จับตา ‘พิรงรอง Effect’ กระทบการกำกับดูแลสื่อในอนาคต แนะแก้ช่องโหว่แพลตฟอร์มดิจิทัล (OTT)


จากกรณีที่บริษัท ทรูดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ได้ยื่นฟ้อง ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูตรกรรมการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้มีคำพิพากษาตัดสินจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญานั้น

รองศาสตราจารย์ ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะนิเทศศาสตร์มิอาจวิพากวิจารณ์คำตัดสินของศาลได้ ดังนั้นในฐานะสถาบันการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ไม่สามารถนิ่งเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากที่ประเทศไทยผ่านการต่อสู้ขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปสื่อจากภาควิชาการ วิชาชีพ และประชาชนจำนวนมากมาเป็นเวลายาวนานกว่าที่จะก่อตั้งองค์กรอิสระในการกำกับดูแลสื่ออย่างคณะกรรมการ กสทช. ให้เกิดขึ้นได้ องค์กรนี้จึงเป็นองค์กรที่สังคมคาดหวังให้มีความเป็นอิสระทั้งจากอำนาจรัฐและอำนาจทุน เพื่อทำหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อให้เป็นไปตามหลักจริยธรรมวิชาชีพ มีความรับผิดชอบต่อสังคม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้บริโภคสื่อ ไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการ ตามความในมาตรา 157 ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ..2553

ปัจจุบัน สภาพการณ์ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับการดูแลสื่อในสถานการณ์จริงได้ทัน จนเกิดปัญหาต่อระบบอุตสาหกรรมสื่อและสิทธิเสรีภาพด้านการสื่อสารของสังคมไทย ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตถูกกำกับดูแลให้ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมาย

ในขณะที่มีผู้ประกอบธุรกิจสื่อจำนวนมากที่อาจกระทำการเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิผู้บริโภคสื่อ โดยอาศัยความได้เปรียบที่ไม่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลนี้ ประเด็นที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายขององค์กรกำกับดูแลสื่ออย่าง กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยยึดหลักการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อและสาธารณะประโยชน์เป็นสำคัญ ดังนั้น หากมีกรณีที่ผู้บริโภคสื่อร้องเรียนขึ้นมาว่าถูกละเมิดสิทธิในฐานะผู้บริโภคสื่อ กสทช.จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการตามบทบาทในฐานะองค์กรกำกับดูแลสื่อ

ทั้งนี้ ผลของคดีความทางกฎหมายที่เกิดขึ้นอาจทำให้สังคมเกิดคำถามต่อความเป็นอิสระในการทำงานของ กสทช.และกระทบต่อความเชื่อมั่นที่ผู้ประกอบกิจการสื่อ นักวิชาชีพสื่อ และผู้บริโภคสื่อมีต่อการทำงานของ กสทช.ในอนาคต อีกทั้งการฟ้องร้องดำเนินคดีในลักษณะนี้ยังกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระในฐานะที่พึ่งของประชาชนในการพิทักษ์สิทธิที่ประชาชนพึงมี เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเสรีภาพในการแสดงออก ขัดขวางการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมโดยพยายามทำให้เกิดความกดดันและความกลัว

สุภิญญา กลางณรงค์ (ขวา) อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand

สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. และผู้ร่วมก่อตั้ง Co-fact Thailand กล่าวว่า กรณีของ อาจารย์พิรงรอง จะสร้างความตื่นตัวให้กับสังคมไทย เนื่องจากตัวคดีมีประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง และอาจส่งผลกระทบในลักษณะ Butterfly Effect ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตธรรมาภิบาลของ กสทช. ที่ดำเนินมาเป็นเวลานาน การที่สังคมเริ่มจับจ้องบทบาทขององค์กรนี้อีกครั้งถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นโอกาสที่จะผลักดันให้ กสทช. ออกจากภาวะมืดมนและกลับมาโปร่งใสยิ่งขึ้น

อนาคตของวงการสื่อสารมวลชนและโทรคมนาคมไทยกำลังเผชิญกับข้อจำกัดหลายประการ ทั้งโครงสร้างของโทรคมนาคมที่เหลือผู้เล่นน้อยราย และอุตสาหกรรมสื่อโทรทัศน์ที่อยู่ในภาวะซบเซา ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงจากแพลตฟอร์มดิจิทัล (OTT) ซึ่งเข้ามาแทนที่การรับชมโทรทัศน์แบบดั้งเดิม หากไม่มีการกำกับดูแลที่ชัดเจน อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติและการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค กรณีของอาจารย์พิรงรองจึงเป็นโอกาสที่ทำให้สังคมได้ขุดคุ้ยและพิจารณาปัญหาเหล่านี้ เพื่อหาทางออกให้กับอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องอาศัยความเจ็บปวดและการต่อสู้ ซึ่งสังคมไม่ควรปล่อยให้กรณีนี้เป็นเพียงกระแสชั่วคราว แต่ควรมองว่าเป็นเกมระยะยาวที่ต้องเดินหน้าต่อ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับดูแลและหน่วยงานภายใต้การกำกับเป็นเรื่องปกติที่อาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้น

แต่สิ่งสำคัญคือความขัดแย้งนั้นไม่ควรนำไปสู่การเป็นศัตรูกัน ควรมีกลไกการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม ประเด็นสำคัญในกรณีนี้คือ กฎ Must Carry ซึ่งเป็นมติของ กสทช. และเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. ในการกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ดังกล่าว หากมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เลขาธิการ รองเลขาธิการ หรือผู้อำนวยการสำนักที่รับผิดชอบ ต้องมีบทบาทในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่ควรเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

โดยทั่วไปแล้ว การออกเอกสารหรือจดหมายจากสำนักงาน กสทช. ต้องผ่านกระบวนการกลั่นกรองหลายขั้นตอน หากมีการออกจดหมายที่ส่งผลกระทบ ควรมีกลไกทบทวนและตรวจสอบได้ เช่น การอุทธรณ์ต่อบอร์ดหรือการยื่นเรื่องต่อศาลปกครอง กระบวนการเหล่านี้ช่วยให้สามารถคลี่คลายปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของอาจารย์พิรงรอง คดีถูกส่งไปยังศาลอาญา ซึ่งแตกต่างจากแนวทางปฏิบัติเดิมที่เอกชนมักจะถอยออกเมื่อเรื่องถึงศาลปกครอง

เราควรทำให้ “พิรงรอง effect” นำไปสู่การตรวจสอบและติดตามการทำงานของ กสทช. อย่างต่อเนื่อง สังคมไม่ควรปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป เพราะองค์กรอย่าง กสทช. มีความสำคัญต่อทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและต้องการแนวทางกำกับดูแลที่ชัดเจน หนึ่งในโจทย์สำคัญคือ การกำกับดูแล OTT ซึ่งยังเป็นช่องว่างที่ส่งผลกระทบทั้งต่อผู้บริโภคและการแข่งขันที่เป็นธรรม หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม อาจกระทบต่อเสรีภาพทางเศรษฐกิจและ Soft Power ของประเทศ ในอนาคต กสทช. ควรลุกขึ้นมารับบทบาทในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และสนับสนุนการทำงานของอาจารย์พิรงรองต่อไป ในแง่ของคดีความ ควรปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปตามขั้นตอน แต่ในขณะเดียวกัน สังคมต้องช่วยกันผลักดันให้เกิดการปฏิรูปวงการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรมและคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคต่อไป” อดีตกรรมการ กสทช. กล่าว

ระวี ตะวันธรงค์ ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวถึงปัญหาการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT (Over-the-Top) โดยระบุว่า กสทช. ยังคงใช้กฎหมายฉบับเก่า และยังไม่มีการออกกฎหมายเพื่อกำกับดูแล OTT แม้ว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้มีการปรับปรุงแผนแม่บท ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติฉบับที่ 2 และได้จัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการกำกับดูแล OTT โดยมีการร่างข้อกำหนดเกี่ยวกับ OTT ครอบคลุมทั้งแพลตฟอร์มภายในประเทศและต่างประเทศ ร่างดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์และเคยมีการรายงานใน ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566

อย่างไรก็ตาม ร่างข้อกำหนดนี้ ไม่ถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมาย จนนำมาสู่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แม้ว่าจะไม่มีการอ้างอิงถึงคำพิจารณาของศาลโดยตรง แต่ความล่าช้าในการออกกฎระเบียบทำให้ไม่สามารถกำกับดูแลเนื้อหาในแพลตฟอร์ม OTT เช่น YouTube, Netflix และแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ ซึ่งเนื้อหาที่เผยแพร่ขึ้นอยู่กับบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละแพลตฟอร์ม

คำถามที่สำคัญคือ OTT จะได้รับการกำกับดูแลเมื่อไร? เพราะหากไม่มีการเริ่มต้นดำเนินการ ก็อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม ทีวีดิจิทัล ที่กำลังรอการต่อสัญญาอีก 4 ปีข้างหน้า ขณะนี้เจ้าของช่องทีวีดิจิทัลยังไม่มีความชัดเจนว่าควรเข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตหรือไม่ เนื่องจากธุรกิจ OTT กำลังเข้ามาแทนที่มากขึ้น ส่งผลให้สถานีโทรทัศน์เริ่มลดจำนวนพนักงานและเกิดการปลดพนักงานมากขึ้น เมื่อการแข่งขันทางออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น งบโฆษณา ที่เคยเป็นรายได้หลักของสถานีโทรทัศน์ก็จะลดลงอย่างมาก อาจเหลือเพียง 5-10 บาทต่อโฆษณา ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับอุตสาหกรรมสื่อ” ระวี กล่าว

ในกรณีของ AIS PLAY และ True Digital Group ทั้งสองบริษัทได้เลือกใช้แนวทางที่แตกต่างกัน True Digital Group ยังคงจดทะเบียนเป็น IPTV (Internet Protocol Television) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และใช้ระบบโฆษณาที่เรียกว่า Advertising Programs Metrics โดยเป็นโฆษณาที่แสดงก่อนเปลี่ยนช่อง ซึ่งโฆษณานี้ ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของโฆษณา 12 นาทีที่ช่องสามารถใช้ได้ตามกฎหมาย แต่เป็นโฆษณาที่มาจากกล่องรับสัญญาณ AIS PLAY เคยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่เมื่อเปลี่ยนสถานะเป็น OTT กลับไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานใดเลย ทำให้เจ้าของธุรกิจ OTT มีอิสระในการดำเนินการ ซึ่งเป็นช่องโหว่สำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข

ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดที่สามารถดูแลคอนเทนต์ออนไลน์ได้อย่างครอบคลุม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในยุคที่ทุกคนสามารถผลิตสื่อได้โดยไม่มีการควบคุม ในฐานะพ่อคนหนึ่งที่มีลูกเติบโตในยุคดิจิทัล และลูกของคนรุ่นใหม่ที่มีพ่อแม่สูงวัยที่เสพคอนเทนต์จากอินเทอร์เน็ตและโทรทัศน์ เขากังวลว่าไม่มีใครสามารถกำกับดูแลหรือกรองข้อมูลที่ลูกและผู้สูงวัยได้รับได้ทั้งหมด ทุกอย่างเป็น ฟรีทูแอร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อข่าวปลอม (Fake News) และข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง หากไม่มีองค์กรที่เข้ามาดูแลเรื่องนี้ สังคมอาจเผชิญกับปัญหาด้านข้อมูลข่าวสารที่ควบคุมไม่ได้

ในฐานะอดีตรองกรรมาธิการเครือเนชั่นกรุ๊ป เห็นถึงความท้าทายของอุตสาหกรรมสื่อในปัจจุบัน ระบบนิเวศของสื่อถูก Disruption อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รายได้ขององค์กรสื่อหดตัวและเกิดปัญหาการเลิกจ้างพนักงาน สื่อออนไลน์แม้จะเป็นทางเลือกใหม่ แต่ก็กำลังเผชิญกับภาวะคอนเทนต์ล้นตลาด (Overloaded Content) ขณะที่แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างมุ่งเน้นหาทางอยู่รอดแทนที่จะคัดเลือกเนื้อหาที่มีคุณภาพ เมื่อผู้ผลิตสื่อทุกคนสามารถสร้างรายได้จากโฆษณาโดยไม่มีการกำกับดูแล ทำให้เกิดคำถามว่า ใครจะเป็นผู้ดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์มเหล่านี้

พิรงรอง effects” จะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในอนาคต โดยเฉพาะเรื่องการกำกับดูแลแพลตฟอร์ม OTT ซึ่งปัจจุบันยังเป็นช่องว่างทางกฎหมายที่ส่งผลกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรมและผู้บริโภค หากไม่เร่งดำเนินการ สังคมอาจเผชิญกับปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และการเอาเปรียบของแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่ไม่มีการควบคุม” ระวี กล่าว

ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กล่าวถึงกรณีคำสั่งของรัฐที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า การฟ้องร้องสามารถดำเนินการผ่านศาลปกครองเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ อย่างไรก็ตาม หากภาคเอกชนเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐมีความรุนแรง สามารถใช้ช่องทางทางอาญาเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐรายนั้นได้ ซึ่งหากศาลตัดสินว่ามีความผิด เจ้าหน้าที่รัฐอาจต้องโทษจำคุก ปัจจุบันมีเพียงจดหมายข่าวที่เผยแพร่เนื้อหาว่าสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ออกจดหมายไปยังผู้รับใบอนุญาต ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าผู้ลงนามในจดหมายควรเป็นจำเลยที่ 1 แต่ขณะนี้ข้อมูลที่มีอยู่อาจยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ

ในมุมมองของนักกฎหมาย กรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐถูกฟ้องร้องในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อมีการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อสาธารณประโยชน์ กสทช. มีหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจากการเอาเปรียบของผู้ประกอบการ แต่กรณีนี้อาจสร้างแรงกดดันเพิ่มขึ้น ในแง่ของหลักการทำงาน ความสุจริตถือเป็นเกราะป้องกัน และเชื่อว่าความสุจริตของอาจารย์พิรงรองจะช่วยปกป้องได้

อย่างไรก็ตาม จดหมายข่าวที่เผยแพร่ออกมาได้สะท้อนให้เห็นว่ากลไกภายในสำนักงาน กสทช. อาจมีปัญหา โดยเฉพาะกระบวนการยืนยันข้อเท็จจริงและการรักษาความลับในที่ประชุม ระบบการบันทึกข้อมูลและรายงานการประชุมของ กสทช. เป็นอีกประเด็นที่ต้องได้รับการทบทวน โดยทั่วไป รายงานการประชุมต้องถูกนำเสนอเพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบและรับรองความถูกต้องก่อนนำไปสู่การออกมติ หากมีการจดบันทึกเท็จ ย่อมสร้างความน่าเป็นห่วงต่อกระบวนการทำงานขององค์กร

คำถามสำคัญคือ ใครเป็นผู้บันทึกการประชุม และมีหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องได้มากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาถึงการกระทำที่อยู่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ หากเกินขอบเขต อาจเข้าข่ายความผิดตาม มาตรา 157 ของกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดว่า การใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอื้อประโยชน์ส่วนตัวถือเป็นความผิด ดังนั้นกรณีนี้ในจดหมายข่าว คือเพื่อจุดประสงค์ต่อส่วนรวม ซึ่งจะเข้าข่ายเพื่อส่วนตัวหรือไม่ ในส่วนนี้เกิดคำถามว่า ทำงานอย่างไรให้ปลอดภัย เราต้องร่วมกัน ถ้าองค์กรเป็นแบบนี้เราจะลำบาก เพราะจะไม่มีใครกล้าทำงาน

ขอฝากถึงผู้ที่ทำงานใน กสทช. ว่าวันนี้ทุกคนต้องยืนหลังตรง” สำหรับคนที่ยังไม่ยืนหยัดเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินไปเช่นนี้ อาชญากรรมออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะยังคงแพร่ระบาด ช่องทางออนไลน์ที่ลูกหลานเข้าถึงได้ง่ายที่สุดจะกลายเป็นแหล่งเนื้อหาที่ไม่มีการควบคุม หากยังไม่มีมาตรการกำกับดูแลอย่างจริงจัง สุดท้ายแล้ว ความเพิกเฉยจะส่งผลกระทบต่อลูกหลานของทุกคน รวมถึงคนที่เรารักในที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save