จากเหตุการณ์รถบัสทัศนศึกษาเกิดเพลิงไหม้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความเสียใจให้กับคนไทยทั้งประเทศ การสูญเสียชีวิตของเด็กนักเรียนและครูจำนวนมาก เป็นการเตือนสติให้เราตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยในการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังระบบขนส่งสาธารณะของเรา และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ร้ายแรงเช่นนี้เกิดขึ้นซ้ำอีก การสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเสียใจให้กับครอบครัวของผู้สูญเสียเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบ ทั้งในเรื่องของการบำรุงรักษารถบัส การตรวจสอบความปลอดภัย และมาตรการป้องกันเหตุฉุกเฉินต่างๆ เราจึงต้องร่วมกันตั้งคำถามและหาคำตอบว่า เราจะสามารถป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ได้อย่างไร เพื่อให้การเดินทางของทุกคนมีความปลอดภัยมากขึ้น
รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า การทัศนศึกษาหรือการเรียนรู้นอกห้องเรียนถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว และเราก็อยากให้ชุมชนท้องถิ่นสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อให้เด็กๆ ได้มีความสัมพันธ์ร่วมกันในชุมชน และหล่อหลอมพฤติกรรมที่ดีให้กับเด็กๆ ในสังคม เราจึงไม่อยากให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ส่งผลต่อความตั้งใจอันดีของโรงเรียนที่พยายามนำเด็กออกสู่การเรียนรู้นอกห้องเรียน แต่ปัญหาหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้ก็คือความปลอดภัยของยานพาหนะ จึงเกิดคำถามว่ากรมขนส่งหรือกระทรวงคมนาคมได้ดูแลมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ สภาพรถยนต์ มาตรฐานการลามของไฟ ประตูฉุกเฉิน องค์ประกอบเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลที่ถูกต้องมากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมานับครั้งไม่ถ้วนแล้ว
“รถสาธารณะมักมีผู้ใช้บริการจำนวนมากแต่ส่วนประกอบต่างๆ ของรถ เช่น ตัวถังและเฟอร์นิเจอร์ภายใน มักไม่ได้มาจากการผลิตเดียวกัน ซึ่งทำให้เกิดปัญหาด้านความปลอดภัยโดยเฉพาะเมื่อเกิดไฟลุกลามจากล้อหรือห้องเครื่องเข้าสู่ห้องโดยสาร หากอุปกรณ์ภายในไม่ได้ออกแบบให้ทนไฟหรือมีประตูฉุกเฉินที่ใช้งานได้ทันเวลา ผู้โดยสารอาจไม่สามารถหนีออกมาได้อย่างปลอดภัย หรืออาจจะเกิดจากที่ผู้ขับแก้ไขสถานการณ์ผิดวิธี ด้วยการเปิดประตูด้านคนขับเพื่อลงจากรถ ซึ่งส่งผลให้ความร้อนจากภายนอกเข้ามาในตัวรถ จนไฟเข้าลุกลามเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อย่างรวดเร็ว ในทางกลับกันหากคนขับเปลี่ยนมาเปิดประตูที่ด้านอื่นแทน ไฟอาจลุกลามช้ากว่าก็เป็นได้ เช่นเดียวกับงานวิจัยที่พบว่าไฟที่เกิดขึ้นจากยางรถจนลามเข้าสู่ห้องโดยสารได้ ส่วนใหญ่เกิดจากหน้าต่างที่ไมได้รับมาตรฐานที่เพียงพอ” รองศาสตราจารย์ นพ. อดิศักดิ์ กล่าว
ดังนั้น การทดสอบระบบป้องกันไฟในรถบัสจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากไฟมักเกิดจากห้องเครื่อง หากมีฉนวนป้องกันไฟและเซนเซอร์ตรวจจับความร้อนในห้องเครื่อง จะช่วยให้คนขับสามารถดับเครื่องและหยุดการระบายอากาศ ลดความเร็วในการลุกลามของไฟ ทำให้ผู้โดยสารมีเวลาหนี นอกจากนี้ การออกแบบที่ป้องกันไฟในห้องเครื่อง การทดสอบการลามไฟ และการฝึกอบรมคนขับให้สามารถจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างถูกต้อง ก็เป็นสิ่งสำคัญที่หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดูแล
“ไม่อยากให้คุณครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเสียกำลังใจในการจัดกิจกรรมทัศนศึกษาที่ดี รวมถึงสถานที่ที่เปิดพื้นที่ให้เด็กและครอบครัวเข้ามาเรียนรู้ อันนำไปสู่การพัฒนาการที่ดีของเด็ก แต่อยากขอร้องว่าหน่วยงานที่ควบคุมยานพาหนะสาธารณะควรจะต้องเร่งดำเนินการในการปรับปรุงมาตรฐานรถ ควบคุมผู้ประกอบการ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้เห็นได้ชัดว่าทุกคนพยายามทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดแล้ว แต่ขาดเพียงอย่างเดียวคือมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานรถยนต์ เหตุฉุกเฉิน การพัฒนาผู้ขับขี่ให้มีความรับผิดชอบเพื่อเดินหน้ากิจกรรมทัศนศึกษาให้มีความพร้อมและปลอดภัยในอนาคต” รองศาสตราจารย์ นพ.อดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: วิทยุจุฬา 2 ตุลาคม 2567