กรุงเทพฯ – 18 ตุลาคม 2566 : กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) (ส.ส.ท.) สมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศ (TIChE) และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พันธมิตรองค์กรความรู้ (Knowledge Partner) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและแสดงสินค้าความปลอดภัยอัจฉริยะและเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับการบำรุงรักษาในโรงงานอุตสาหกรรมครั้งแรกในประเทศไทย ภายใต้ชื่องาน “SISTAM 2023” (Smart Industrial Safety & Technology for Advanced Maintenance) ระหว่างวันที่ 18 – 20 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา มุ่งส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบความปลอดภัยและการบำรุงรักษา เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำงานและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย
ในการประชุมนี้มีการบรรยายทางด้านวิชาการและสัมมนาโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในหลากหลายหัวข้อ อาทิ การพลิกโฉมองค์กรด้านความปลอดภัยยั่งยืน กรณีศึกษาจากโรงงานดีเด่นด้านความปลอดภัย การยกระดับการประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยสู่อุตสาหกรรมสีเขียว การลดความเสี่ยงในการทำงานด้วยการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ การบำรุงรักษาเครื่องจักรด้วยตนเองขั้นประยุกต์สำหรับ TPM ระดับสูงสุด ความท้าทายในการตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงในอุตสาหกรรมโรงกลั่นและปิโตรเคมี และหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจมากกว่า 50 หัวข้อ
ส่วนงานแสดงสินค้ามีหน่วยงานต่าง ๆ มาออกบูธจัดแสดงเทคโนโลยี ดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ (Automation) ซอฟต์แวร์ โซลูชัน ระบบและอุปกรณ์ด้านการบำรุงรักษาและความปลอดภัย จากบริษัทชั้นนำ อาทิ Murata, Yokogawa, Alpha Com, Service Now, P-Dictor, Freewill Solutions, Astec Paint, Cikachi Electric, การไฟฟ้านครหลวง เป็นต้น
ภายในงานยังมีการจัดแสดงนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง CURSR-1 ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ Dr. Gil Moor Award, หุ่นยนต์ Walkie II เพื่อบริการในครัวเรือน และหุ่นยนต์ช่วยการเดิน ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยังมีหุ่นยนต์ทำความสะอาด และหุ่นยนต์ขนส่ง LUCKI BOT ของ ปตท. มาร่วมจัดแสดง
ทั้งนี้งานประชุมและการแสดงสินค้า SISTAM 2023 จัดควบคู่ไปกับงานประชุมวิชาการด้านความปลอดภัยระดับเอเชียแปซิฟิค หรือ Asia Pacific Symposium on Safety 2023 (APSS 2023) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเช่นกัน โดย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หลังจากได้จัดขึ้นหลายครั้งในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี นับเป็นการร่วมสร้างเวทีสำคัญในการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยและการบำรุงรักษาในภาคอุตสาหกรรม
งาน SISTAM 2023 และ APSS 2023 ได้มีพิธีเปิดงานร่วมกันอย่างเป็นทางการแล้วในวันนี้ โดยได้รับเกียรติจาก จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นประธานในพิธี ณ ภิรัชฮอลล์ 1 ชั้น 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดงานอย่างเป็นทางการ จะใช้เวทีงาน SISTAM จัดสัมมนาเรื่องความปลอดภัยอัจฉริยะที่ยั่งยืน ซึ่งการสัมมนาไม่เพียงแต่เน้นเรื่องความปลอดภัยอัจฉริยะ และนำกรณีศึกษามาแบ่งปันเท่านั้น แต่ยังจะส่งเสริมยกระดับผู้ประกอบการในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียว สอดคล้องกับแผนของกรมโรงงานฯ ในการชูเป้าขับเคลื่อน BCG Model เป็นวาระแห่งชาติ ปักธงปี 2570 ที่ทุกสถานประกอบกิจการโรงงานต้องได้รับมาตรฐานอุตสาหกรรมสีเขียว พร้อมกันนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเป้าภายในปี 2570 โรงงานในไทยอย่างน้อย 50% จะตัองประเมินเรื่องความปลอดภัยอย่างจริงจัง
ด้านดร.สุพจน์ ชินวีระพันธุ์ ผู้อำนวยการสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย–ญี่ปุ่น) กล่าวว่า สมาคมฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมองค์ความรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เผยแพร่ และถ่ายทอดให้แก่องค์กรต่าง ๆ ในประเทศ สมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญความปลอดภัยในโรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบำรุงรักษาเพื่อป้องกันและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
ในปีนี้ถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีของการก่อตั้งสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) สมาคมฯ ได้เปิดตัวโครงการ Thailand-Japan Decarbonization Initiative หรือ TJDI อย่างเป็นทางการ โดยโครงการนี้สอดคล้องกับนโยบาย Green Growth Strategy หรือยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบาย BCG ของรัฐบาลไทย
“นับเป็นโอกาสอันดีที่สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมเป็นเจ้าภาพร่วมจัดงาน SISTAM 2023 ซึ่งเป็นงานที่เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนในด้านความปลอดภัยและการบำรุงรักษา โดย สมาคมฯ ได้จัดแสดงบูธโครงการ TJDI และผลงานของสมาคมฯ ตลอดระยะเวลา 50 ปีที่ผ่านมา“ ดร.สุพจน์ กล่าว
สุรเชษฐ์ ชโลธร นายกสมาคมวิศวกรรมเคมีและเคมีประยุกต์แห่งประเทศไทย (TIChE) กล่าวว่า สมาคมฯ มุ่งเน้นการพัฒนาวิชาชีพวิศวกรเคมี ซึ่งมาตรฐานด้านความปลอดภัยถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเคมี ปิโตรเคมี และกระบวนการด้านความปลอดภัย (Process Safety) ซึ่งงาน SISTAM 2023 เป็นงานประชุมและแสดงสินค้างานเดียวที่เน้นเรื่องความปลอดภัยและการบำรุงรักษา สมาคมฯ จึงได้ร่วมเป็นเจ้าภาพการจัดงาน โดยจะจัดการประชุมและสัมมนาวิชาการด้านความปลอดภัยในกระบวนการอุตสาหกรรมเคมีครั้งที่ 12 ขึ้นภายในงาน SISTAM 2023 ด้วย ซึ่งจะมีการบรรยายและเสวนาในเรื่องความท้าทายในการตรวจสอบ และการวิเคราะห์ความเสี่ยงในโรงกลั่น และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นุชรินทร์ ภารดีวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอ็กซโปซิส จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีประสบการณ์การจัดงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ มุ่งเน้นงานภาคธุรกิจอุตสาหกรรม การจัดงาน “SISTAM 2023” เป็นเวทีสำคัญและครั้งแรกของปีในการรวมตัวของผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยและบำรุงรักษา ผู้ประกอบการในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะผู้ดูแลรับผิดชอบด้านความปลอดภัย การบำรุงรักษาในโรงงาน รวมถึงวิศวกร ภาครัฐ และภาคการศึกษา ที่เปิดโอกาสการเรียนรู้และนำเสนอเทคโนโลยี นวัตกรรม และโซลูชันใหม่ ๆ พร้อมร่วมรับฟังการประชุมสัมมนา รวมถึงกรณีศึกษาต่าง ๆ มากกว่า 50 หัวข้อ