บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้าน Location Intelligence การวิเคราะห์ภูมิสารสนเทศในมุมมองใหม่ รุกกลุ่มธุรกิจงานจัดการ “สมาร์ทซิตี้” หนึ่งในเรือธงธุรกิจ ชู ArcGIS เป็นตัวช่วยสำคัญในการบริหารจัดการสมาร์ทซิตี้ ด้วยการนําเทคโนโลยี GIS เข้ามาประยุกต์บูรณาการฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพิ่มศักยภาพวิเคราะห์จัดการ วางแผนงานเชิงลึกโครงการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ รับการเติบโตขยายตัวของเมือง สู่การพัฒนาโซลูชันให้ตรงจุดสอดคล้องกับความเป็นเมืองอัจฉริยะ พร้อมสร้างศูนย์กลางข้อมูล เปิดพื้นที่เชื่อมประสานแต่ละโครงการกับทุกภาคส่วน เผยหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จของ “สมาร์ทซิตี้” คือ การร่วมมือของภาครัฐระดับท้องถิ่น องค์กรเอกชน และประชาชนอย่างเป็นระบบ
ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ArcGIS ในประเทศไทยมากว่า 30 ปี กล่าวว่า ในปัจจุบันประเทศไทย เป็นประเทศหนึ่งที่มีอัตราการขยายตัวของเมืองสูง (Urbanization) สังเกตได้จากการกระจายตัวของการสร้างที่อยู่อาศัยที่ขยายออกสู่ชานเมืองอย่างรวดเร็ว รวมทั้งโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและโครงการคมนาคมขนาดใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อรับรองการดำเนินชีวิตของทุกคน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องนำนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เอื้อต่อการเติบโต ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต ซึ่งเป็นที่มาของแผนทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในปีพ.ศ.2564 นี้ ที่จะเดินหน้านำ Location Intelligence เข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์จัดการโครงการต่าง ๆ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมือง ปรับปรุงและลดความซ้ำซ้อนของกระบวนการทำงาน ทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่การเป็นดิจิทัล เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ สอดรับนโยบายภาครัฐในการขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0
การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างสมบูรณ์ จําเป็นต้องมีข้อมูลเชิงตําแหน่ง (Location-based) เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางผังเมือง ออกแบบ และวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้วยการนําเทคโนโลยี GIS เข้ามาประยุกต์บูรณาการฐานข้อมูล นําไปสู่หลักการพัฒนาโซลูชันให้สอดคล้องกับโครงการต่าง ๆ ของ สมาร์ทซิตี้ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
- สนับสนุนการวางแผนและงานด้านวิศวกรรม (Planning and Engineering) โดยการนำเทคโนโลยี GIS มาช่วยเรื่องการออกแบบเมืองให้สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะ (Characteristics) ของการใช้ประโยชน์บนพื้นที่ความเป็นเมืองนั้น ๆ เช่น ด้านเกษตรกรรม ด้านการท่องเที่ยว ด้านอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยหลักสำคัญของสมาร์ทซิตี้ คือ การบูรณาการฐานข้อมูล ที่จำเป็นต้องเห็นภาพรวมทุกอย่างก่อนนำไปสู่ Digital Twin การจำลองภาพเมืองเสมือนจริง ที่จะช่วยให้การวางแผนการทำงานมีประสิทธิภาพและช่วยในการวิเคราะห์ ประเมินคาดการณ์ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
- ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานภาพรวม (Operational Efficiency) ในส่วนของภาครัฐ มีแอปพลิเคชันพร้อมใช้งานที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเก็บรวบรวมข้อมูล ลงพื้นที่ภาคสนาม มอนิเตอร์สถานะผ่านระบบ ช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เช่น การสร้างระบบบริหารจัดการข้อมูลการจัดการภัยพิบัติต่าง ๆ หรืองานติดตามสถานการณ์ฉุกเฉิน ตัวอย่างที่สำคัญ เช่น ระบบติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ หรือระบบบริหารจัดการทรัพยากรด้านสาธารณสุข เป็นต้น
- ใช้ประโยชน์จากการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Performance) เพื่อการรับรู้และตอบสนองแบบเรียลไทม์ การ Feed ข้อมูลจาก IoT (Internet of Things) และ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์ เช่น การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงการระบาดของโรค การวิเคราะห์คาดการณ์ผลผลิตด้านการเกษตร CCTV ดูความปลอดภัยและวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอาชญากรรม เป็นต้น
- การมีส่วนร่วมของประชาชน (Civic Inclusion) สามารถนำเสนอศูนย์กลางของข้อมูล แผนที่ แอปพลิเคชัน เพื่อเผยแพร่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนได้รับทราบข้อมูลร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งจะมีซอฟต์แวร์ ArcGIS Hub เป็นอีกหนึ่งตัวช่วย สามารถสร้างศูนย์กลางข้อมูลให้ผู้ใช้งานเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ส่งเสริมให้เกิดการสื่อสาร เกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและรอบด้าน ช่วยในการบริหารจัดการเมืองอย่างเป็นมีประสิทธิภาพได้อีกทางหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเป็นกุญแจสำคัญที่ผลักดันการเป็นเมืองอัจฉริยะ แต่ยังพบอุปสรรคในการนําเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อบูรณาการฐานข้อมูล พร้อมทั้งการจัดทำศูนย์กลางในการสื่อสาร และรวบรวมโครงการต่าง ๆ ในการทำงานและแก้ไขปัญหา เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในทุกพื้นที่มีความต้องการเดียวกันคือ การร่วมมือกันระหว่างภาครัฐระดับท้องถิ่น องค์กรเอกชน และความร่วมมือจากประชาชน นับเป็นหัวใจสำคัญสู่ความสำเร็จของ “สมาร์ทซิตี้”
“หากหน่วยงานหรือองค์กร ตลอดจนผู้พัฒนาโครงการกำลังมองหาตัวช่วยในการยกระดับโครงการ บริหารจัดการข้อมูลสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ อีเอสอาร์ไอ พร้อมสนับสนุน โดยใช้ความเชี่ยวชาญในด้าน Location Intelligence เข้าไปเสริมประสิทธิภาพการบริหารงานโครงการ ทั้งในเชิงงานก่อสร้าง วางแผนหรืออสังหาริมทรัพย์ต่อไป” ธนพร กล่าวทิ้งท้าย