โรคไตเรื้อรังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญและกำลังทวีความรุนแรงในประเทศไทย จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค กองโรคไม่ติดต่อ พบว่าแนวโน้มการเสียชีวิตจากโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี พ.ศ. 2559 อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 14.24 ต่อแสนประชากร และเพิ่มขึ้นเป็น 16.49 ต่อแสนประชากรในปี พ.ศ. 2563นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2567 มีรายงานว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังสะสมจำนวนถึง 25,237 ราย และยังพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,500-4,000 ราย ปัจจุบันมีผู้ป่วยในไทยกว่า 11 ล้านคน และมีผู้ป่วยเพียง 1.9% เท่านั้นที่รู้ตัวว่าตนเองป่วย (ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ปี 2566) เพื่อช่วยลดช่องโหว่ในการวินิจฉัยและลดอัตราการเกิดโรคไตในประชาชน การพัฒนา “ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจประเมินความเสี่ยงโรคไตเบื้องต้นได้ด้วยตนเอง ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทราบถึงภาวะสุขภาพของตนได้เร็วขึ้น ยังช่วยลดความแออัดในระบบสาธารณสุขและช่วยป้องกันการเกิดโรคในระยะยาว
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) จึงร่วมกับสภาเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ผลักดัน “ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” ที่พัฒนาและผลิตในไทยเข้าสู่ระบบ สปสช. ผ่านร้านขายยาในโครงการ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจรโดยเภสัชกร เครือข่ายร้านยาในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศไทย นำร่อง 3,000 ชุดในพื้นที่ สปสช. เขต7 ขอนแก่น หวังรณรงค์ตรวจคัดกรองโดยสมัครใจเพื่อ “รู้ให้เร็วว่าเสี่ยง สร้างความตระหนักเพื่อชะลอการเกิดโรคไตเรื้อรัง และลดค่าใช้จ่าย” พร้อมส่งเสริมความเข้มแข็งนวัตกรรมด้านชุดตรวจทางการแพทย์ของไทย ยกระดับสุขภาวะคนไทยด้วยนวัตกรรมของไทย เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า
ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า นาโนเทคเป็นองค์กรวิจัยชั้นนำที่ตั้งมั่นใช้ประโยชน์นาโนเทคโนโลยีขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน ภารกิจหนึ่งของเราคือ การต่อยอดผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมไทยด้านเครื่องมือแพทย์ที่มูลค่าตลาดสูงเพื่อเข้าสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน อนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกับพันธมิตรภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคมขับเคลื่อนงานทางด้านชุดตรวจทางการแพทย์ไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข
สำหรับชุดตรวจคัดกรองโรคไตนี้ เป็นหนึ่งใน S&T implementation for Sustainable Thailand นวัตกรรมชุดตรวจแบบรวดเร็ว (Rapid Test) ที่มีดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง เป็นผู้ขับเคลื่อนและต่อยอดงานวิจัย ‘AL-Strip’ โดย ดร. สาธิตา ตปนียากร โดยพัฒนาให้เป็นชุดตรวจโรคไตเชิงคุณภาพที่ประชาชนทั่วไปใช้ตรวจคัดกรองโรคได้ด้วยตัวเอง ทราบผลตรวจได้ภายใน 5 นาที เพียงหยดปัสสาวะที่เก็บใหม่ลงบนแถบตรวจ แล้วอ่านผลจากแถบสีที่ปรากฏ (คล้ายกับการใช้ชุดตรวจคัดกรองโรคโควิด-19) ก็จะทราบผลการคัดกรองได้ทันที นอกจากนี้ยังมีราคาจับต้องได้
“จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการแล้ว โครงการนี้ ยังช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจคัดกรองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านร้านยาในโครงการ การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจรโดยเภสัชกร เครือข่ายร้านยาในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศไทย นำร่องในพื้นที่ สปสช. เขต7 ขอนแก่น” ดร.อุรชา กล่าว
ทันตแพทย์หญิงน้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการฝ่าย ฝ่ายสนับสนุนบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การเพิ่มชุดตรวจสุขภาพด้วยตนเองถือเป็นก้าวสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชน ช่วยส่งเสริมการตรวจพบและป้องกันโรคตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ และสาธารณสุขของประชาชน ตลอดจนเพิ่มผลลัพธ์ด้านสุขภาพโดยรวม สำหรับ “ชุดตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตนเอง” ถือเป็นนวัตกรรมบริการที่สนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ ช่วยป้องกันและชะลอการเกิดโรคไตเสื่อม อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ สปสช. จะนำบริการด้านสุขภาพเข้าสู่ชุดสิทธิประโยชน์ของคนไทย จะต้องผ่านกระบวนการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Technology Assessment : HTA) อย่างเข้มงวด ซึ่งเป็นการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ผลกระทบด้านงบประมาณ ความสอดคล้องกับแนวทางเวชปฏิบัติ ความพร้อมของระบบบริการ รวมถึงประเด็นด้านจริยธรรมและสังคม โดยสปสช. ยังคงมุ่งมั่นที่จะนำนวัตกรรมด้านสุขภาพมาต่อยอด และยกระดับบริการทางด้านสาธารณสุขให้กับคนไทยทุกคน ซึ่งความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและการมีส่วนร่วมของประชาชน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพของไทยให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยั่งยืน
ภก. ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวว่า สภาเภสัชกรรมสนับสนุนให้ร้านยาเป็นหน่วยปฐมภูมิของประเทศ เพราะมีความใกล้ชิดชุมชน ประชาชนเชื่อถือ และกระจายตัวทั่วประเทศประมาณ 17,000 ร้านยา การผลักดันการใช้ประโยชน์“ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคไตก็เพื่อนำมาพัฒนาระบบบริการป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจร โดยเภสัชกรเครือข่ายร้านยา ในหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเภสัชกรจะนำผลการตรวจคัดกรองมาสร้างการตระหนักรู้ในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันและชะลอโรคไตแก่ประชาชน โครงการ “การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิเพื่อป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังแบบครบวงจร” โดยเภสัชกรเครือข่ายร้านยาในหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินี้ เป็นโครงการวิจัยที่ดำเนินอยู่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2568 และจะผลักดันเข้าเป็นสิทธิประโยชน์ในหลักประกันสุขภาพต่อไป