กรุงเทพฯ: วีเอ็นยูฯ ผู้จัดงานไทยแลนด์แล็บอินเตอร์เนชั่นแนล นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยนแห่งใหม่ มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 5,000 ตารางเมตร ณ อาคาร SM Tower สนามเป้า พร้อมชม Lab วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี กระบวนการผลิตด้านปลาทูน่าโดยเฉพาะ นวัตกรรมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และโรงงานต้นแบบก่อนผลิตออกสู่ท้องตลาด เพื่อสร้างความยั่งยืนด้วยวิธีการผลิตและเทคโนโลยีทันสมัยทัดเทียมสากล
ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปีพ.ศ.2558 บนพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทในเครือทั่วโลก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางในการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตและหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสร้างประโยชน์และคุณค่าให้ลูกค้า ผู้บริโภค และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยบริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับนักศึกษาและคณาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเวลา 5-6 ปี ปัจจุบันมีนักวิจัยนับ 100 คน ด้วยขนาดพื้นที่ที่จำกัด ทำให้สถานที่เดิมแออัด
ในปีพ.ศ.2562 บริษัทฯ จึงได้ย้ายศูนย์นวัตกรรม จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มายังบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป อาคาร SM Tower โดยมีพื้นที่กว่า 5,000 ตารางเมตร ซึ่งขยายเพิ่มขึ้นกว่าเดิม 5 เท่า สามารถรองรับนักวิทยาศาสตร์ระดับปริญญาเอกมากกว่า 40 ท่าน และนักวิจัยทางด้านเทคโนโลยีชีวภาพทางทะเล วิศวกรรม ชีวการแพทย์ศาสตร์ทางด้านอาหารและโภชนาการจากทั่วโลกกว่า 120 คน ที่มาร่วมมือกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญในการค้นคว้าวิจัย และใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
บริษัทฯ ได้ร่วมทำงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในไทย 8 แห่ง และมหาวิทยาลัยต่างประเทศอีก 6 แห่ง ได้แก่
ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน และอิตาลี โดยทุกวันนี้บริษัทฯ มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเกินพันล้านบาท และใช้เงินลงทุนกว่า 100 ล้านบาทในการซื้ออุปกรณ์ใหม่ด้านวิจัย
ศูนย์นวัตกรรมไทยยูเนี่ยน (Global Innovation Center :GIC) ประกอบไปด้วยห้องปฏิบัติการด้านเคมี ห้องปฏิบัติการด้านโภชนาการ และห้องปฏิบัติการด้านนวัตกรรมและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสำนักงาน ซึ่งมีพื้นที่สำหรับจัดประชุมและงานกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) 2 แห่ง สามารถผลิตปลาทูน่าได้หลายสิบตัน และมี Collaborate Floor เพื่อกันพื้นที่ให้บุคคลภายนอกมาทำงานร่วมกับบริษัทฯ ได้ โดยศูนย์นวัตกรรมนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อการใช้งานอย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการใช้ในงานอเนกประสงค์ การควบคุมเสียง การสั่น ความชื้น การระบายอากาศ และความดันอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันไม่ให้กลิ่นออกมารบกวน มีระบบน้ำเสียอยู่นอกตึก ซึ่งจะช่วยดึงอากาศมาปล่อยที่ชั้น 10 ป้องกันไม่ให้กลิ่นรบกวน
ศูนย์นวัตกรรมนี้ช่วยพัฒนากระบวนการผลิต และสร้างความยั่งยืนให้บริษัทฯ ด้วยเงินลงทุนกว่า 600 ล้านบาท ศูนย์นวัตกรรมจึงมีเป้าหมายที่จะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนคิดเป็นร้อยละ 10 ของรายได้บริษัทฯ ภายในปี พ.ศ. 2563
“นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจของไทยยูเนี่ยนให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับ อีกทั้งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของบริษัทฯ เพราะนวัตกรรมจะช่วยสร้างความแตกต่างและความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด” ดร.ธัญญวัฒน์ กล่าว
สำหรับงานไทยแลนด์แล็บ อินเตอร์เนชั่นแนล 2019 ครั้งที่ 9 จะจัดขึ้นในวันที่ 25-27 กันยายน 2562 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยี ด้านเครื่องมือวิเคราะห์ เคมีภัณฑ์ และความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ โดยปีนี้ได้นำเสนอเวทีแสดงสินค้า และเจรจาธุรกิจด้านเครื่องมือห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก มากกว่า 250 บริษัท รวมกว่า 500 แบรนด์ชั้นนำของโลกมาจัดแสดง