ITAP สวทช. ร่วมกับเครือข่าย ม.พะเยา นำ ว&ท. หนุน SME 2 แห่งเพิ่มกำลังการผลิต – ลดต้นทุนพลังงาน


ITAP สวทช. ร่วมกับเครือข่าย ม.พะเยา นำ ว&ท. หนุน SME 2 แห่งเพิ่มกำลังการผลิต - ลดต้นทุนพลังงาน

โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ มหาวิทยาลัยพะเยา นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้การสนับสนุน ผู้ประกอบการ 2 แห่ง ในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด โดยนำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ (ไบโอแก๊ส) เพื่อช่วยแก้ปัญหาระบบบำบัดน้ำเสีย นำน้ำเสียที่ได้ไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และการกวนตะกวนบ่อหมักที่เกิดจากการเลี้ยงไก่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ลดต้นทุนพลังงาน 30% และห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮโซ แซ่บ ด้วยการออกแบบและทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยให้การอบแห้งผลิตภัณฑ์เส้นขนมและผลิตภัณฑ์อื่นๆให้สามารถอบแห้งได้ทุกๆวัน เพิ่มกำลังการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร

ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อำนวยการโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการ SME ไทยมีการประกอบธุรกิจที่หลากหลายตามธุรกิจดั้งเดิมและธุรกิจสมัยใหม่แต่ประสบปัญหารูปแบบเดียวกันคือ ขาดการเข้าถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในรูปแบบที่มีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยแนะนำ เพื่อเติมเต็มในส่วนที่ขาด ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่ายต้นทุนในการทำธุรกิจ นำของเสียภายในแต่ละธุรกิจมาใช้ให้เป็นประโยชน์เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น รวมทั้งสร้างโอกาสในการแข่งขันในตลาดอย่างยั่งยืน

เพื่อเป็นการตอบโจทย์ดังกล่าวแก่ผู้ประกอบการ SME ในภาคเหนือ ITAP สวทช.จึงได้ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยพะเยาให้การสนับสนุนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการกับ ITAP ประกอบด้วย บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ซึ่งประกอบกิจการฟาร์มปศุสัตว์ ประเภทเลี้ยงไก่รุ่นพันธุ์ไข่ ไก่ไข่ เลี้ยงสัตว์และกิจการคอกปศุสัตว์ ที่ตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง โดยนำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ (ไบโอแก๊ส) เพื่อช่วยแก้ปัญหาระบบบำบัดน้ำเสีย นำน้ำเสียที่ได้ไปเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และการกวนตะกวนบ่อหมักที่เกิดจากการเลี้ยงไก่ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮโซแซ่บที่ตำบลแม่ต๋ำ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งประกอบธุรกิจแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเป็นเส้นขนมจีนอบแห้ง และแปรรูปวัตถุดิบอื่นๆที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าขนมจีนอบแห้ง เช่น พริก ดอกอัญชัน ดอกงิ้ว ขมิ้น เป็นต้น โดยออกแบบและทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยให้การอบแห้งผลิตภัณฑ์เส้นขนมและผลิตภัณฑ์อื่นๆให้สามารถอบแห้งได้ทุกๆวันสามารถเพิ่มกำลังการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับพืชผลทางการเกษตรไทย และมีคุณภาพถูกต้องตามหลักอาหารปลอดภัย

รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ

โครงการ ITAP เครือข่าย มหาวิทยาลัยพะเยาสร้างเครือข่าย SME ภาคเหนือให้เข้มแข็ง – มีรายได้เพิ่มขึ้น

รศ.ดร.ต่อพงศ์ กรีธาชาติ ผู้จัดการเครือข่าย ITAP-UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่าเครือข่าย มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เข้ามาเป็นเครือข่าย ITAP ตั้งแต่ในปีพ.ศ. 2561 มีภารกิจหลัก คือ ทำหน้าที่ช่วยเหลือและให้บริการผู้ประกอบการ SME ไทยในพื้นที่ภาคเหนือ ด้วยการนำเทคโนโลยีที่เข้าใจง่าย มีฟังก์ชันในการทำงานไม่ซับซ้อนและมีต้นทุนไม่สูงเหมาะสมกับธุรกิจแต่ละประเภท เช่น โครงการพลังงานและสิ่งแวดล้อม, โครงการพัฒนาเครื่องจักรด้านวิศวกรรมศาสตร์, การส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเกษตร, นวัตกรรมอาหาร, การแปรรูปอาหาร,Smart Farm และโครงการทางด้านมาตรฐานการพัฒนาเครื่องสำอาง เป็นต้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่และจากส่วนกลางเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยสู่ชุมชนและติดตามประเมินการทำงานการให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME อย่างต่อเนื่อง

ตลอดระยะเวลา 3 ปี ในการทำงานที่ผ่านมา นอกจากผู้ประกอบการ SME จะมีองค์ความรู้เติมเต็มมากยิ่งขึ้นแล้วยังสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SME ทางภาคเหนือให้มีความเข้มแข็ง สร้างธุรกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ประกอบการ SME เข้าร่วมโครงการในปีแรกประมาณ 25 ราย ต่อมาในปีที่ 2 และปีที่ 3 มีผู้ประกอบการเห็นตัวอย่างจากผู้ประกอบการปีแรกที่เข้าร่วมโครงการ แล้วนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปใช้เกิดประโยชน์ได้จริงในธุรกิจนั้นๆ จนประสบความสำเร็จ จึงสนใจเข้าร่วมประมาณปีละ 70 ราย

ดร.ศตวรรษ ทนารัตน์

รวมพรมิตรฟาร์มใช้ระบบบำบัดเสียน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ผลิตก๊าซชีวภาพได้ 5,000 คิวต่อวัน

ดร.ศตวรรษ ทนารัตน์ อาจารย์ประจำคณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่าโดยทั่วไปฟาร์มเลี้ยงสัตว์จากการทำการเกษตรอุตสาหกรรมจะมีโจทย์เรื่องการจัดการน้ำเสียเป็นหลักเนื่องจากน้ำเสียจะมีความสกปรกสูงกว่าการทำเกษตรอุตสาหกรรมประเภทอื่นๆเช่นเดียวกับ บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ดังนั้น ทีมผู้เชี่ยวชาญจึงได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศขนาด 18,000 ลูกบาสก์เมตร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนน้ำเสียและของเสียให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพ เป็นพลังงานทดแทนหมุนเวียนที่นำกลับมาใช้ภายในฟาร์มได้ เพื่อผลิตไฟฟ้าไว้ใช้ในกิจการ

สำหรับระบบบำบัดเสียน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศ ของเสียจะถูกย่อยสลายแล้วกลายเป็นก๊าซชีวภาพ ซึ่งคือก๊าซมีเทน สามารถที่จะนำไปใช้ในรูปของแก๊สสำหรับหุงต้มอาหารได้ที่สำคัญช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นการหมักย่อยน้ำเสียในระบบปิด และน้ำที่ผ่านการบำบัดจะสะอาดได้มาตรฐานตามที่กรมควบคุมมลพิษกำหนดไว้ ซึ่งทีมผู้เชี่ยวชาญมีความพยายามที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบและนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้น เช่น การออกแบบให้ระบบใช้พื้นที่ในการติดตั้งให้น้อยลง ใช้เงินลงทุนน้อยลง แต่ประสิทธิภาพการหมักย่อยสูงขึ้น การออกแบบพัฒนาให้ระบบสามารถรองรับน้ำเสียที่มีสภาวะแตกต่างกันมาก ๆ ได้ภายในระบบเดียว และการเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสามารถผลิตก๊าซชีวภาพในปริมาณที่สูงขึ้น

ในส่วนของระบบกวนตะกอนผสมแบบเชิงกลในบ่อบำบัดน้ำเสียแบบ Airlife เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ผู้เชี่ยวชาญได้นำมาใช้ในการพัฒนาหรือเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำเสียไม่ใช้อากาศในการทำงาน ช่วยกระตุ้นการปฏิกิริยาแก๊สให้ออกมาจำนวนมากขึ้นขณะนี้ภายในฟาร์มแห่งนี้สามารถที่จะผลิตก๊าซชีวภาพได้ประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันนอกจากนี้ก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ยังไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าขับเคลื่อนพัดลมภายในโรงเรือนเลี้ยงไก่ ปั๊มสูบน้ำ และอื่นๆช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานภายในบริษัทฯ ได้ประมาณ 30 % เมื่อเทียบกับการใช้พลังงานทั้งหมดภายในฟาร์ม

ชาญวิทย์ เวชชากุล

นำน้ำเสียผลิตไบโอแก๊สเป็นพลังงานกลับมาใช้ภายในฟาร์ม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน – ผลิตไข่ไก่สดได้มาตรฐาน

ชาญวิทย์ เวชชากุล กรรมการผู้จัดการบริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัท รวมพรมิตรฟาร์ม จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2526 เริ่มต้นกิจการฟาร์ม ที่สำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยการเลี้ยงเป็ดก่อนแล้วมาเริ่มเลี้ยงไก่ ซึ่งนำเข้าพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ไก่ไข่จากประเทศยุโรปเข้ามาเลี้ยง ประมาณ 50 ตัว เพื่อให้ได้ลูกไก่สายพันธุ์ไก่ไข่ชั้นดีเป็นแม่พันธุ์ออกไข่และ ขยายพันธุ์ต่อสู่รุ่นต่อๆไป จากนั้นเมื่อตลาดมีความต้องการไข่ไก่มากขึ้นจึงได้เพิ่มจำนวนการเลี้ยงขึ้นเป็น200-500 ตัว โดยผสมผสานทั้งซื้อเข้ามาเพิ่มและเลี้ยงจากลูกไก่ที่คลอดออกมาจากฟาร์มประมาณ 18 สัปดาห์ เพื่อที่จะให้ออกไข่เพื่อจำหน่าย แต่ด้วยพื้นที่ในเชียงใหม่มีข้อจำกัดหลายอย่างทั้งเรื่องชุมชน สิ่งแวดล้อมและการขยายพื้นที่สร้างฟาร์มเพิ่มได้ยาก บริษัทฯ จึงได้ตัดสินขยายกิจการก่อสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่โดยเฉพาะในแบบระบบปิด หรือ Evap System เพิ่มที่ตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง บนพื้นที่ประมาณกว่า 158ไร่ แบ่งเป็นสัดส่วน ประกอบด้วย โรงเรือนสำหรับเลี้ยงไก่ 8 อาคาร, พื้นที่สีเขียวไว้ปลูกไผ่และต้นไม้อื่นๆเพิ่มออกซิเจนและทำแนวพื้นที่แบ่งสัดส่วนของบริษัทฯ, ที่พักคนงานอีกส่วนหนึ่งอยู่ด้านหน้าทางเข้าบริเวณแยกต่างหากจากตัวอาคารเลี้ยงไก่ไข่, พื้นที่เข้าออกฟาร์มมีโซนฆ่าเชื้อก่อนเข้าและออกและพื้นที่ทำบ่อเก็บน้ำเสียของเสียภายในฟาร์มสำหรับนำมาบำบัดแล้วใหม่ภายในฟาร์มโดยไม่ปล่อยออกสู่ภายนอกฟาร์มและนำน้ำเสียไปใช้ผลิตไบโอแก๊สเป็นพลังงานกลับมาใช้ภายในฟาร์ม เป็นต้นใช้งบประมาณในการลงทุนประมาณ 200-300 ล้านบาท คาดว่าในปีพ.ศ.2564 จะสามารถเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ได้ประมาณ 500,000 ตัว ซึ่งจะผลิตไข่ได้ประมาณ 450,000-480,000 ฟองต่อวัน ส่งจำหน่ายร้านค้าธุรกิจขายปลีกทั้ง Hypermarket และ Supermarket นอกจากนี้ยังส่งขายในโรงแรม ร้านอาหาร โรงงานเบเกอรี่ ในเขตภาคเหนือเป็นหลัก รวมทั้งส่งจำหน่ายผ่านตัวแทนจำหน่าย ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลบ้าง ในอนาคตมีแผนการจำหน่ายสู่ประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน เช่นสิงคโปร์ และสปป.ลาว เป็นต้น

ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ภายในฟาร์มปิด

“ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์ภายในฟาร์มปิดไม่ใช่เรื่องง่าย ประสบปัญหาต่างๆมากมายโดยเฉพาะเรื่องกลิ่น การกำจัดของเสียและน้ำเสีย ตะกอนภายในฟาร์ม บริษัทฯจึงได้หาข้อมูลในการขอรับการช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีการจัดการปัญหาดังกล่าวจากทาง ITAP เครือข่าย มหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาปรับใช้ในกิจการเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ช่วยบริษัทฯ ลดความเสี่ยงในเรื่องการลงทุนเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหา และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันได้มากขึ้น และช่วยผลิตไข่ไก่สดให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเลี้ยงไก่ไข่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ชาญวิทย์ กล่าว

การเลี้ยงไก่ไข่

มุ่งพัฒนาสู่ฟาร์มสีเขียว ผลิตพลังงานทดแทนไว้ใช้ภายในบริษัทฯ

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังมุ่งพัฒนากิจการสู่ธุรกิจสีเขียว คือ ไม่สร้างมลพิษสู่ชุมชน และยังสามารถผลิตพลังงานทดแทนไว้ใช้ภายในกิจการเองได้ ซึ่งระบบบำบัดน้ำเสียแบบไม่ใช้อากาศหรือระบบก๊าซชีวภาพที่บริษัทฯ ได้ทำการติดตั้งไปนั้น สามารถตอบโจทย์เป้าหมายของธุรกิจฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ได้เป็นอย่างดี ซึ่งปัจจุบันบริษัทสามารถแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ หมดปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นและจำนวนแมลงวัน ผลพลอยได้ที่สำคัญคือสามารถนำก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากระบบบำบัดนำเสียไร้อากาศของทางผู้เชี่ยวชาญเครือข่ายพะเยานำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในฟาร์มได้ประมาณ 70% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดภายในฟาร์ม ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมของกิจการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญช่วยให้ธุรกิจฟาร์มไก่ไข่และธุรกิจที่เกี่ยวข้องของบริษัทฯมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างไร้ปัญหา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทฯ ไปในทางที่ดีขึ้น

ฟาร์ม

ขณะนี้อยู่ระหว่างทดลองประสิทธิภาพเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆที่เครือข่าย ITAP สวทช.พะเยาเข้ามาให้การสนับสนุน คาดว่าในอนาคตจะเป็นฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้เลี้ยงรายย่อยอื่นๆพร้อมทั้งเปิดให้นิสิตนักศึกษาเข้ามาเยี่ยมชมกิจการของบริษัทฯในอนาคต

ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์

ม.พะเยา นำต้นแบบระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์จาก พพ. มาปรับใช้ให้เหมาะกับ หจก. ไฮ โซแซ่บ

ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮโซแซ่บ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการด้านการแปรรูปอาหารว่ามหาวิทยาลัยฯได้เข้ามาแนะนำถ่ายทอดองค์ความรู้ในด้านการออกแบบและการจัดทำระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีมาตรฐาน โดยศึกษาต้นแบบจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาวะการปฏิบัติงานในพื้นที่ของผู้ประกอบการ และมีความเหมาะสมสำหรับกระบวนการแปรรูปเส้นข้าวโพดอบแห้งที่มีส่วนผสมของพืชผลทางการเกษตรท้องถิ่น เช่น ข้าวหอมมะลิพะเยา ข้าวโพด มันม่วง ขมิ้น เป็นต้น โดยเฉพาะระบบการระบายความชื้นได้ทำการติดตั้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ และควบคุมการระบายความชื้น เพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณวัตถุดิบที่นำมาอบแห้ง ลดจำนวนคนงาน และที่สำคัญช่วยประหยัดการลงทุนเพราะลงทุนสร้างระบบตู้อบนี้เพียงครั้งเดียวประมาณ 300,000-500,000 บาท สามารถคืนทุนได้ในระยะ 1-2 ปี

การออกแบบระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจกให้กับ หจก. ไฮโซ แซ่บ นั้นจากการบันทึกผลการทำการทดลองใช้งานพบว่า สามารถเพิ่มกำลังการผลิต คิดเป็นมากกว่า 50% ของกำลังการผลิตเดิม เป็นผลจากการลดความชื้นได้เร็วขึ้น ซึ่งอุณหภูมิของโรงอบอยู่ระหว่าง 45 – 55 องศาเซลเซียส โดยในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ พัดลมระบายอากาศหรือระบายความชื้น เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญยิ่งในการควบคุมอุณหภูมิของอากาศในโรงอบ โดยระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาในการอบที่น้อยกว่าเดิมที่ใช้เวลาตาก 1 – 2 วัน เหลือไม่เกินครึ่งวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า และยังได้คุณภาพของสินค้าที่ไม่ต่างจากแบบเดิม ทำให้ หจก. ไฮโซ แซ่บ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยในกระบวนการผลิตเส้นข้าวโพดอบแห้ง เพิ่มศักยภาพ และเหมาะสมกับการผลิตเส้นอบแห้ง ทดแทนการตากแห้งแบบดั้งเดิม ยกระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้มีความสะอาด สร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค รองรับการขอรับรองมาตรฐานอาหารปลอดภัยของผลิตภัณฑ์เส้นอบแห้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาการผลิตได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด

ในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ระยะถัดไป จะเป็นการประยุกต์ใช้ระบบ Internet of Things (IoT) ร่วมกับระบบระบายความชื้น ด้วยอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความชื้นและอุณหภูมิ ซึ่งระบบสามารถทำงานได้ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมถึงการแสดงผลข้อมูลผ่าน Web Application และ Mobile Application รวมถึงหน้าจอแสดงผลบนกล่องควบคุมการทำงาน ที่เหมาะสมกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ

วารัทชญา อรรถอนุกูล

โครงการ ITAP ม.พะเยาช่วยเพิ่มกำลังการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ – สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

วารัทชญา อรรถอนุกูล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ กล่าวว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจแปรรูปพืชผลทางการเกษตรเป็นเส้นขนมจีนอบแห้ง และแปรรูปวัตถุดิบอื่นๆที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าขนมจีนอบแห้ง เช่น พริก ดอกอัญชัน ดอกงิ้ว ขมิ้น เป็นต้น แต่ขั้นตอนการทำขนมจีนอบแห้งค่อนข้างมีข้อจำกัดหลายอย่าง โดยเฉพาะการตากแห้ง ที่ต้องใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ประกอบกับสภาพดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวยในแต่ละวัน มีแสงแดดผสมกับสายฝน จึงทำการศึกษาหาแนวทางในการสร้างโดมกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้น โดยขอคำปรึกษาจากทางผู้เชี่ยวชาญ ITAP เครือข่าย มหาวิทยาลัยพะเยา และทำการดัดแปลงสูตรเส้นขนมจีนอบแห้งจากแป้งหมักที่อาจจะเวลานานและเสียง่าย มาเป็นผลิตเส้นแป้งขนมจีนจากเส้นข้าวโพดอบแห้ง ที่ผลิตจากแป้งข้าวโพด ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด ทั้งอาหารคาวและหวาน เช่น นำไปใช้แทนเส้นขนมจีนในเมนูขนมจีน หรือน้ำเงี้ยว นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในเมนูไส้อั่ว ปอเปี๊ยะทอด หรือนำไปใช้ทำเมนูของหวาน เช่น สลิ่มในน้ำกะทิได้

ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

หลังจากได้เข้าร่วมโครงการกับโปรแกรม ITAP มหาวิทยาลัยพะเยา โดยติดตั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ช่วยให้กิจการสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเส้นข้าวโพดได้มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการผลิตเส้นข้าวโพดแบบเดิมที่ต้องตากเส้นไว้กลางแจ้ง ซึ่งหากเป็นวันที่มีฝนตกจำเป็นต้องหยุดการผลิต หรือในวันที่สภาพอากาศมีเมฆมาก จะทำให้เส้นข้าวโพดไม่เรียงตัวเป็นเส้นตรงสวยงาม การตากเส้นข้าวโพดแบบเดิมจะใช้เวลา 1 – 2 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ แต่เมื่อนำเส้นข้าวโพดไปอบในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จะใช้เวลาเพียง 3 – 4 ชั่วโมง นอกจากนี้ ระบบดังกล่าวยังช่วยให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ มีความสะอาด ไม่ปนเปื้อนจากฝุ่นหรือแมลงวัน รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในการแปรรูปวัตถุดิบอื่น ๆ ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตสินค้าของกิจการได้อีกด้วย เช่น พริก ดอกอัญชัน ดอกงิ้ว ขมิ้น เป็นต้นสายการผลิตเส้นขนมจีนแห้งสามารถบรรจุได้ประมาณ 100 ห่อต่อวัน โดยใช้คนงานบรรจุ 3 คน

ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร

สำหรับช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายในบริษัทผ่านช่องทางออนไลน์ ออฟไลน์มีหน้าร้านจำหน่าย ออกบูธแสดงสินค้าร่วมกับหน่วยงานราชการต่างๆ มีจัดส่งทางไปรษณีย์ ลาซาด้าและอื่นๆ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนเหนือในพื้นที่และที่อื่นๆ เช่น ต่างจังหวัดและต่างประเทศ ในอนาคตจะเพิ่มระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มอีกสำหรับใช้ตากปลานิลแดดเดียว และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอื่นๆเพิ่มเติม เพื่อแยกไม่ให้มีกลิ่นปะปนในอาหารแต่ะละประเภท


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save