สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ปล่อยคาราวานส่งมอบตู้ตรวจเชื้อ COVID-19 แบบความดันลบซึ่งใช้สำหรับผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงติดเชื้อเข้ารับการตรวจจากภายในตู้และมีระบบฆ่าเชื้อเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานต่อและตู้ความดันบวกที่ใช้หลักการทำงานโดยแพทย์ประจำอยู่ในตู้เพื่อตรวจเชื้อจากผู้ที่อยู่ภายนอกช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่แพทย์และทำให้แพทย์ตรวจเชื้อได้หลายครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนชุด PPE ล็อตแรกจำนวน 50 ตู้และเตรียมเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 130 ตู้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2563 เพื่อส่งต่อให้โรงพยาบาล 200 โรงพยาบาลทั่วประเทศรวมทั้งโรงพยาบาลจังหวัดชายแดนภาคใต้
ศ. ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาทีมนักวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสจล.ได้รวมพลังกันพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมพร้อมนำเสนอแก่ทีมแพทย์เพื่อรับฟังเสียงตอบรับ และนำมาปรับปรุงต่อยอดเป็นผลงานนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์ต่อวงการการแพทย์ ล่าสุดสจล.ประสบความสำเร็จในการผลิตตู้เชื้อ COVID-19 (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) ใช้สำหรับผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงติดเชื้อเข้ารับการตรวจจากภายในตู้และมีระบบฆ่าเชื้อเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานต่อ ทั้งก่อนและหลังทำงานตรวจ ทำให้มั่นใจได้ว่าปลอดการติดเชื้ออย่างแน่นอนและแบบความดันบวก (Positive Pressure) ที่ใช้หลักการทำงานโดยแพทย์ประจำอยู่ในตู้เพื่อตรวจเชื้อจากผู้ที่อยู่ภายนอกช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้แก่แพทย์และทำให้แพทย์ตรวจเชื้อได้หลายครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนชุด PPE ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยอำนวยความสะดวกการตรวจคัดกรองผู้เสี่ยงติดเชื้อ COVID-19 ได้อย่างปลอดภัยอีกทั้งรองรับการคัดกรองผู้ป่วยได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้นและสจล.พร้อมนำส่งตู้ความดันลบและตู้ความดันบวกล็อตแรกจำนวน 50 ตู้ แก่โรงพยาบาลจังหวัดชายแดนภาคใต้โรงพยาบาลที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ที่มีตัวเลขจำนวนมาก และโรงพยาบาลในค่ายทหารก่อนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้ 130 ตู้ ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้
นอกจากนี้ สจล.ได้มอบนวัตกรรมทางการแพทย์ไปพร้อมกับการส่งมอบตู้ตรวจเชื้อ COVID-19 แบบความดันลบและความดันบวกเช่น เครื่องช่วยหายใจแบบพกพา (Go Life Ventilator) ดัดแปลงจากเครื่องช่วยหายใจด้วยมือโดยหลักการของเครื่องช่วยหายใจดังกล่าวได้รับแนวคิดมาจากเครื่องช่วยหายใจชนิดบีบมือ (AmbuBag) ซึ่งทีมนักพัฒนานวัตกรรมได้นำมาประยุกต์ใช้กับระบบควบคุมโดยแมคคานิคที่สามารถตรวจจับจังหวะการหายใจของผู้ป่วยและเครื่องจะทำการบีบอัดแรงดันบวกเข้าไปโดยอัตโนมัติในจังหวะที่เข้ากับอัตราการหายใจของผู้ป่วยทำให้การใช้งานมีความง่ายสะดวกและปลอดภัยผ่านมาตรฐานการตรวจสอบระดับสูง มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000-10,000 บาทขณะที่เครื่องช่วยหายใจขนาดใหญ่ที่ใช้ในโรงพยาบาลมีต้นทุนการผลิตถึงเครื่องละเกือบ 1 ล้านบาท
ตามด้วยน้องกระปุกหุ่นยนต์ส่งอาหารยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยเพื่อลดโอกาสเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ไม่ต้องเข้าไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อการใช้งานง่ายเพียงแค่กดปุ่ม On และใช้รีโมทควบคุมการขนส่งน้องกระปุกก็ทำงานแล้วและหลังการใช้งานก็สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ๆเพียงแค่นำเข้าเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคในระบบปิดหรือเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์และน้ำยาฆ่าเชื้อได้เลยและ ตู้อบฆ่าเชื้อด้วย UV-C แบบพกพาสามารถฆ่าเชื้อจุลินทรีย์บนผิวด้วยแสง UV-C ที่ความยาวคลื่น 253.7 มิลลิเมตรสามารถฆ่าเชื้อหน้ากากอนามัยได้ครั้งละ 12 ชิ้นเป็นต้น
รศ. ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ส่วนการใช้งานของตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure) จะมีรูปแบบที่ผู้เข้ารับการตรวจเชื้อเข้าไปนั่งในจุดที่กำหนดเพื่อให้แพทย์สอดมือเข้าไปในช่องเพื่อทำหัตถการ Swab เชื้อจากช่องโพรงจมูกและกระพุ้งแก้มของผู้ป่วยผ่านระบบเก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยแบบปลอดเชื้อ โดยภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันลบพร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อด้วย UV-C และ HEPA ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอกเพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่ภายนอกเมื่อเปิดประตูรวมถึงควบคุมการปนเปื้อนของเชื้อขณะแพทย์ทำหัตถการอีกทั้งมีระบบฆ่าเชื้อด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์และหลอดไฟฆ่าเชื้อ UV ทั้งก่อนและหลังทำหัตถการเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจเชื้อรายต่อไปนอกจากนี้ตู้ดังกล่าวยังถูกออกแบบให้เคลื่อนที่ได้เพื่อความสะดวกในการขนย้ายและสามารถเคลื่อนไปตั้งที่จุดคัดกรองในสถานที่ต่าง ๆตามความต้องการใช้งาน
น้องกระปุก” หุ่นยนต์ส่งอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ ให้กับผู้ป่วย
การปล่อยคาราวานในครั้งนี้มี พล.ท.ธรรมนูญ วิถี แม่ทัพภาคที่ 1 รับมอบตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) แบบความดันลบ (Negative Pressure)เพื่อนำไปใช้ในโรงพยาบาลในค่ายทหารเช่นโรงพยาบาลค่ายภาณุรังษี จังหวัดราชบุรี, โรงพยาบาลค่ายนวมินทราชินี จังหวัดชลบุรี, โรงพยาบาลค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี และโรงพยาบาลค่ายรามราชนิเวศน์จังหวัดเพชรบุรีเป็นต้น
สำหรับโรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่สนใจรับนวัตกรรมการแพทย์สู้ COVID-19 สามารถติดต่อได้ที่ สำนักงานบริหารงานวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) โทรศัพท์ 09-1812-0416 หรืออีเมล์ kannika.li@kmitl.ac.th หรือประชาชนที่สนใจร่วมสมทบทุนการผลิตเพื่อแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลทั่วประเทศสามารถบริจาคได้ที่ธนาคารกรุงไทยชื่อบัญชี สจล.นวัตกรรมสู้ COVID-19 เลขที่บัญชี 693-031-750-0