ICRF 2024 ชูศักยภาพข้าวไทย สู่ความยั่งยืน และความมั่นคงทางอาหารระดับโลก


ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย (Hub of Rice) โดยศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการวิจัยข้าวของประเทศไทย จัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องข้าวเพื่ออนาคต ครั้งที่ 3 (3rd International Conference on Rice for The Future 2024 ) หรือ ICRF 2024 เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการวิจัยข้าว ขับเคลื่อนความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะนำไปสู่การพัฒนาการเกษตรที่ยั่งยืนและสร้างประกันความมั่นคงทางอาหารในอนาคต รวมถึงเป็นเวทีสร้างเครือข่ายนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และนักวิชาการข้าวทั้งในและต่างประเทศ

ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะทำงานที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) และศูนย์กลางด้านความรู้ (Hub of knowledge) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยหลังการเปิดงานว่า การประชุมครั้งนี้เป็นโครงการริเริ่มสำคัญที่กำลังดำเนินการเพื่อจัดตั้งเครือข่ายนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่สำคัญต่างๆ รวมถึงการปรับปรุงผลผลิตข้าว เพิ่มความต้านทานโรค และจัดการกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามเหล่านี้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับโลกของการพัฒนาที่ยั่งยืนและความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคต

ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมากจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งภาคอุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การผลิตพลังงาน และภาคการเกษตร โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญจากภาคการเกษตรที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคือการปลูกข้าว โดยเฉพาะการปลูกข้าวแบบนาดำซึ่งมีการปลูกในพื้นที่น้ำขัง กระบวนการย่อยสลายอินทรียวัตถุในสภาพที่ขาดออกซิเจนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพในการกักเก็บความร้อนสูงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ถึงประมาณ 25 เท่า โดยการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวนี้คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10 ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดจากภาคการเกษตรทั่วโลก

นอกจากก๊าซมีเทนแล้ว กระบวนการต่าง ๆ ในการผลิตข้าว เช่น การไถพรวนดิน การเผาฟางข้าวหลังการเก็บเกี่ยว การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักรกล และการใช้ปุ๋ยเคมี ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) เพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะก๊าซไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยเคมีและกระบวนการทางชีวภาพในดิน ซึ่งก๊าซนี้มีความสามารถในการทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 298 เท่า การใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากยังอาจส่งผลกระทบให้ดินเสื่อมโทรม จนต้องเพิ่มการใช้ปุ๋ยเพื่อรักษาผลผลิตให้สูงขึ้น ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

รศ.ดร.ศิวเรศ อารีกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้เรากำลังพัฒนาพันธุ์ข้าวให้มีคุณสมบัติเป็นนวัตพันธุ์ ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำเสริม โดยพันธุ์ข้าวใหม่นี้มีลักษณะอายุสั้นและทนแล้ง เหมาะสำหรับการเพาะปลูกในพื้นที่ที่อาศัยเพียงน้ำฝน เช่น พื้นที่ภาคกลาง ที่มีความต้องการคล้ายกับข้าวจากเวียดนาม นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมุ่งเน้นการเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้กับข้าว โดยเฉพาะข้าวที่มีสารอาหารสูงเช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ นอกจากนี้ยังนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการติดตามและวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของข้าวในแต่ละแปลง เพื่อดูแลและแก้ไขปัญหาได้อย่างแม่นยำและทันท่วงที รวมถึงการวางแผนใช้เทคโนโลยี AI ในการประเมินคุณภาพและคัดกรองข้าวตั้งแต่การตรวจสอบสารอาหารไปจนถึงการคัดเลือกเมล็ดข้าวคุณภาพสูงสู่ตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพและความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร สวทช. กล่าวว่า ไบโอเทค สวทช. มีความมุ่งมั่นที่จะบุกเบิกความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยเฉพาะเพื่อเกษตรกรและอุตสาหกรรม การวิจัยข้าวนับเป็นจุดสนใจที่สำคัญในความพยายามทางการเกษตรของไบโอเทค ซึ่งในอนาคต ไบโอเทคจะมุ่งพัฒนาข้าวไทยให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่ดีและมีผลผลิตที่สูงขึ้น ด้วยการปรับทิศทางการพัฒนาเป็นระยะๆ ผ่านการประเมินร่วมกับทีมเชิงนโยบาย รวมถึงร่วมหารือกับกลุ่มเกษตรกร และผู้ส่งออก เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการในอนาคต รวมถึงการหารือกับทีมวิจัยเพื่อพัฒนาข้าวให้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการจัดตั้งห้องปฏิบัติการและสนับสนุนการวิจัยด้านข้าว ด้วยการเข้าร่วมโครงการจีโนมข้าวระดับโลก ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีข้อมูลจีโนมข้าวที่สามารถนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้มีความหอม มีผลผลิตที่สูงขึ้น และตอบสนองต่ออุทกภัย แทนร้อน และทนโรคได้ดี ซึ่งในอนาคตเราจะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการปลูกข้าวให้มากยิ่งขึ้น

Reiner Wassmann จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ ให้คำแนะนำต่ออุตสาหกรรมข้าวของไทยว่า ในฐานะผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลก ข้าวไทยมีคุณภาพที่ดีและควรได้รับการผลักดันให้เด่นชัดในตลาดโลกมากขึ้น ด้วยการสร้างภาพลักษณ์ที่ชัดเจนว่าข้าวไทยปลอดภัยและมีการปล่อยคาร์บอนต่ำ  ในส่วนของภาคเกษตรกรไทยยังมีจุดที่ต้องพัฒนา เนื่องจากพื้นที่นาส่วนใหญ่เป็นนาน้ำฝน ไม่ใช่นาชลประทาน การทำนาแบบเปียกสลับแห้งซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับเกษตรกรไทยเพราะต้องรอน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งการเข้าร่วมมาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการข้าวยั่งยืน (Sustainable Rice Platform) หรือเทคนิคการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถจัดการการปลูกข้าวให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นได้ในอนาคต


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save