เนคเทค ผนึกกำลังพันธมิตร จัด NECTEC-ACE2024 เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เป็นประธานเปิด การประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2567 (NECTEC Annual Conference & Exhibitions 2024: NECTEC-ACE 2024) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” ซึ่งปีนี้มุ่งเน้นด้าน “เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ: The Next Era of Thai Intelligent Sensors” โดยมี ดร.จันทร์เพ็ญ เมฆาอภิรักษ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการเนคเทค และพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชน กว่า 1,000 คนเข้าร่วมงาน ณ ศูนย์การประชุมอิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จากความสำคัญของเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีต่างๆ ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นรถ หุ่นยนต์ หรือแท็บเล็ต ล้วนมีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เนคเทค จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเป็นเวทีให้องค์กรภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อผลักดันให้งานวิจัยและพัฒนาไปสู่การใช้งานจริง และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นสององค์ประกอบหลักที่ขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีสมัยใหม่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของเราอย่างที่เราคาดไม่ถึง ทั้งเป็นกุญแจสำคัญของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ที่ทำให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เชื่อมต่อกันและสื่อสารกันได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งยังมีผลในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้เซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์ยังถูกใช้ในระบบขนส่งอัจฉริยะ ช่วยให้การจราจรมีความปลอดภัย สะดวกรวดเร็ว และประหยัดพลังงาน ถูกใช้ในระบบดูแลสุขภาพ ช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้อย่างแม่นยำ รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามสุขภาพของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด และถูกนำมาประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรอัจฉริยะ ช่วยให้เกษตรกร สามารถเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน ดังนั้นเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์จึงมีความสำคัญ เพราะเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ที่ช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทค ประจำปี 2567 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2024 (NECTEC–ACE 2024) โดยมุ่งเน้นประเด็น “เปิดโลกเทคโนโลยียุคใหม่ ด้วยเซนเซอร์ไทยอัจฉริยะ” The Next Era of Thai Intelligent Sensors ซึ่งจัดโดยเนคเทค ถือว่ามีความสำคัญในการสนับสนุนให้หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน ภาคเกษตร สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้ประกอบการ และนักลงทุน สามารถแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ ร่วมทั้งการสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ผลักดันผลงานวิจัยไปสู่ผู้ใช้งานจริงได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านโครงสร้างพื้นฐานระดับชาติและเครือข่ายพันธมิตร เพื่อยกระดับการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศ พร้อมทั้งสร้างสรรค์ผลงานวิจัยให้ตอบโจทย์การใช้งานภายในประเทศ ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สวทช. โดยเนคเทคซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นผู้เชื่อมโยงการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคเกษตร สถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย ผู้ประกอบการและนักลงทุน ในการสนับสนุนและถ่ายทอดผลงานวิจัยและพัฒนาไปสู่ การใช้ประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมและประเทศ ปัจจุบันเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้ ในอุตสาหกรรม และเซนเซอร์อัจฉริยะมีความสำคัญต่ออินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) และอุปกรณ์ ที่เชื่อมต่อการใช้งานเซนเซอร์อัจฉริยะจึงมีมากมาย สามารถบูรณาการเข้ากับแอปพลิเคชันที่หลากหลายในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ในปีต่อ ๆ ไป คาดว่าอุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะจะยังคงเติบโตและสร้างสรรค์ช่วยสร้างโอกาสในการพัฒนาและการลงทุนในอนาคต รวมถึงช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อเร่งการพัฒนาเชิงพาณิชย์สำหรับเทคโนโลยีเซนเซอร์ของไทยให้เป็นหนึ่งที่สำคัญในระบบนิเวศเซนเซอร์อัจฉริยะของโลก ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า งานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทค หรือ NECTEC-ACE มีเป้าหมายเพื่อผลักดันเทคโนโลยีและผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ โดยมุ่งเน้น 3 เทคโนโลยีหลัก คือ Intelligent Sensors Networking & Communication และ AI & Big Data อย่างต่อเนื่อง ซึ่ง NECTEC-ACE2024 ในปีนี้นำเสนอเรื่องราวของเทคโนโลยีเซนเซอร์ ที่มีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัลและเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เสริมสร้างศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทั้งในระดับประเทศและสากล “ก่อนที่เราจะพัฒนา AI ได้ เราต้องพัฒนา Data และ IoT พร้อมด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะ ไปพร้อมๆ กัน งานนี้จึงเป็นเวทีสำคัญที่จะพิสูจน์ว่าสถานการณ์เซนเซอร์อัจฉริยะและเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศไทยมีความพร้อมที่จะเติบโตไปในทิศทางใด เราจึงหวังว่า NECTEC-ACE 2024 ในปีนี้ จะเป็นศูนย์กลางในการช่วยส่งเสริมโจทย์ของประเทศ ให้สามารถปักหมุดได้ว่าเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศควรจะเป็นแบบใด จึงจะคุ้มค่าที่สุด และในฐานะที่เนคเทคได้ก่อตั้ง Thai Microelectronics Center (TMEC) เป็น MEMS Foundry แห่งแรกของไทย ตั้งแต่ปี 2538 เปิดให้บริการพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ MEMS และเซนเซอร์ ในกลุ่ม More Than Moore ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การสร้างต้นแบบ การทดสอบไปจนถึงการผลิตเชิงพาณิชย์ในปริมาณน้อยถึงปานกลาง อีกบทบาทสำคัญของ TMEC คือการเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของประเทศและเสริมสร้างกำลังคนเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในอนาคต เนคเทค จึงพร้อมนำองค์ความรู้ด้านเซนเซอร์และเซมิคอนดักเตอร์เข้าไปมีส่วนร่วมและเชื่อมโยงในมิติของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการและ นักลงทุนทั่วไป ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเสริมระบบนิเวศการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเซนเซอร์อัจฉริยะภายในประเทศให้มีความพร้อมก้าวสู่ตลาดการแข่งขันในระดับสากล” ดร.ชัย กล่าว ความพิเศษของการจัดงาน NECTEC-ACE 2024 ในปีนี้ ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 17 ยังคงได้รับการสนับสนุน และความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนรวม 26 หน่วยงาน ที่เล็งเห็นประโยชน์ และความสำคัญในการสนับสนุน โดยมีผู้สนใจได้ลงทะเบียนเข้าร่วมงานมาแล้วทั้งสิ้น มากกว่า 1,000คน ซึ่งปีนี้นำเสนอเรื่องราว ในหลากหลายมิติที่เกี่ยวข้องทางด้านเทคโนโลยีเซนเซอร์ ให้ทุกท่านได้เห็นถึงบทบาทของเซนเซอร์อัจฉริยะที่มีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัล และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ผ่านกิจกรรมภายในงาน ทั้งในรูปแบบการจัดสัมมนาวิชาการ และการจัดแสดงนิทรรศการ ที่ทุกท่านจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับสถานภาพปัจจุบัน และศักยภาพของเทคโนโลยีเซนเซอร์อัจฉริยะในประเทศไทย ตั้งแต่งานวิจัยพื้นฐานไปจนถึงการนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงมุมมองด้านนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยพัฒนา โอกาส ความท้าทายการลงทุน ทั้งในมิติของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และผู้ใช้งาน ที่จะร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม เสริมระบบนิเวศ (Ecosystem) การพัฒนาเซนเซอร์อัจฉริยะที่จะนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้เกิดขึ้นภายในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน สำหรับกิจกรรมภายในงานเต็มไปด้วยเนื้อหา สาระความรู้ เพื่อนำเสนอต่อผู้ที่สนใจทางด้านเซนเซอร์อัจฉริยะทุกท่านได้เข้ามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ประกอบด้วย 7 หัวข้อสัมมนาวิชาการ ที่ได้รวบรวมวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ จากภาครัฐ และเอกชน กว่า 40 ท่าน มาร่วมนำเสนอความรู้ ความก้าวหน้า งานวิจัยและพัฒนาเซนเซอร์อัจฉริยะครบทุกมิติทั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ รวมถึงด้านนโยบาย การสนับสนุน โอกาสการลงทุน และการเติบโตในอนาคต พร้อม 50 บูธนิทรรศการแสดงผลงานวิจัยพัฒนาด้านเซนเซอร์อัจฉริยะ จากเนคเทคที่พร้อมตอบโจทย์การประยุกต์ใช้งานในหลากหลายอุตสาหกรรม และงานวิจัยขั้นสูงสู่อนาคตเทคโนโลยีเซนเซอร์ พร้อมด้วยผลงานจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม สถาบันการศึกษา ร่วมนำนวัตกรรม บริการ โซลูชัน มาตรการสนับสนุน เพื่อผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมเซนเซอร์ในประเทศ ภายในงานมีงานเสวนาวิชาการที่น่าสนใจ หัวข้อ “เส้นทางสู่ Decarbonization ร่วมด้วยช่วยกันเพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” เพื่อนำเสนอแนวทางการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่เกิดจากภาคเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ (Global Warming) โดยผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรอัจฉริยะ อย่าง ธิดากุล อุดคำเที่ยง Climate Change Solutions Development Manager บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า ในฐานะที่คูโบต้าเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนภาคเกษตรกรของประเทศ เราจึงมุ่งเน้นการลดมลภาวะให้เป็นศูนย์ เพราะหากวันใดที่เกษตรกรไม่สามารถทำการผลิตพืชผลได้ จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เราจึงกระตุ้นให้เกิด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการเกษตรคาร์บอนต่ำสู่ชุมชนที่ยั่งยืน ผ่านการทำนาเปียกสลับแห้ง โครงการเกษตรปลอดการเผา และการออกแบบเครื่องจักรกลเกษตรคูโบต้า เพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตร พร้อมกันนี้ยังมีการนำเสนอประสบการณ์จากผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเครื่องมือวัดต่างๆ เช่น เซนเซอร์ด้านพลังงาน การวัดประสิทธิภาพการผลิต เพื่อการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น โดย ธัญฤทธิ์ ปัณฑรวงศ์ Business Development Manager บริษัท คีย์ไซท์ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด และการนำเสนอแพลตฟอร์มการบริหารจัดการคาร์บอนแบบอัตโนมัติ (ACAMP; Automated Carbon Accounting Management Platform) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน พร้อมช่วยติดตามการเกิดคาร์บอนฟุตพรินท์ได้รายวัน รายเดือน รายปีได้อย่างชัดเจน จาก ดร.อัมพร โพธิ์ใย หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการลดคาร์บอน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานภาครัฐที่เป็นกำลังหลักในการช่วยให้เกิดการการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชุมชน อาทิ โครงการนำร่องปลูกป่าชุมชน บ้านถ้ำเสือ , โครงการบ้านมั่นคงเมือง เพื่อดูแลขยะ ป้องกันไมโครพลาสติกลงสู่ทะเล , โครงการที่อยู่อาศัยส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ และโครงการ Carbon Credit ชุมชน จาก จันทนา เบญจทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)