เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเข้ามาปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรม การศึกษา และการวิจัยต้องปรับตัวเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงเตรียมจัด การประชุมวิชาการประจำปี สวทช.ครั้งที่ 20 (20th NSTDA Annual Conference: NAC2025) ภายใต้แนวคิด “ขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย AI เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน: AI-driven Science and Technology for Sustainable Thailand” โดยมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอองค์ความรู้ งานวิจัยและพัฒนาด้าน AI และแนวทางการบูรณาการเข้ากับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแขนงต่างๆ ระหว่างวันที่ 26-28 มีนาคม ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ปทุมธานี
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ในปีนี้ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจสำคัญที่ สวทช.ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นเวทีระดับประเทศในการนำเสนอความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ที่ สวทช. และเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานของ 5 ศูนย์วิจัยแห่งชาติภายใต้สังกัดสวทช. ได้แก่ BIOTEC, MTEC, NECTEC, NANOTEC และ ENTEC เพื่อประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้าน AI เพื่อรองรับความต้องการตลาดแรงงานและสร้างบุคลากรที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบาย อว.For AI ของกระทรวง อว.
ในโอกาสนี้ สวทช.ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเปิดการประชุมวิชาการประจำปี สวทช. ครั้งที่ 20 และทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี” ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม 2568 เวลา 09.00-14.00 น.
“ไฮไลต์สำคัญของปีนี้คืองานสัมมนาพิเศษ “Decoding Thailand’s AI Future: Strategy for Competitive Edge” โดยผนึกกำลังกับ Techsauce ร่วมถอดรหัสและวางยุทธศาสตร์เส้นทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่การวางรากฐานนโยบาย ค้นหาโอกาส Quick Win ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เรียนรู้บทเรียนจากทั่วโลกเพื่อกำหนดทิศทางที่เหมาะสมกับไทย เจาะลึกปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านกรณีศึกษาจากภาคธุรกิจชั้นนำ รวมถึงตัวอย่างการประยุกต์ใช้ AI จริงในภาคส่วนต่าง ๆ ผ่านผลงานวิจัย สวทช.” ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าว
ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า ในยุคที่ AI มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคม การพัฒนา AI Ecosystem อย่างเข้มแข็ง เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นผู้นำด้าน AI ในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้นการจัดงานประชุม NAC2025 ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันระบบนิเวศ AI ของไทย ซึ่งไม่เพียงช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ยังเปิดโอกาสในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิต และเตรียมความพร้อมให้ทุกภาคส่วนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนา AI Ecosystem ของประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคจะเกิดผลสำเร็จได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1. จริยธรรม AI 2. โครงสร้างพื้นฐาน 3. การพัฒนาบุคลากร 4. วิจัยและนวัตกรรม และ 5. การส่งเสริมธุรกิจ AI อย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง เพื่อทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลาง AI ในระดับภูมิภาคได้อย่างมั่นคง แข็งแกร่งและเกิดความยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้
ตลอด 3 วันของการจัดงาน NAC2025 ผู้เข้าชมงานทุกท่านจะได้สัมผัสกับบรรยากาศของงานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ครบรส โดยมุ่งเน้นการนำเสนอศักยภาพ ของ สวทช. ผ่านผลงานวิจัยในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ สัมมนาวิชาการ 40 หัวข้อ ซึ่งเป็นเวทีการอภิปรายและบรรยายพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในสาขาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ AI ในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ
พร้อมนิทรรศการกว่า 100 บูท ที่จัดแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร ที่เน้นการพัฒนา AI เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมของประเทศ ทั้งนี้ภายในงานแถลงข่าวยังมีการนำเสนอ 5 ผลงานวิจัยเด่น ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน วทน. ด้วย AI ได้แก่
1.Pathumma LLM โมเดล AI ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเข้าใจบริบทและวัฒนธรรมไทยอย่างลึกซึ้ง โดยใช้เทคโนโลยี Multi-Modal AI ซึ่งรวม 3 ความสามารถหลัก ได้แก่ Text LLM สำหรับประมวลผลภาษาไทย Vision LLM สำหรับวิเคราะห์และเข้าใจภาพ และ Audio LLM สำหรับจดจำและตอบสนองต่อเสียงภาษาไทย ระบบถูกพัฒนาแบบ Open Source เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ร่วมกัน ขับเคลื่อนการพัฒนา AI ไทย และรองรับการใช้งานในทุกภาคอุตสาหกรรม พร้อมให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยี AI ของสังคมไทย
2.Genomics Medicine การใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านพันธุกรรมมนุษย์ (Genomics Medicine) เพื่อยกระดับการแพทย์ไทย ระบบสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์แบบเดิมร่วมกับข้อมูลพันธุกรรม ช่วยให้แพทย์ระบุตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่เป็นสาเหตุของโรคได้แม่นยำ นำไปสู่การวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย
3.Hydrogen Economy สวทช. ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีไฮโดรเจนแบบองค์รวม โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการพัฒนาไฮโดรเจนชีวภาพ (Biohydrogen) และไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) จากกระบวนการทางชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการประยุกต์ใช้ในระบบเศรษฐกิจแบบ BCG ทั้งภาคพลังงาน การขนส่ง และอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนายานยนต์ไฮโดรเจน (FCEV) ที่เป็นเทคโนโลยีสะอาดช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
4.การประยุกต์ใช้ AI เพื่อตรวจวัดและระบุไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำ นวัตกรรมตรวจวัดไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำที่ประยุกต์ใช้ AI เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวิเคราะห์ ระบบสามารถจำแนกชนิดพลาสติก (PE, PP, PET, PS และ PVC) และปริมาณได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาที ด้วยอุปกรณ์แบบพกพาราคาประหยัด ทำให้การติดตามตรวจสอบไมโครพลาสติกในแหล่งน้ำต่างๆ มีประสิทธิภาพและความแม่นยำสูงขึ้น
5.Gunther อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหว และแอปพลิเคชัน Janine: นวัตกรรมเฝ้าระวังการหกล้มและเคลื่อนไหวผิดท่าสำหรับผู้สูงอายุ ผสานการทำงานระหว่างเซนเซอร์ Gunther IMU ที่ช่วยบ่งชี้ท่าทางและการเคลื่อนไหว และแอปพลิเคชัน Janine ที่ประมวลและแสดงผลแบบเรียลไทม์ โดยใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการเรียนรู้ท่าทางจึงไม่ต้องตั้งโปรแกรมเฉพาะ ช่วยให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลติดตามและป้องกันความเสี่ยงต่อการหกล้มและการบาดเจ็บระหว่างการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม OPEN HOUSE จำนวน 9 เส้นทาง ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงห้องปฏิบัติการวิจัย รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นนำของประเทศ จำนวน 2 วัน คือ วันที่ 26 และ 28 มีนาคม 2568 โดยมีเส้นทางที่น่าสนใจ อาทิ กลุ่มเกษตรอัจฉริยะ, กลุ่มเครื่องสำอางเพื่ออนาคต, กลุ่ม Wellness Tech เส้นทางสู่ “Thailand Health Hub” และกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้ง กิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้าน AI และนวัตกรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านเวิร์กช็อปและการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่เยาวชนสามารถมาทดลองเล่นและเรียนรู้ได้ในงาน คือ หุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต NSTDA Micro-Mouse ที่จะช่วยส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และนวัตกรรม
โดยเยาวชนที่เข้าร่วมงานประชุมวิชาการ สวทช. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับ ‘ทีม BRR ROBOT’ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา แชมป์การแข่งขันหุ่นยนต์นำทางในเขาวงกต NSTDA Micro-Mouse Contest ครั้งที่ 1 โดยสามารถร่วมกิจกรรมและทดลองเล่นจากสนามจริง ที่บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ในช่วงบ่ายของวันที่ 27 และ 28 มีนาคม 2568 ตลอดทั้งวัน