สพภ. จับมือพันธมิตร เปิดตัว “Line BOT” นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ


สพภ. จับมือพันธมิตร เปิดตัว “Line BOT” นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ

สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) หรือ สพภ. ร่วมกับพันธมิตรเปิดตัว Line BOT เครื่องมือนำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ โดยนำนวัตกรรมด้านไอทีเข้ามาใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับเก็บข้อมูลกว่า 10 ปี เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดการบริหารจัดการการนำทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่ การเข้าถึงข้อมูลเป็นระบบและถูกต้อง นำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน นำร่องเก็บข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพด้านการเกษตร

ธนิต ชังถาวร

ดร.ธนิต ชังถาวร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (สพภ.) กล่าวว่า สพภ. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการทำงานด้านทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพในรูปแบบของระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2562 เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีอยู่กระจัดกระจายตามแต่ละพื้นที่ในแต่ละชุมชนของประเทศไทย เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาใช้ในเชิงพาณิชย์ไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์ เช่น อุตสาหกรรมยา สำหรับใช้ทางการแพทย์, อุตสาหกรรมการเกษตร เพื่อช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น สพภ.จึงมีแนวคิดและดำเนินการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีไอทีเข้ามาใช้ ด้วยการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยในการจัดเก็บข้อมูล ช่วยให้การสืบค้น ณ จุดเดียวมีความสะดวกและง่ายขึ้น เบื้องต้นได้มีการนำร่องใช้แอพพลิเคชั่นนี้จัดเก็บข้อมูลด้านการเกษตรก่อน เนื่องจากความหลากหลายทางการเกษตรมีข้อมูลมาก และประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประกอบอาชีพทางการเกษตร ควรค่าแก่การอนุรักษ์ส่งต่อสู่ชนรุ่นหลังไว้ต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศ โดยมีนวัตกรรม 2 ประเภทที่ได้นำแอพพลิเคชั่นเข้ามาเก็บเป็นฐานข้อมูล ได้แก่ 1. ระบบฐานข้อมูล Thaibiodiversity เพื่อใช้สำหรับเป็นศูนย์กลางการบริการข้อมูลที่รองรับการเชื่อมโยงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ ข้อมูลอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาชุมชนของแต่ละท้องถิ่น และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจควบคู่กับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพรองรับการเข้าถึง การติดตามและการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพสําหรับผู้ใช้งานทุกภาคส่วนสามารถเข้าดูได้ทั้งจากคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่าง ๆ และ2. Line BOT On Mobile เป็นการเชื่อมโยงข้อมูล Thaibiodiversity ระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง จากการเขียนฟังก์ชันของ API (Application Programming Interface) เพิ่มเติม เพื่อความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

“ทั้งสองแอพพลิเคชั่นที่นำมาใช้จะเป็นประโยชน์สร้างมูลค่าเพิ่ม เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้แก่ชุมชน ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ จะต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจในการทำงานของทุก ๆ ฝ่ายร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยทรัพยากรชีวภาพเพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจชีวภาพในภูมิภาคอาเซียนในอนาคตให้ได้” ดร.ธนิต กล่าว

Line BOT

วิธีการใช้ Line BOT

วสุเทพ ขุนทอง หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาให้บริการความรู้ และงานประยุกต์ ศูนย์ความรู้เฉพาะด้านวิศวกรรมความรู้และวิศวกรรมภาษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า Line BOT คือ เครื่องมือสำหรับนำเสนอข้อมูลรายการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ โดย สพภ.ได้พัฒนาเครื่องมือสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่แสดงผลบนเครื่องมือดังกล่าวนั้น จะถูกเรียกข้อมูลมาจากระบบฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงและติดตามข้อมูลด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สอบถามรายละเอียดที่น่าสนใจได้ผ่านทาง @thaibiodiversity เบื้องต้นนำร่องการจัดทำข้อมูลด้านการเกษตรเป็นเรื่องแรก เนื่องจากข้อมูลทางด้านการเกษตรเป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชนคนไทยและข้อมูลฐานชีวภาพทางด้านการเกษตรสามารถที่จะแตกแขนงเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลในด้านอื่น ๆ ได้หลากหลาย เช่น การแพทย์ การค้า การพาณิชย์ เป็นต้น ซึ่งรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลฐานชีวภาพทางด้านการเกษตรจะแบ่งเป็น การจัดเก็บตามกลุ่มของทรัพยากรชีวภาพ เช่น กลุ่มพืช, กลุ่มสัตว์, กลุ่มจุลินทรีย์, กลุ่มเจ้าของภูมิปัญญาท้องถิ่น, กลุ่มสินค้าและผลิตภัณฑ์ของดีประจำภูมิภาค, ข้อมูลผู้ประกอบการ ข้อมูลงานวิจัย และกลุ่มสินค้าใกล้บ้าน โดยจะแสดง 5 อันดับแรกที่ผู้ค้นหาต้องการทราบ และมีการแสดงผลรายการข่าวสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของระบบ เป็นต้น

ประโยชน์ของการใช้แอพพลิเคชั่น Line BOT

สำหรับประโยชน์ของการใช้แอพพลิเคชั่น Line BOT มีประโยชน์ที่สำคัญโดยเฉพาะการจัดเก็บข้อมูลฐานชีวภาพของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในหน่วยงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หรือเชื่อมโยงกับกระทรวง หน่วยงานวิจัยต่าง ๆ เช่น สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ กรมป่าไม้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.), กรมประมง กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นต้น เพื่อบูรณาการจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระบบตามหมวดหมู่เป็นคลังฐานข้อมูลชีวภาพเพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานในการสืบค้น ณ จุดเดียว เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ในการจำแนกชนิดพันธุ์ทรัพยากรฐานรากชีวภาพที่ถูกต้องตามหลักวิชาการให้กับทุก ๆหน่วยงาน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนกำลังคนในด้านความเชี่ยวชาญด้านฐานชีวภาพแต่ละประเภทให้มีกำลังคนที่ตรงกับการทำงาน โดยเฉพาะการสืบค้นเพื่อนำไปทำการวิจัยเพื่อพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางด้านพาณิชย์ โดยให้เจ้าของข้อมูลชีวภาพในแต่ละพื้นที่มีส่วนร่วมในการเข้ามาร่วมเรียนรู้การทำวิจัย การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย การอนุรักษ์และขยายพันธุ์ทรัพยากรชีวภาพตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีการเคลื่อนย้ายทรัพยากรชีวภาพแต่ละประเภทในพื้นที่เข้าหรือออกนำไปศึกษาค้นคว้าต้องมีการบันทึกตามจริง เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพสายพันธุ์ลำไย ตำบลหนองช้างคืน อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ซึ่งถือเป็นต้นกำเนิดลำไยต้นแรกของจังหวัดลำพูน มีการเก็บรวบรวมสายพันธุ์ลำไยไว้เพื่อทำการขยายพันธุ์ ตัดแต่งผสมพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ ๆ มีรสชาติหวาน เนื้อเยอะ เปลือกบางเป็นที่ต้องการของตลาดและเป็นที่นิยมในปัจจุบันกว่า 12 สายพันธุ์ เช่น อีดอ แก้วยี่ เบี้ยวเขียว และพวงทอง เป็นต้น ซึ่งสายพันธุ์เบี้ยวเขียวทางตำบลหนองช้างคืนได้ผลักดันขอขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชีทางภูมิศาสตร์ (GI) ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

ที่สำคัญจะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการจัดทำฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทย ส่วนในอนาคตกำลังพัฒนาให้แอพพลิเคชั่น Line BOT นี้สามารถที่จะโต้ตอบหรือตอบข้อสงสัยจากผู้ที่เข้าใช้งานที่ส่งคำถามเข้ามา ด้วย AI ควบคุมการตอบคำถามแบบอัตโนมัติ และจะเพิ่มฐานข้อมูลด้านอุตสาหกรรม ด้านการส่งออก และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

แอพพลิเคชั่น Line BOT นำเสนอข้อมูลด้านเศรษฐกิจและความหลากหลายทางชีวภาพ

ใช้เทคโนโลยีพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทย

อุบล มุสิกวัตร ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า การเก็บข้อมูลทรัพยากรทางธรรมชาติในแต่ละประเภทเพื่อนำมาจัดเก็บในฐานข้อมูลของ ทส. นั้น มีการดำเนินการจัดเก็บมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเป็นฐานข้อมูลของ พืช สัตว์ ป่าไม้ แม่น้ำ พื้นที่สงวน พื้นที่อนุรักษ์และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การใช้งานสืบค้นได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว มีการเชื่อมต่อการใช้งานสืบค้นภายใน ทส. ซึ่ง สภพ. ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ ทส. จึงทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลฐานข้อมูลทรัพยากรชีวภาพระหว่างกันทำได้ง่าย การจัดทำนโยบายต่าง ๆ ก็มีการร่วมทำงานให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน แต่ก็ยังมีมีข้อจำกัดในการสืบค้นสำหรับข้อมูลที่มีความอ่อนไหวของทรัพยากรชีวภาพที่มีมูลค่าที่ ทส.ไม่สามารถที่จะให้ สภพ.หรือหน่วยงานอื่น ๆ เข้าถึงเพื่อความมั่นคงของประเทศตามข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ เช่น พื้นที่แนวชายแดน, พื้นที่ทางทรัพยากรทะเลแนวเขตประเทศเพื่อนบ้าน, ทรัพยากรสัตว์ป่าสงวน ป่าไม้ และพื้นที่แร่ธาตุหายาก เป็นต้น แต่ก็ได้มีการจัดทำพิกัดทางดาวเทียมในพื้นที่ที่ไม่ให้หน่วยงานอื่นใดเข้าถึงเป็นพื้นที่สีแดงระบุลงในแผนที่พิกัดต่าง ๆ ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ รับทราบ ส่วนเรื่องอื่นทางศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารพร้อมที่จะร่วมแลกเปลี่ยน แนะนำ และร่วมพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการเข้าถึงข้อมูลทรัพยากรชีวภาพของประเทศไทยเพื่อประโยชน์แก่ทุก ๆ คน พร้อมทั้งยินดีที่จะแลกเปลี่ยนบุคลากรในการเข้ามาร่วมทำงานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีนำไปใช้ในการสำรวจ ในการอนุรักษ์พื้นที่ทรัพยากรชีวภาพของประเทศให้มีประสิทธิภาพ

ภัทรินทร์ ทองสิมา ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและยุทธศาสตร์ กองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพติด 1 ใน 10 ของโลกโดยเฉพาะด้านการเกษตร เพราะประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ มีการอนุรักษ์และมีกฎหมายกำกับดูแลเพื่อให้การต่อยอดนำข้อมูลฐานชีวภาพทางการเกษตรไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการต่อยอดสร้างงานวิจัย การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ พืชที่หายากที่ควรมีการคิดค้นให้มีการปลูกเพิ่มเติม กำหนดพื้นที่อนุรักษ์ให้ชัดเจนและไม่ควรมีการใช้สารเคมีที่ก่ออันตรายในพื้นที่แหล่งฐานชีวภาพ ไม่ใช่แค่ทำลายพืชเศรษฐกิจ แต่จะทำลายทรัพยากรดิน ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรทางอากาศและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงาน กระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องได้พยายามกำหนดแผนการดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มกำลัง แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหลาย ๆ พื้นที่ที่ยังมีการละเมิด รุกล้ำเข้าไปทำลายแหล่งทรัพยากรชีวภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แหล่งพืชเศรษฐกิจ ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรวบรวมข้อมูลด้านการสำรวจพื้นที่ สำรวจข้อมูลบ่งชี้ข้อมูลฐานชีวภาพแต่ละชนิดแล้วเชื่อมโยงให้ทุกหน่วยงานเข้าถึง ให้ทราบข้อมูลว่าพื้นที่ส่วนไหนมีข้อมูลฐานชีวภาพอะไรอยู่บ้าง และข้อมูลฐานชีวภาพอะไรที่กำลังถูกทำลายต้องการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน อาจจะต้องการกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลเพิ่มขึ้น ลาดตระเวนดูแลให้ถี่ขึ้น ที่สำคัญจะช่วยให้การจัดสรรงบประมาณในการเข้าไปดูแล เข้าไปช่วยเหลือตอบโจทย์ในแต่ละพื้นที่อย่างเหมาะสม สร้างความมั่นคงจากระดับฐานราก ชุมชน ประชาชน สู่ระดับสังคม ประเทศ ลดความเลื่อมล้ำทางรายได้อย่างยั่งยืน

สุเมธ ท่านเจริญ นักวิจัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า การนำเครื่องมือทางด้านวิศวกรรมที่คิดค้นได้มาใช้สำหรับการสำรวจข้อมูลฐานชีวภาพของไทยในแต่ละภูมิภาคนั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและกฎหมายที่ควบคุมด้วย เช่น การนำโดรนขึ้นบินสำรวจพื้นที่ป่าไม้ ถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่สงวนหรือพื้นที่ที่เข้าไปไม่ถึง ต้องขออนุญาตหน่วยงานที่ดูแลล่วงหน้าและมีหนังสืออนุญาตที่เป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมทั้งต้องทราบด้วยว่าพื้นที่ที่นำโดรนขึ้นบินนั้นได้รับอนุญาตให้ใช้โดรนบินสำรวจหรือไม่ และโดรนที่นำขึ้นบินมีการจดทะเบียนขอใช้งานหรือยัง ไม่ใช่ใครก็ได้จะนำโดรนไปบินสำรวจ เพราะอาจจะสร้างความเสียหายแก่ป่าไม้ ทำลายการใช้ชีวิตของสัตว์ป่าได้ สร้างความตื่นตระหนกแก่สัตว์ป่าในพื้นที่, นำโดรนไปใช้ในการบินโรยหว่านเมล็ดพันธุ์ รดน้ำ ใส่ปุ๋ยในแปลงเพาะปลูกของเกษตรกรจะช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานได้อีกทางหนึ่ง และการนำโดรนเข้าไปสำรวจไฟป่าแล้วนำส่งน้ำเข้าไปช่วยดับไฟในพื้นที่สำคัญเพื่อลดความสูญเสียของป่าที่จะถูกไฟป่าทำลาย นอกจากนี้การนำจุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมทางธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเพื่อนำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการย่อยสลายขยะ และควบคุมคุณภาพของน้ำเสีย สำหรับภาคอุตสาหกรรมก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ ชุมชนรอบ ๆ เป็นต้น ทั้งนี้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นที่จะต้องให้การสนับสนุนไม่ใช่แค่งบประมาณในการดำเนินการ แต่ควรสนับสนุนกำลังคน งานวิจัย และการลงพื้นที่เข้าไปสำรวจ ช่วยเหลือนักวิจัย ประชาชน หน่วยงานราชการในพื้นที่ที่อยู่ห่างไกลแต่มีข้อมูลทางชีวภาพที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศที่มีความหลากหลายในแต่ละภูมิภาคอย่างสม่ำเสมอ และมีการจัดทำข้อมูลที่เชื่อมโยงเกี่ยวกับฐานชีวภาพแต่ละพื้นที่จะทำให้การทำงานร่วมกันในการติดตามผลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพของประเทศไทยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save