงษ์สันติ์ กล่าวปิดท้าย)
อย่างไรก็ดี การเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันจำเป็นต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย ตั้งแต่รัฐบาล บริษัท ไปจนถึงผู้บริโภค การผลิตสีเขียวและการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อม เป็นแนวทางที่สำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับโลกของเรา เมื่อทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้โลกนี้ดีขึ้น จะนำไปสู่การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสำหรับคนรุ่นต่อไปได้อย่างแท้จริง