มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของโลก และเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่างแท้จริง ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้อย่างจริงจัง เพื่อให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ หรือ New Growth Engine เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศในบริบทที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ไทยจึงต้องเร่งสร้าง “กำลังคนสมรรถนะสูง” ให้มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของบริษัทภายในประเทศ รวมถึงเพื่อรองรับการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มเติมในอนาคต
ทั้งนี้ กระทรวง อว. ได้กำหนดแผนอย่างเป็นระบบ ภายใต้กรอบนโยบาย “อว. for Semiconductor” ตั้งเป้าหมายพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง จำนวน 80,000 คน ภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2569–2573) มุ่งเน้นการดำเนินงานโดยบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน รวมถึงหน่วยงานชั้นนำระดับโลก และขับเคลื่อนโปรแกรมการผลิตและพัฒนากำลังคนในหลากหลายรูปแบบ อาทิ โครงการ Semiconductor Bootcamp เพื่อเตรียมนักศึกษาชั้นปี 3-4 เข้าสู่อุตสาหกรรมจริง การพัฒนาหลักสูตรเฉพาะทางด้านวิศวกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หลักสูตรระยะสั้นเพื่อ Upskill/Reskill โปรแกรม Train the trainer เพื่อพัฒนาอาจารย์และนักวิจัย ตลอดจนทุนปริญญาเอกแบบมุ่งเป้าด้าน IC Design โดยเฉพาะการจัดตั้ง National Semiconductor Training Centers ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกหลักในการพัฒนากำลังคน และการสร้างความร่วมมือเชิงลึกร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ
ด้าน ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า กระทรวงได้เดินหน้าผลักดันการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงอย่างเป็นระบบ โดยจัดทำแผนพัฒนากำลังคนและขับเคลื่อนการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมจัดตั้ง National Semiconductor Training Centers เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางความร่วมมือระหว่างภาครัฐ การศึกษา อุตสาหกรรม และเครือข่ายระดับโลก ในด้านการพัฒนาหลักสูตร การฝึกอบรม และการวิจัย
ในระยะแรก กระทรวงได้คัดเลือกสถาบันที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง 3 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มุ่งเน้น IC Testing และการขับเคลื่อนหลักสูตร Sandbox ด้านเซมิคอนดักเตอร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC Packaging และการสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (มทม.) มุ่งเน้นการอบรมในด้าน IC and PCB Layout Design และการสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับสถาบันต่างประเทศ
“กระทรวง อว. มุ่งมั่นขับเคลื่อนศูนย์ฯ ให้เป็นกลไกหลักในการพัฒนากำลังคนของประเทศอย่างเป็นระบบ โดยยึดหลักความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชน เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและยั่งยืนให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไทย โดยตั้งเป้าในปี 2568 จะพัฒนากำลังคนอย่างน้อย 1,200 คน และขยายเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันและสถานประกอบการทั้งในและต่างประเทศกว่า 10 แห่ง” ปลัดกระทรวง อว. กล่าว
ศ.ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า มจพ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 โดยเริ่มจากความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการจัดทำหลักสูตรและพัฒนาห้องปฏิบัติการเฉพาะทาง รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในไทยที่มีห้องปฏิบัติการประกอบอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ภายในมหาวิทยาลัย ต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรด้านแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) และในปี 2561 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวง อว. จัดตั้งหลักสูตรวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการผลิตบุคลากรสมรรถนะสูงด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
“ปัจจุบัน มจพ. เปิดสอนหลักสูตรด้านเซมิคอนดักเตอร์และ PCB ครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวม 5 หลักสูตร พร้อมด้วยความพร้อมทั้งองค์ความรู้ คณาจารย์ ห้องปฏิบัติการ และระบบนิเวศการเรียนรู้ ทำให้ได้รับคัดเลือกจากกระทรวง อว. ให้เป็น 1 ใน 3 ศูนย์พัฒนากำลังคนด้านเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ โดยในปีงบประมาณ 2568 พร้อมตั้งเป้าผลิตบุคลากรสมรรถนะสูง 600–700 คน และขยายเป็น 1,000–1,200 คนในปีถัดไป เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรม ตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวง อว.” อธิการบดี มจพ. กล่าว