กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดพื้นที่ให้ผู้นำรุ่นใหม่จาก PPCIL 6 ร่วมนำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาประเทศไทยใน4ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ด้านกำลังคน ด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยี ด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจ ในกิจกรรมพิธีปิดหลักสูตรอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ของภาครัฐและเอกชน รุ่นที่ 6 (PPCIL#6) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นสร้างศักยภาพผู้นำ บ่มเพาะทักษะและกระบวนทัศน์จนเกิดเป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม เกิดการทำงานร่วมกันแบบเครือข่าย และพร้อมเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ชาตินวัตกรรมในทุกมิติ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)กล่าวว่า NIA ภายใต้บทบาท “ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม” หรือ Focal Conductor ให้ความสำคัญในการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ เพื่อยกระดับทักษะและความสามารถทางด้านนวัตกรรม ซึ่งระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจะต้องอาศัยองค์ประกอบหลายมิติ ทั้งเครือข่าย นวัตกร และองค์กรแห่งนวัตกรรม ดังนั้น การพัฒนาผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Maker) จากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคความมั่นคง ภาคการเมือง และสื่อมวลชน จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเร่งขับเคลื่อนประเทศในอนาคต “หลักสูตร PPCIL หนึ่งในหลักสูตรที่สร้างผู้นำการเปลี่ยนจึงได้จัดต่อเนื่องจนถึงรุ่นที่ 6 โดยมุ่งปรับเปลี่ยนชุดความคิดของกลุ่มผู้บริหารระดับกลางที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดสู่ผู้บริหารระดับสูง เพื่อวางรากฐานการคิดนวัตกรรมเชิงนโยบาย (Policy Innovation) ก่อให้เกิดข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญของประเทศ สามารถให้ผู้เข้าอบรมสามารถออกแบบนวัตกรรม และวางแผนการจัดการเชิงนโยบาย โดยคาดการณ์และคิดเชิงอนาคต ร่วมกับหลักการออกแบบนโยบายที่ต้องเข้าใจผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เพื่อสร้างแนวปฏิบัติความร่วมมือแบบใหม่ เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ ซึ่งปีนี้มีผู้นำจากภาครัฐและเอกชนผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมการอบรมทั้งสิ้น 85 คน แบ่งเป็นภาครัฐ 35 คน ภาคเอกชน 39 คน ภาคความมั่นคง 5 คน ภาคการเมือง 1 คน และภาคสื่อมวลชน 5 คน เกิดผลสัมฤทธิ์เป็น 5 ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายที่ครอบคลุม 4 ประเด็น ประกอบด้วย 1. นวัตกรรมพัฒนากำลังคน – เน้นการพัฒนากำลังคนสายอาชีวศึกษารุ่นใหม่ เนื่องจาก ปัจจุบันประชากรรุ่นใหม่ยังขาดทักษะที่ตรงกับงาน ดังนั้น จึงควรมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของความร่วมมือทุกภาคส่วน สร้าง Global Workforce สมรรถนะสูง เพื่อให้เกิด Lifelong Learning เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น เพื่อให้บุคลากรมีทักษะและความสามารถที่สอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจยุคใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน 2. นวัตกรรมความมั่นคงทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการเข้าถึงและการใช้งานเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในกลุ่มผู้สูงอายุ สร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันได้อย่างเท่าทันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การนำ AI มาใช้ในการเรียนรู้ พัฒนาโปรแกรมการศึกษา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล สนับสนุนและปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันที่ปลอดภัยมากขึ้น และการส่งเสริมการใช้ “ไทยบาทดิจิทัล” เพื่อป้องกันและต่อต้านมิจฉาชีพออนไลน์ โดยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการทำธุรกรรมทางการเงินดิจิทัล เช่น เงินรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่รองรับการเขียนโปรแกรม ที่สามารถแจ้งเตือน ตรวจสอบ และติดตามได้ ซึ่งจะทำให้ลดความเสี่ยงจากการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์ 3. นวัตกรรมด้านสาธารณสุข ยกระดับคุณภาพโภชนาการของอาหารริมทาง (Street Food) ให้มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยและคุณค่าทางโภชนาการที่ดีขึ้น เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนห่างไกลจากโรค NCDs รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารริมทาง โดยเริ่มตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ มีมาตรฐานควบคุมตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค โดยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ดีต่อสุขภาพ สามารถสั่งผ่านช่องทางออนไลน์ จนเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภคช่วยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น 4. นวัตกรรมเศรษฐกิจ เน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอย ให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาเมือง โดยการพัฒนาทักษะและการสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การทำบัตรสวัสดิการผู้ค้า เพื่อให้พวกเขามีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การปรับภาพลักษณ์ สร้างมาตรฐานบริการ เกิดเครือข่ายพัฒนาขีดความสามารถทางการค้าที่เพิ่ม GDP ดึงดูดนักลงทุน และนักท่องเที่ยว รวมทั้งมีส่วนช่วยประเทศให้เกิดเศรษฐกิจรากฐานที่เป็นธรรม สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการนำเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยมีคณะกรรมการทั้งจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กรุงเทพมหานคร กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมพิจารณาการให้คะแนน ดังนี้ 1) ความชัดเจนและความเข้าใจปัญหา ผู้นำเสนอสามารถนิยามถึงปัญหาได้อย่างชัดเจน ความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ความเข้าใจต่อผู้เกี่ยวข้องหลักในเรื่องนั้น ๆ (20 คะแนน) 2) ผลกระทบของนวัตกรรมนโยบาย ผู้นำเสนอสามารถบอกถึงขนาดของผลกระทบที่มีต่อกลุ่มเป้าหมาย ระยะเวลาของผลกระทบรวมถึงการขยายผลต่อผลลัพธ์ของนวัตกรรมต้นแบบ (20 คะแนน) 3) ความเป็นไปได้ในการเกิดผลลัพธ์ ผู้นำเสนอสามารถกล่าวถึงความเป็นไปได้ในการจัดทำและออกแบบนโยบายรวมทั้งความเป็นไปได้ในการนำไปปฏิบัติจริง (20 คะแนน) 4) ความเป็นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ ผู้นำเสนอสามารถกล่าวถึงกระบวนทัศน์ในการคิดนอกกรอบและความสร้างสรรค์ของนวัตกรรมเชิงนโยบาย (20 คะแนน) 5) ความสอดคล้องขององค์ประกอบภายใน ผู้นำเสนอสามารถกล่าวถึง ความสอดคล้องของนโยบายตามความต้องการหรือคุณค่าของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ซึ่งสามารถสอดคล้องกับกิจกรรมมาตรการกลไก ทรัพยากรและอื่นได้ (10 คะแนน) 6) การนำเสนอ ผู้นำเสนอสามารถ เล่าเรื่องบนเวทีให้มีความน่าสนใจอย่างเป็นระบบ (10 คะแนน) ข้อมูลผลการประกาศรางวัลจากการนำเสนอข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายทั้ง 5 กลุ่ม ประกอบไปด้วยรางวัล ดังนี้
- Award for Excellence in High Impact Policy ได้แก่ กลุ่ม CHANG’E : อาชีวะเลือดใหม่ เศรษฐกิจไทยไปโลด นำเสนอปัญหาหนึ่งที่พบสำหรับกลุ่มนี้คือ “งานว่างคน คนว่างงาน” เนื่องจากปัจจุบันประชากรรุ่นใหม่ยังขาดทักษะที่ตรงกับงาน โดยผู้ประกอบการในไทยพบว่า 43% ของบุคลากรยังขาดแรงงานที่มีความสามารถ จึงไม่ต้องการลงทุนด้านนวัตกรรมในประเทศ มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ของความร่วมมือทุกภาคส่วน สร้าง Global Workforce สมรรถนะสูง เพื่อให้เกิด Lifelong Learning เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น
- Award for Outstanding People-Driven Policy ได้แก่ กลุ่ม MILLENNIUM FALCON สร้างภูมิคุ้มกันให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี ข้อเสนอให้นำ AI มาใช้ในการเรียนรู้ พัฒนาโปรแกรมการศึกษา จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ดิจิทัล สนับสนุนและปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้น บนหลักการ “Competency Base Learning” เพื่อให้คนสูงวัยอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยให้เทคโนโลยีเป็นส่วนสร้างเสริมศักยภาพ และเป็นส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาสังคม
- Award for Novel Solution Policy And Best in Class: PPCIL#6 ได้แก่ กลุ่ม Viking D-Baht คนไทย โอนเงินมั่นใจ ต้านภัยไซเบอร์ปัญหาการโอนเงินโดยไม่รู้ว่าเงินที่โอนนั้นถูกโอนไปยังบัญชีที่ไม่ถูกต้อง เสนอให้ใช้ D-Baht เงินรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางที่รองรับการเขียนโปรแกรมที่สามารถสร้างระบบ Programmable Money หรือ การโอนเงินที่มีการกำหนดเงื่อนไขอัตโนมัติ โดยสามารถแจ้งเตือน ตรวจสอบ และติดตามได้ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกฉ้อโกงทางออนไลน์
- Award for Feasible and Practical Policy Solution And Best of the Best Award ได้แก่ กลุ่ม Voyager ยกระดับคุณภาพชีวิตหาบเร่แผงลอย เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรม ชีวิตของผู้ค้าหาบเร่แผงลอยสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำที่คนเหล่านี้ยังขาดความมั่นคงด้านอาชีพ อาทิ บัตรสวัสดิการผู้ค้า เพื่อให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยมีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ธนาคารเพื่อผู้ค้า ให้มีธนาคารเฉพาะกลุ่มที่เป็น “ฐานราก” เพิ่มสภาพคล่องตัวของการเงินและมีทุนหมุนเวียนให้เป็นการค้าขายแบบยั่งยืน และสำนักงานเสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่เป็นธรรมแห่งชาติโดยจัดให้มีหน่วยงานคอยเป็นผู้กำกับที่คอยควบคุม ด้วยหลักคิด “ใหญ่ช่วยเล็ก เล็กช่วยชาติ”
- Award for Thoughtful and Cohesive Policy Design ได้แก่ กลุ่ม Apollo Street food ปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของประชาชนห่างไกลจากโรค NCDs รวมทั้งสร้างความมั่นใจในการบริโภคอาหารริมทาง จึงมีข้อเสนอให้มีการยกระดับคุณภาพโภชนาการของอาหารริมทาง (Street Food) โดยมี Sandbox Model ซึ่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ