กรุงเทพฯ- ประเทศไทย 10 มีนาคม 2565: บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) ผู้นำธุรกิจให้บริการท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้บรรจุสินค้า นำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในระบบปฏิบัติงาน ได้แก่ รถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (Autonomous Truck) ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล (Remoted Control Super Post Panamax Ship to Shore Cranes) และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง (Remote-control Rubber Tyred Yard Cranes) ณ ท่าเทียบเรือชุดD ของ HPT ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ขานรับนโยบายของกลุ่มบริษัทฮัทชิสัน พอร์ท เพื่อบรรลุภารกิจในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 11 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ.2573
ขณะที่ HPT เดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตามแนวทางด้านความยั่งยืน บริษัทฯ ยังเดินหน้าในการปรับระบบการทำงานที่ตอบรับกับความเปลี่ยนแปลง มีการเชื่อมโยงกับความต้องการของผู้รับบริการ และนำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในด้านการขนส่งมาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้รองรับในด้านบริการที่ครอบคลุมเรือสินค้าไม่ว่าขนาดใด ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่เป้าหมายของการส่งเสริมเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (Eastern Economic Corridor: EEC) รวมถึงการสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาคอีกด้วย
มร.สตีเฟ้นท์ อาร์ชเวิรท กรรมการผู้จัดการ ฮัทชิสัน พอร์ท ประจำประเทศไทย และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจของ HPT สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าทั้งหมด83.7 ล้าน TEU คิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของตู้สินค้าทั้งหมดทั่วโลก ที่HPTมีเครือข่ายท่าเทียบเรือถึง 52 แห่ง กระจายอยู่ใน 26 ประเทศทั่วโลก ทั้งใน เอเชีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลียรวมทั้งประเทศไทย
สำหรับประเทศไทยท่าเรือแหลมฉบัง คือท่าเรือหลักของประเทศและยังเป็นด่านสำคัญของการนำเข้า-ส่งออกของประเทศ โดยสามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าทั้งหมด 11.5 ล้าน TEU มีขนาดใหญ่เป็นอันดัน 4 รองจากสิงคโปร์
พอร์ตกลัง มาเลเซีย และตันหยงเปเลปัส มาเลเซีย
ในปี พ.ศ.2564 มูลค่าการนำเข้าของประเทศไทยเพิ่มขึ้น 29.8 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่ารวมที่ 267.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การส่งออกเพิ่มขึ้น 17.1 เปอร์เซ็นต์ ด้วยมูลค่ารวมที่ 271.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปีเดียวกันนี้ ท่าเรือแหลมฉบังรองรับปริมาณตู้สินค้ารวม 8.5 ล้าน TEU ซึ่งเพิ่มขึ้น 0.9 ล้าน TEU จากปีพ.ศ. 2563 โดยHPT มีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ท่าเรือแหลมฉบังคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ จากส่วนแบ่งทางการตลาดทั้งหมดในไทย 70 เปอร์เซ็นต์ และในปีพ.ศ. 2564 มีเรือบรรทุกตู้สินค้ากว่า 1,000 ลำ ในจำนวนนี้รวมถึงเรือบรรทุกตู้สินค้าขนาดใหญ่ที่สุดอีกหลายลำที่ยังปฏิบัติการอยู่ในขณะนี้มาใช้บริการที่ท่าเทียบเรือต่าง ๆ ของ HPT อีกด้วย
มร.สตีเฟ้นท์ กล่าวว่า ปกติท่าเทียบเรือจะต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่วงหน้าราว 5-10ปี ในปี พ.ศ.2564 HPT มีปั้นจั่น 23 เครน พนักงาน 1,3000 คน มีรายได้ 3.37ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีพ.ศ.2563 เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 เริ่มคลี่คลาย
ปัจจุบันท่าเทียบเรือชุด D ของ HPT รองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 1.2ล้าน TEU และกำลังเข้าสู่การก่อสร้างลานวางตู้สินค้า D2 และD3 ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2568 สามารถรองรับปริมาณตู้สินค้าได้ถึง 3.5 ล้าน TEU โดยท่าเทียบเรือชุด D จะติดตั้งปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล (Super Post Panamax Ship to Shore Cranes ) จำนวน 17 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางจำนวน 43 คัน ที่เป็นระบบไฟฟ้าควบคุมจากระยะไกลทั้งหมด และเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกในโลกที่นำรถบรรทุกขับเคลื่อนอัตโนมัติมาใช้งานร่วมกับรถบรรทุกแบบธรรมดา
“ประเทศไทยถือเป็นผู้บุกเบิก (Pioneer) ทดลองใช้เทคโนโลยีทันสมัยต่างๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) พร้อมส่งต่อไปยังเครือข่ายท่าเทียบเรือ 52 ประเทศ เช่น อังกฤษ เม็กซิโก เป็นต้น” มร.สตีเฟ้นท์ กล่าว
อาณัติ มัชฌิมา ประธานบริหารงานทั่วไป HPT กล่าวว่า การริเริ่มด้านการพัฒนาของ HPT ดำเนินไปเพื่อตอกย้ำถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของบริษัทฯ และประเทศไทย โดยมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง คือ 1.สภาพแวดล้อม เพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย ให้คำมั่นที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและขยะจากการปฏิบัติงานในพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจหลักของกลุ่มบริษัทฮัทชิสัน พอร์ท ที่มุ่งในการลดการใช้พลังงานดีเซลต่อ TEU ลง 1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีจนถึงปี พ.ศ.2566 ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ.2573 และเพื่อให้แผนงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วง บริษัทฯ มีการนำรถบรรทุกระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ปั่นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมระยะไกล ระบบ 5G สำหรับอุปกรณ์ควบคุมระยะไกล รวมถึงการใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานควบคุมจากระยะไกล และเปลี่ยนไปใช้ช่องทางผ่านเข้าออกท่าเทียบเรือแบบอัตโนมัติ Auto Gate อีกทั้งยังใช้ระบบดิจิทัลและยกเลิกเอกสารกระดาษอย่างบริการผู้ช่วยออนไลน์และการนัดหมายรับส่งตู้สินค้า มีการสร้างเครื่องใช้ต่างๆ จากสิ่งของเหลือใช้ ซึ่งเป็นคำมั่นสัญญาที่บริษัทฯ ให้ไว้ว่าจะก้าวสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวเป็นมิตรกับโลกและสิ่งแวดล้อม 2.บุคลากร แผนการพัฒนาด้านบุคลากรที่ประกอบไปด้วยโปรแกรมเสริมสร้างสุขภาพร่างกายและจิตใจเพื่อสนับสนุนให้พนักงานของบริษัทฯ ก้าวข้ามผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้อย่างเหมาะสม การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ ของบริษัทฯ ซึ่งทำให้ HPT ได้สร้างสัมพันธ์กับชุมชนรอบ ๆ รวมทั้งได้ริเริ่มดำเนินงานโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนร่วมกับโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล และ3.ธุรกิจ การสร้างความแข่งแกร่งด้านบรรษัทภิบาล โดย HPT จะเพิ่มการประเมินผลซัพพลายเออร์ในขั้นตอนการคัดเลือกผู้รับเหมาที่จะมารับงานจากบริษัทที่เป็นไปตามเกณฑ์ด้านความยั่งยืน อันจะเป็นการสร้างความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าทุก ๆ ขั้นตอนในการดำเนินการมีความโปร่งใส และทำให้ทั้งซัพพลายเออร์และลูกค้ามีความมั่นใจในมาตรฐานด้านกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนของ HPT
ในปี พ.ศ.2565 HPT วางแผนงานที่จะเพิ่มรถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ (Autonomous Truck) อีก 9 คัน รวมรถบรรทุกขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติเดิมที่มีอยู่ 6 คันเป็นทั้งหมด 15คัน ทดแทนรถหัวลากที่มีคนขับปกติ อย่างไรก็ตามสำหรับตู้บรรจุสินค้าที่มีความเย็นยังต้องใช้รถหัวลากที่มีคนขับปกติ เนื่องจากจะต้องใช้คนควบคุมอุณหภูมิ อีกทั้งยังมีแผนที่จะนำรถหัวลากไฟฟ้ามาใช้ เพื่อประหยัดพลังงาน
“การพัฒนาเพื่อความยั่งยืนถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อพันธกิจของพวกเราที่จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนหลายสิ่งหลายอย่างในวิธีการทำงานของเรา และผมเองก็รู้สึกยินดีกับความคืบหน้าต่าง ๆ ที่ได้ทำให้เกิดขึ้นมา บริษัทฯ ของเรามีการตั้งเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับท่าเรือทุกแห่งในเครือทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง และผมมั่นใจว่าเราสามารถบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ได้ ไปพร้อม ๆ กับที่เราเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในแผนระยะยาว” มร.สตีเฟ้นท์ กล่าวทิ้งท้าย