ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI กลายเป็นเทคโนโลยีที่ใกล้ตั
สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้
ผศ. ดร.สุภชัย วงศ์บุณย์ยง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการใช้ชีวิตประจำวัน ที่บางครั้งเราอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกนำโดย AI และหุ่นยนต์อยู่ เช่น เมื่อเราต้องการค้นหาร้านอาหารหรือสินค้า เรามักจะได้รับคำแนะนำจาก Influencers หรือการแนะนำต่างๆ ซึ่งเบื้องหลังสิ่งเหล่านี้คือ อัลกอริทึม AI ที่เรียนรู้จากพฤติกรรมของเราและพยายามที่จะแนะนำหรือชักจูงให้เราทำตาม เช่น ไปกินข้าวร้านที่แนะนำหรือซื้อของตามคำแนะนำ ทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจคือ “ใครควบคุมใครกันแน่” ระหว่างมนุษย์ กับ AI และหุ่นยนต์ ดังนั้น การจะใช้ประโยชน์จาก AI เราควรต้องทำอย่างไร และต้องระวังอะไรบ้าง และหากเราเป็นผู้ควบคุม เราจะต้องรู้เท่าทันในเรื่องนี้อย่างไร”
เป้าหมายหนึ่งของงานคือการช่วยให้ผู้คนได้รู้เท่าทัน และเข้าใจว่า เราจะใช้ประโยชน์จาก AI อย่างไร เพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้นมากกว่าแค่การกังวลว่า AI จะมาแย่งงาน เพราะเริ่มมีความเข้าใจกันมากขึ้นแล้ว แต่ประเด็นที่เราควรพูดถึงตอนนี้คือจะปรับตัวอย่างไร และจะใช้ AI และหุ่นยนต์อย่างไรให้เกิดประโยชน์เพื่อทำให้ชีวิตของคนเราดีขึ้น เพราะถ้าเราใช้ AI อย่างไม่ถูกต้องอาจมีผลเสียได้ ดังนั้นจึงต้องสร้าง ความตระหนักรู้ (awareness) เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะผลกระทบต่อด้านการศึกษาและการเรียนรู้ของเด็กในยุคดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่เกิดมาในยุคปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ชีวิตโดยไม่มี AI เด็กๆ สามารถเริ่มต้นทำความรู้จักและเรียนรู้การทำงานของ AI และหุ่นยนต์ได้ตั้งแต่ยังเล็ก ผ่านการเล่นหรือกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ซึ่งช่วยสร้างความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการเรียนรู้ในยุคใหม่ ที่ไม่ใช่เพียงการสอนเนื้อหา แต่เป็นการสอนให้รู้จักใช้ AI อย่างมีวิจารณญาณ โดยเฉพาะเมื่อ AI ถูกนำมาใช้ในเรื่องใกล้ตัว เช่น การทำการบ้านของเด็ก หรือการตรวจการบ้านของครู ซึ่งหากขาดการกลั่นกรองหรือใช้ความคิดของมนุษย์ อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่ AI พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ทักษะของคนกลับลดลง
ขณะที่เว็บไซต์ Healthy Children ได้แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้ AI ในเด็ก โดยระบุว่า เด็กเล็กอาจเผลอแบ่งปันข้อมูลส่วนบุคคลให้กับแพลตฟอร์ม AI โดยไม่รู้เท่าทัน รวมถึงมีแนวโน้มที่จะมองว่าแพลตฟอร์ม AI มีความคล้ายคลึงกับมนุษย์มากเกินไป งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า เด็กอายุระหว่าง 3 ถึง 6 ปีมีความเชื่อว่าลำโพงอัจฉริยะสามารถ “คิด” หรือ “รู้สึก” ได้จริง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านความเข้าใจในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการโต้ตอบกับมนุษย์ในโลกความเป็นจริง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่เด็กจะไว้วางใจ AI มากกว่าการไว้วางใจมนุษย์ จากผลการสำรวจยังพบว่า มีเพียง 1 ใน 4 ของผู้ปกครองเท่านั้นที่ทราบว่าบุตรหลานของตนมีการใช้งาน AI อยู่
การเรียนรู้ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทจึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่เหมาะสม ไม่ใช่เพียงใช้ AI เพื่อค้นหาคำตอบแทน แต่ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (critical thinking) เพื่อประเมินว่าสิ่งที่ AI ตอบนั้นถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่ รวมถึงสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างมีเหตุผล ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ และเป็นหัวใจของการเรียนรู้ในโลกอนาคตที่มี AI เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
“การรู้เท่าทันเทคโนโลยี จะช่วยให้เข้าใจว่า AI ไม่ได้น่ากลัว หรือ “กัด” อย่างที่หลายคนกลัว แต่กลับเป็นเครื่องมือที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ หากเรารู้จักใช้มันอย่างถูกวิธี และระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอย่างไม่เหมาะสม” ผศ. ดร.สุภชัย กล่าวทิ้งท้าย