ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การนำของ “ดร.อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย” ผู้อำนวยการฯ ในช่วงวาระ (2568-2572) เดินเกมรุกผ่าน “4SF” หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (improve quality of life) โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่สำคัญ ผสานความท้าทายในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ด้วยกลไก triple-quadruple helix ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร ชุดตรวจสุขภาวะ เกษตรและอาหาร และน้ำและสิ่งแวดล้อม
นาโนเทคขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่อนาคตที่ดีกว่า
ดร. อุรชา รักษ์ตานนท์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) กล่าวว่า ในช่วง 21 ปีที่ผ่านมา นาโนเทคเติบโตอย่างมั่นคง มีกำลังคนด้านนาโนเทคโนโลยีที่ทำงานวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์องค์ความรู้ และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับนาโนเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง มีกำลังคนสายงานสนับสนุนที่เป็นกำลังเสริมในด้านต่างๆ เพื่อนำนวัตกรรมส่งถึงมือผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อนาโน มุ้งนาโน โลชั่นกันยุงนาโน SOS Water เครื่องผลิตน้ำพลังแสงอาทิตย์ หรือไข่ออกแบบได้” นวัตกรรมในยุคแรกๆ ของนาโนเทค ที่มีการต่อยอดทั้งในเชิงการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชน รวมถึงเชิงสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะในช่วงภาวะฉุกเฉิน ก่อนขยับสู่เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเดิม เพื่อช่วยแก้ปัญหาที่ผู้ใช้ต้องการ อาทิ เวชสำอางจากพืชสมุนไพรต่างๆ อาทิ เห็ดหลินจือ หรือกลุ่ม Herbal Champion, แผ่นกรองอากาศต้านเชื้อราแบคทีเรีย หรือการตอบโจทย์ความต้องการเร่งด่วนอย่างการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อาทิ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 (NANO Covid-19 Antigen Rapid Test), หมวกแรงดันบวก- ลบ ลดการแพร่เชื้อหรือสารฆ่าเชื้อต่างๆ
4 กลยุทธ์หลัก ผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
สำหรับการดำเนินงานของนาโนเทค สวทช. ในปี 2568 จะเดินหน้าตามแนวคิด Innovate, Collaborate and Grow ที่จะให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัย คือ นวัตกรรม, ความร่วมมือกับพันธมิตร และการเติบโตอย่างยั่งยืน ผ่านกลยุทธ์ที่เรียกว่า 4 Strategic Focus (SF) หรือกลไกการผลักดันเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน (improve quality of life) เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยนาโนเทค ที่มุ่งเป้าเพื่อแก้ไขปัญหาตามโจทย์ความต้องการของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เสริมแกร่งความสามารถในการแข่งขัน ได้แก่ สารสกัดสมุนไพร, ชุดตรวจสุขภาวะ, เกษตรและอาหาร และ น้ำและสิ่งแวดล้อม
ดร. อุรชา กล่าวว่า ในระยะเวลา 1 ปีจากนี้ เราจะเห็นผลงานต่างๆ ของแต่ละ SF ให้ถึงมือผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง เริ่มจาก SF สารสกัดสมุนไพรที่สารสกัดกระชายดำสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 3 บริษัท สร้างรายได้ให้กับประเทศ ยกระดับอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทยสู่ระดับสากล พร้อมตั้งเป้าต่อยอดสู่อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่คาดว่าจะใช้สารสกัดสมุนไพรเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับ SF ชุดตรวจสุขภาวะ ที่จับมือพันธมิตรสำคัญอย่างสภาเภสัชกรรมและ สปสช. ผลักดัน “ชุดตรวจคัดกรองโรคไต” เข้าสู่ระบบร้านยาของรัฐ และเตรียมขยายสู่ชุดตรวจทางการแพทย์อื่นๆ รวมไปถึงตลาดใหม่อย่างการวิจัยและพัฒนาไปสู่คุณภาพชีวิตสัตว์เลี้ยง
ด้าน SF น้ำและสิ่งแวดล้อม นอกจากเรื่องน้ำสะอาดที่นาโนเทควิจัยพัฒนาระบบกรองน้ำอุปโภคและบริโภคสำหรับชุมชน และขยายผลถ่ายทอดองค์ความรู้การจัดการคุณภาพน้ำสู่ผู้ใช้ประโยชน์หลายพื้นที่ในไทย เช่น ลำปาง ขอนแก่น อุดรธานี และได้นำระบบกรองน้ำดื่มด้วยนาโนเทคโนโลยีไปบรรเทาความลำบากของประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัย เช่น อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ด้วยความตั้งใจผลักดันด้านนโยบายร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำอุปโภคบริโภค เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีน้ำสะอาดทั่วประเทศ ในขณะเดียวกัน อากาศและสิ่งแวดล้อมก็สำคัญไม่ต่างกัน โดยเรามีงานวิจัยวัสดุโครงข่ายโลหะอินทรีย์ หรือ Metal Organic Frameworks (MOFs) เป็นวัสดุดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูง มีการรายงานใช้ MOFs 200 กรัมเทียบเท่ากับความสามารถของต้นไม้ 1 ต้นในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี โดยนักวิจัยนาโนเทคพัฒนากระบวนการผลิตแบบขยายขนาดต่อเนื่องได้
SF เกษตรและอาหาร มุ่งเป้าด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) โดยเฉพาะด้านการขจัดความอดอยาก (SDG 2) และนโยบายของภาครัฐด้านการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เริ่มจาก “ไข่สุขภาพหรือไข่โอเมก้า-3” เป็นนวัตกรรมยกระดับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง และปุ๋ยคีเลตหรือสารคีเลตจุลธาตุอาหาร เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ยหลัก ลดการสูญเสียธาตุอาหารและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“นอกจากผลงานที่จะเห็นจาก 4SF นาโนเทคใน 1 ปีนับจากนี้ จะมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคเอกชนและชุมชนด้วยแนวคิด innovation solution ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมนาโนเทคให้มากที่สุด, ขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร 2 ชนิด ได้แก่ กระชายดำ และบัวบก รวมถึงจัดตั้งบริษัทสตาร์ตอัป 2 บริษัท ในด้านสมุนไพรและการแพทย์ สุดท้ายปลายทางคือ เราคาดหวังจะเพิ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรมของเรา ไม่ว่าจะเป็นบริษัท หน่วยงาน หรือชุมชนที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ วางโจทย์ไว้ว่า จะเพิ่ม 5% จากจำนวนผู้ที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ 2580 ราย 67 องค์กรในปี 2567” ดร. อุรชา กล่าว
ใช้งานนาโนเทคอย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ ความปลอดภัยของผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นจุดที่ต้องมีการทดสอบและตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยในทุกผลิตภัณฑ์ที่พัฒนา จะต้องผ่านการทดสอบในเชิงพิษวิทยา (Toxicology) เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มอาหารและยา การทดสอบต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยมีการส่งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เช่น ผลการทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน ISO 13485 ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะสำหรับระบบบริหารจัดการคุณภาพในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ เพื่อยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลและสร้างความเข้าใจให้ผู้บริโภคตระหนักรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย ด้วยการจัดสัมมนาทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการจัดทำวารสารเพื่อนำเสนอข้อมูลด้านความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์
นอกจากการเชื่อมโยงโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคชุมชน ประชาชนแล้ว นาโนเทคยังทำงานสอดรับกับนโยบายรัฐบาลทั้งในแง่ของนโยบายเร่งด่วนด้านของการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย SMEs และการเพิ่มมูลค่าสินค้าการเกษตรและราคาพืชผลเกษตร ยกระดับรายได้เกษตรกร และนโยบายของภาครัฐในระยะกลาง-ยาว ในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้แก่ การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว และการมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ และเดินหน้าคู่ขนานกับนโยบายภาครัฐที่ต้องการยกระดับการบริหารจัดการน้ำ และสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอีกด้วย