โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Industrial Technology Assistant Program : ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญแก่ผู้ประกอบการเกษตร “สวนทวีทรัพย์” จังหวัดชุมพร ในการพัฒนาสินค้าเกษตรและผลไม้หลากชนิด เช่น ทุเรียน ส้มโชกุน มังคุด ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ โดยเฉพาะการพัฒนาทุเรียนของสวนทวีทรัพย์ ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่มีความปลอดภัยของภาคเอกชน ช่วยยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของผู้ประกอบการให้มีรายได้จาการขยายช่องทางการตลาดในสินค้าระดับพรีเมียม รวมทั้งยังสนับสนุนเทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ หรือ Freeze Dried ให้แก่ผู้ประกอบการสวนทวีทรัพย์ในการเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างความมั่นใจด้านคุณภาพ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถส่งจำหน่ายยังต่างประเทศได้
ชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โครงการยกระดับผักและผลไม้ไทย : โอกาสสำหรับพัฒนาเกษตรกรรมสู่ความยั่งยืน” หรือโครงการ ThaiGAP (Thai Good Agricultural Practice) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการสินค้าเกษตรและกลุ่มเกษตรกรด้านผักและผลไม้ในการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันและยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าการเกษตร เช่น มาตรฐาน ThaiGAP, มาตรฐาน GLOBALG.A.P. และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ รวมถึงนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ยุคเกษตร 4.0 เพื่อเปลี่ยนเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาให้ยั่งยืน สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปรับใช้เสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง โดยโครงการ ThaiGAP เป็นความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงาน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ สวทช. ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2557 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดย สวทช. จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งแก่ผู้ประกอบการ SME และสหกรณ์ รวมถึงวิสาหกิจชุมชน เพื่อเชิญชวนให้เกิดการยกระดับภาคการเกษตรของไทยโดยใช้มาตรฐาน ThaiGAP ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการที่ถูกต้องในการจัดการผลิตทางการเกษตรตามข้อกำหนด ภายใต้การให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดจากทีมผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP จาก ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร และคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม
มาตรฐาน ThaiGAP สร้างความปลอดภัยให้ผลิตผลทางการเกษตร
มาตรฐาน ThaiGAP เริ่มต้นจากการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคคำนึงถึงในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากตระหนักถึงภัยจากการตกค้างของสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชในผักและผลไม้ ในต่างประเทศมีการใช้มาตรการสุขอนามัยและมาตรการสุขอนามัยพืชมาเป็นอุปสรรคทางการค้า ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าทางการเกษตรโดยเฉพาะผักและผลไม้ของไทยมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้มีมาตรฐานทางการเกษตรที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ได้แก่ มาตรฐาน GAP ที่มีข้อกำหนดครอบคลุมระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพในการผลิตตั้งแต่การบริหารจัดการฟาร์มและพื้นที่เพาะปลูก, การจัดการพันธุ์พืช, การดูแลเรื่องดิน, การให้น้ำ, การใส่ปุ๋ย และการจัดการศัตรูพืช พร้อมทั้งมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยได้ ซึ่งมีอุปสรรคสำคัญสำหรับเกษตรกรไทยคือ มาตรฐานเหล่านี้เขียนด้วยภาษาต่างประเทศ ทำให้ยากต่อการทำความเข้าใจและนำมาตรฐานมาใช้
ด้วยเหตุนี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จึงร่วมกับ ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร และคณะเกษตร ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นครปฐม สร้างมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีของภาคเอกชน ในนาม “ThaiGAP” เป็นภาษาไทย ทำให้เกษตรกรไทยสามารถทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติตามได้ง่าย และเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ ThaiGAP ทางสภาหอการค้าฯ จึงได้สร้างกลไกการรับรองที่ได้มาตรฐานโดยติดต่อหน่วยงานให้การรับรอง เช่น TUV NORD และ Control Union โดย ITAP สวทช. เป็นผู้สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมเกษตรในการพัฒนาระบบ ThaiGAP ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญและบริหารจัดการโครงการอย่างครบวงจร
นำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วย “สวนทวีทรัพย์” ผลิตสินค้าพรีเมียม
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2560 ITAP ได้จัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยนำเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยผู้ประกอบการเกษตรจากหลากหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นมี “สวนทวีทรัพย์” จังหวัดชุมพรเข้าร่วมอบรมด้วย ภายหลังจากการอบรมในครั้งนั้นทำให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้น เช่น ระบบการให้ปุ๋ย, ระบบการให้น้ำ, การห่อผลผลิตกันแมลงเข้าทำลายผลผลิตที่สำคัญช่วยให้ผิวของผลไม้ชนิดนั้นๆสวยงามสามารถเพิ่มมูลค่าเป็นสินค้าพรีเมียมได้อีกทางหนึ่งด้วย, การตรวจประเมินความเสี่ยงของฟาร์ม และอื่นๆตามโปรแกรมการทำงานของโครงการฯในแต่ละช่วงเวลาของพืชผลทางการเกษตร ผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน สวนทวีทรัพย์ที่นักท่องเที่ยวและผู้บริโภคให้การยอมรับนิยมเข้ามาสั่งจองล่วงหน้าก่อนฤดูกาล มีทั้งเข้ามาซื้อเองภายในสวนและสั่งซื้อทางออนไลน์จำนวนมาก
นอกจากนี้ได้ให้คำปรึกษาการพัฒนาระบบการจัดการสุขลักษณะที่ดีในการผลิต” โดยได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จาก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ หรือ Freeze Dried เข้ามาช่วยแนะนำการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรภายในสวนทวีทรัพย์เพิ่มเติม เช่น การแปรรูปทุเรียนอบแห่ง, ทุเรียนกวน, มังคุด, มะม่วง, สับปะรด และเงาะสอดไส้สับปะรด เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตร สามารถที่จะเก็บผลผลิตภายในสวนไว้ขายได้ตลอดทั้งปีแม้สิ้นสุดฤดูการผลิตผลไม้แต่ละชนิด ที่สำคัญสามารถที่จะสร้างรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ลูกจ้างแรงงานในพื้นที่ใกล้เคียงในช่วงภาวะวิกฤต COVID-19 ได้อีกทางหนึ่งด้วย
ทุเรียนจากสวนทวีทรัพย์ได้มาตรฐาน ThaiGAP
วีรวัฒน์ จีรวงส์ ประธานบริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด กล่าวว่า บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขายส่งผลไม้ ธุรกิจภายในครอบครัว ตั้งอยู่ที่ ตำบลทะเลทรัพย์ อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร มีการทำสวนมาตลอดชีวิตของครอบครัว เริ่มแรกจากการทำสวนมะพร้าวตั้งแต่บรรพบุรุษในปีพ.ศ.2500 แซมด้วยการปลูกยางพาราในช่วงที่ราคายางพารากิโลกรัมละ 100 บาท แต่ด้วยประสบการณ์จึงมองแล้วว่าราคายางพาราที่สูงขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยั่งยืนสำหรับวิถีชาวสวนในยุคต่อ ๆไป จึงได้ศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากกรมวิชาการเกษตร เจ้าหน้าที่เกษตรอำเภอและจังหวัดจนมาลงตัวที่การปลูกทุเรียนผสมผสานการปลูกผลไม้ตามความต้องการของตลาดในช่วงปี พ.ศ.2534 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันบนพื้นที่กว่า 300 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนทำการปลูกผลไม้แต่ละชนิด พร้อมทั้งแบ่งเป็นพื้นที่ชมวิถีท่องเที่ยวเชิงเกษตรด้วย
สำหรับการเข้าร่วมโครงการรับรอง ThaiGAP ทางสวนฯ ได้นำพื้นที่ที่ทำการปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง, ส้มโชกุน, มังคุด, แก้วมังกรและ ลองกอง ประมาณ 100 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญจากโปรแกรม ITAP สวทช. ในการดำเนินโครงการ “การลงพื้นที่แปลงเพื่อพัฒนาระบบการผลิตที่ปลอดภัยตามมาตรฐาน ThaiGAP ของ บริษัท สวนทวีทรัพย์ ฟู้ด จำกัด” โดย ศูนย์วิจัยและพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เข้ามาให้คำแนะนำให้คำปรึกษาในเนื้อหาและแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ตามมาตรฐาน ThaiGAP เช่น การตรวจประเมินความเสี่ยงของฟาร์ม, ชี้แนะข้อบกพร่องเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐาน, การจัดทำระบบเอกสารที่จำเป็นในการควบคุมความเสี่ยง และการปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องตามมาตรฐานการรับรองมาตรฐาน ThaiGAP โดยได้ขอตรวจประเมินแปลงเพื่อขอการรับรองประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา
จากผลตรวจประเมินพบว่า ทำการเกษตรได้สอดคล้องกับการทำมาตรฐานการผลิตผักและผลไม้ปลอดภัย (ThaiGAP) เป็นอย่างดี มีการบันทึกการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี, นำส่งใบส่งผลผลิตตามการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ในแปลงปลูก เช่น การประเมินความเสี่ยงพื้นที่ปลูก, การประเมินความเสี่ยงของน้ำ และภายในสวนแห่งนี้ไม่มีการใช้สารเคมีที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยของผลผลิต และยังมีการอบรมการทำเกษตรปลอดภัยให้กับลูกจ้างรงงานผู้ปฏิบัติงานในแปลงทุกคนได้เข้าใจตามข้อกำหนดดังกล่าวร่วมกัน เพื่อรักษามาตรฐานและคุณภาพของสวน ผลไม้ภายในสวนให้มีคุณภาพตามกำหนดอยู่เสมอ พร้อมทั้งตรวจสารพิษตกค้างในเลือด สำหรับผู้ฉีดพ่นสารเคมี และมีอุปกรณ์ป้องกันอย่างถูกต้อง
วีรวัฒน์ กล่าวว่า ผลที่ได้จากการทำตามคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญภายในโครงการดังกล่าว สามารถสุ่มตัวอย่างวิเคราะห์เพื่อยืนยันความปลอดภัยของผลผลิตจากสารเคมี ตลอดจนมีระบบตามสอบผลไม้ในสวนสามารถตรวจย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตได้ ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ค้าและผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี และทางบริษัทฯ ยังได้รับรองมาตรฐาน ThaiGAP ในทุเรียน ตั้งแต่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ .2562 -5 พฤศจิกายน พ.ศ.2565 เป็นระยะเวลา 3 ปี ทำให้บริษัทฯ ได้พัฒนาศักยภาพ เพิ่มการเรียนรู้ระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงโรงคัดบรรจุ รวมถึงได้ผลผลิตที่มีคุณภาพปลอดภัย ถูกสุขลักษณะ ปลอดภัยจากเคมี จุลินทรีย์ และสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ที่จะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค
นำเทคโนโลยีการทำ Freeze Dried เพิ่มมูลค่าสินค้า
วีรวัฒน์ กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เล็งเห็นว่าผลไม้ในช่วงที่มีผลผลิตจำนวนมาก ทำให้ส่งขายตลาดและผู้บริโภคไม่ทันต่อการผลิต ทำให้ผลไม้เน่าเกิดความเสียหาย จึงสนใจที่จะเข้าร่วมโครงการในการแปรรูปผลไม้ทั้งขายภายในประเทศและส่งขายไปยังต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน จึงได้เข้าร่วม “โครงการการให้คำปรึกษาการพัฒนาระบบการจัดการสุขลักษณะที่ดีในการผลิต” โดยได้รับการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญโปรแกรม ITAP สวทช. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ หรือ Freeze Dried เริ่มต้นจากการสร้างโรงอบแห้งผลไม้แยกเป็นสัดส่วนให้การทำงานตรงตามผู้เชี่ยวชาญกำหนดเพื่อให้การบริหารจัดการทำงานมีความคล่องตัว หากเกิดปัญหาจะได้แก้ไขได้ตรงจุด แบ่งเป็น ส่วนรับผลไม้, คัดผล, บ่ม, แกะเปลือก, ห้องแช่แข็งลมเย็นจัด ที่อุณหภมิประมาณ-40 องศาเซลเซียส, ห้องพักผลผลิตแช่แข็ง, ห้องเย็นเก็บผลผลิต ที่อุณหภูมิประมาณ -20 องศาเซลเซียส, ห้องหั่นผลผลิต เครื่องอบแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ, ห้องบรรจุผลิตภัณฑ์ และห้องล้างอุปกรณ์ โดยเทคโนโลยีที่ใช้ในกระบวนการแปรรูป คือ เทคโนโลยีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศ หรือ Freeze Dried คือ การทำแห้ง (Dehydration) ด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freezing) ทำให้น้ำเปลี่ยนสถานะเป็นผลึกน้ำแข็งก่อน แล้วจึงลดความดันเพื่อให้ผลึกน้ำแข็งระเหิด (Sublimation) เป็นไอ ด้วยการลดความดันให้ต่ำกว่าบรรยากาศปกติ
สำหรับขั้นตอนการทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง เริ่มจากการเตรียมวัตถุดิบให้อยู่ในสภาพที่เหมาะสม เช่น การล้าง, การปอกเปลือกและการลดขนาดจากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการหลัก ได้แก่ การแช่เยือกแข็ง (Freezing), การทำแห้งขั้นต้น (Primary Drying) และการทำแห้งขั้นที่สอง (Secondary Drying) โดยผัก ผลไม้ หรืออาหารที่ผ่านกรรมวิธีการทำแห้งเยือกแข็งแบบสุญญากาศแล้วจะสามารถคงคุณภาพทั้งคุณค่าทางสารอาหาร, กลิ่นและรสชาติของอาหารหรือผลไม้สดจริงตามวัยของผลไม้ที่นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปมากที่สุด ซึ่งการแปรรูปดังกล่าวช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้า ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตผลไม้ พืชผักในสวนออกสู่ตลาดจำนวนมากในแต่ละฤดูกาล ราคาตกต่ำ การขายผ่านพ่อค้าคนกลางได้ราคาไม่คุ้มทุน แต่เมื่อนำผลไม้ พืชผักภายในสวนมาเพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรม Freeze Dried สร้างความมั่นใจด้านคุณภาพ ความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และสามารถส่งจำหน่ายยังต่างประเทศเก็บไว้รับประทานในเวลาที่ยาวนานขึ้น
ปัจจุบันบริษัทฯ ได้จัดทำแพกเกจจิ้งตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติมในการที่จะนำไปบรรจุผลผลิตผลไม้ในสวน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน, ส้มโชกุน, ลองกองและอื่นๆ มี QR CODE ทุกกล่องบรรจุภัณฑ์ พร้อมคำแนะนำในการรับประทานผลไม้นั้นๆ โดยเฉพาะทุเรียนจะมีการแจ้งระยะเวลาความสุข ดิบ และเวลาในการที่จะแกะรับประทานได้ไว้ภายในกล่องบรรจุ เนื่องจากผู้บริโภคนิยมรับประทานทุเรียนไม่เหมือนกัน บางคนชอบทุเรียนห่ามและบางคนชอบทุเรียนสุก
สำหรับราคาของผลไม้ในสวนนั้นจะมีราคาตามท้องตลาด เช่น ราคาทุเรียนจะมีราคาตัดหน้าสวนอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 115 บาท, ส้มโชกุนราคากิโลกรัมละ 100 บาท และลองกองราคาประมาณกิโลกรัมละ 80 บาท เป็นต้น