องค์การสุรา กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง ร่วมกับ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผลิตวัสดุอ้างอิงรับรอง (Certified Reference Material หรือ CRMs) สำหรับการวัดเอทานอล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า Thailand Reference Material (TRM) เพื่อยกระดับระบบมาตรฐานการวิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์หรือเอทานอลให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สร้างความน่าเชื่อถือ ความมั่นใจ และการยอมรับ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ห้องปฏิบัติการทดสอบและภาคอุตสาหกรรมของประเทศได้เข้าถึงวัสดุอ้างอิงรับรองที่มีคุณภาพเทียบเท่าต่างประเทศ แต่มีราคาต่ำกว่า
ในโอกาสนี้จึงได้จัดงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ “วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการวัดปริมาณเอทานอล” โดยคาดว่าวัสดุอ้างอิงรับรองดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มและผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์ของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาประเทศได้ด้วยฝีมือคนไทย
ณัฐกร อุเทนสุต ประธานกรรมการบริหารกิจการ องค์การสุรา กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนกรมสรรพสามิตมีความยินดีที่ องค์การสุราฯ และสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ร่วมมือกันพัฒนาผลิตภัณฑ์วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการวัดปริมาณเอทานอล โดยใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพขององค์การสุราฯ และองค์ความรู้ด้านระบบมาตรวิทยาสากลจากสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยนำมาบูรณาการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการระบบมาตรวิทยา เพื่อสนับสนุนการตรวจสอบคุณภาพแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์จากแอลกอฮอล์” ร่วมกันพัฒนาวัสดุอ้างอิงรับรองเอทานอล เป็นครั้งแรกในประเทศไทย
วัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการวัดปริมาณเอทานอล ที่องค์การสุราฯ ร่วมกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ผลิตขึ้นนั้น เป็นวัสดุอ้างอิงรับรองที่มีการรับรองค่าความหนาแน่นและปริมาณเอทานอลต่อปริมาตร (Alcoholic strength หรือ Alcohol by Volume, ABV) พร้อมแสดงค่าความไม่แน่นอนของผลการวัด และมีข้อความระบุการสอบกลับได้ทางมาตรวิทยา โดยผลิตภัณฑ์นี้ได้รับการรับรองระบบคุณภาพ ISO 17034 ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว
วัสดุอ้างอิงรับรองดังกล่าวสามารถนำไปใช้ในกระบวนการวัดเอทานอล ใช้สอบความใช้ได้ของวิธีทดสอบ (Validate the Method) ใช้สอบเทียบหรือทวนสอบเครื่องมือ (Verification or Calibration of the Instrument) เช่น เครื่อง Density Meter เครื่อง Gas Chromatography หรือใช้เป็นตัวอย่างในการควบคุมคุณภาพ (Quality Control Sample) ในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ ซึ่งการใช้วัสดุอ้างอิงรับรองในกระบวนการวัด จะทำให้ผลการวัดมีความน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบภายในประเทศได้รับการรับรองและรักษาระบบคุณภาพ ISO/IEC 17025
“การวัดระดับดีกรีแอลกอฮอล์ เช่น 40 ดีกรี หรือ 70-90 ดีกรี จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดที่สอบทานอย่างแม่นยำ เราจึงต้องใช้น้ำยามาตรฐานที่เรียกว่า CRMs ในการสอบทานความแม่นยำของเครื่องวัด โดยในอนาคตเรามีแผนที่จะพัฒนาและขยายการตรวจสอบให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเราจึงมั่นใจว่าแอลกอฮอล์ที่ผ่านการผลิตและตรวจสอบจะมีคุณภาพและมีมาตรฐาน ไม่เป็นรองแอลกอฮอล์ที่นำเข้า” ณัฐกร กล่าว
พลตำรวจโท นายแพทย์ พรชัย สุธีรคุณ ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ (มว.) กล่าวว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ มีพันธกิจหลักในการผลิตวัสดุอ้างอิงให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในประเทศ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับองค์การสุราฯ ในการผลิตวัสดุอ้างอิงรับรองสำหรับการวัดปริมาณเอทานอล จากเอทานอลที่มีคุณภาพขององค์การสุรา เพื่อสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศสามารถเข้าถึงวัสดุอ้างอิงรับรองที่มีคุณภาพ มีมาตรฐาน ในราคาที่เหมาะสม สามารถนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้าวัสดุอ้างอิงรับรองดังกล่าวจากประเทศ ดังนั้นผลผลิตจากการบูรณาการในครั้งนี้จะช่วยลดการนำเข้าวัสดุอ้างอิงรับรองจากต่างประเทศ เพื่อมุ่งสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมในประเทศ และยกระดับระบบมาตรฐานการวิเคราะห์ทดสอบให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล
วรศักดิ์ บุรณศิริ รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิตองค์การสุรา กรมสรรพสามิต กล่าวถึงที่มาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า องค์การสุราเป็นผู้ผลิตเอทานอลบริสุทธิ์และเป็นผู้จำหน่ายรายเดียวในประเทศไทย ด้วยภารกิจที่เราต้องจัดเตรียมในเรื่องของตัวอย่างการวิเคราะห์ ที่ผ่านมาเราประสบปัญหาวัสดุที่ต้องใช้เป็นตัวอ้างอิง ซึ่งที่ผ่านมาเราไม่มีสินค้าประเภทนี้ในประเทศไทยเลย เราจึงจำเป็นต้องนำเข้าในราคาค่อนข้างสูงถึงหลักแสนบาทต่อปี เพื่อใช้ในกระบวนการดังกล่าว จากปัญหานี้จึงเกิดแนวคิดในการหาวัสดุหรือสารอ้างอิงที่สามารถจัดหาได้ในประเทศ ด้วยเหตุนี้ องค์การสุราจึงได้ร่วมมือกับสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและพัฒนาวัสดุอ้างอิงขึ้นภายในประเทศ
วรศักดิ์ กล่าวอีกว่า CRMs (Certified Reference Materials) มีประโยชน์สำคัญในการลดต้นทุน ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสหรือความถี่ในการตรวจสอบและสอบเทียบเครื่องมือได้บ่อยขึ้น จากเดิมทุก 6 เดือน อาจเพิ่มเป็นทุก 3 เดือน เพื่อให้มั่นใจในความแม่นยำของอุปกรณ์ นอกจากนี้ ต้นทุนที่ลดลงยังสัมพันธ์กับปริมาณการสั่งซื้อในกลไกตลาด หากความต้องการเพิ่มขึ้น การผลิตในปริมาณมากจะช่วยลดต้นทุนต่อหน่วย ทำให้ราคาสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น
“ขณะนี้ เรากำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรร่วมกันระหว่างองค์การสุราและสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ เพื่อให้วัสดุอ้างอิงนี้ตอบโจทย์การใช้งานและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน โดยขั้นตอนการจดสิทธิบัตรกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ” รองผู้อำนวยการฝ่ายผลิตองค์การสุรา กล่าว
ดร.จรัญ ยะฝา ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าวถึงบทบาทของสถาบันมาตรว่า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีหน้าที่ดูแลมาตรฐานการวัดของประเทศ เช่น การวัดมวล การวัดน้ำหนัก การวัดความยาว รวมถึงการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยมีเป้าหมายในการทำให้มาตรฐานการวัดของไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ด้วยการถ่ายทอดมาตรฐานการวัดนี้สู่ผู้ใช้งานในประเทศผ่านการให้บริการสอบเทียบเครื่องมือวัด ตัวอย่างเช่น แล็บสอบเทียบจะส่งเครื่องมือมาตรวจสอบที่สถาบันมาตร และเมื่อผ่านการสอบเทียบแล้ว ก็จะนำไปใช้วัดในอุตสาหกรรมต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของการวัดทางเคมี เช่น การวัดปริมาณแอลกอฮอล์ การสอบเทียบเครื่องมือวัดไม่สามารถทำได้โดยตรงเหมือนการวัดทางกายภาพ สถาบันจึงต้องผลิต สารมาตรฐานอ้างอิง หรือ Certified Reference Material (CRMs) ซึ่งเป็นสารที่ใช้สำหรับสอบเทียบเครื่องมือวัดในห้องปฏิบัติการ เช่น ไฮโดรมิเตอร์ และดีสทิลมิเตอร์ เราจึงร่วมมือกับองค์การสุรา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการพัฒนามาตรฐานการวัดของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
“CRMs ถูกใช้สำหรับการสอบเทียบเครื่องมือในห้องปฏิบัติการ โดยแล็บสามารถฉีดสารมาตรฐานนี้เข้าไปในเครื่องมือวัดโดยตรง เช่น หาก CRMs ระบุว่าเป็นเอทานอล 40% เมื่อฉีดเข้าเครื่อง เครื่องจะอ่านค่าได้อย่างแม่นยำตามมาตรฐานที่กำหนด เมื่อเครื่องผ่านการสอบเทียบเรียบร้อยแล้ว แล็บสามารถนำตัวอย่างที่ต้องการวัดมาเทียบค่าได้ทันที วิธีนี้ช่วยให้รู้ปริมาณเอทานอลหรือสารที่ต้องการวัดได้อย่างแม่นยำ ซึ่งกระบวนการนี้ใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วโลกและให้ผลลัพธ์ที่เชื่อถือได้สูง”ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กล่าว