ENTEC สวทช.หนุนพลังงานสะอาดไทย เดินหน้าวิจัยไฮโดรเจนสีเขียว–แบตเตอรี่สับเปลี่ยน EV


ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) ภายใต้ สวทช. จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ตามมติคณะรัฐมนตรี ในฐานะศูนย์เทคโนโลยีแห่งชาติ ลำดับที่ 5 ภายใต้ สวทช.โดยมีพันธกิจหลักในการเป็นองค์กรผู้นำและศูนย์รวมแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงานของประเทศ มุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานเพื่อสนับสนุนแผนพลังงานชาติ เป็นกำลังสำคัญในการ ‘สร้าง’ และ ‘เชื่อมโยง’ นวัตกรรมพลังงานของประเทศไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด เสริมสร้างความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการด้านเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานของประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเกิดความยั่งยืน

ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการเอ็นเทค สวทช.  เปิดเผยว่า ศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (เอ็นเทค) สวทช. มีความสำคัญต่อระบบพลังงานของประเทศไทยในหลายด้าน โดยเฉพาะภารกิจการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง เอ็นเทค สวทช. สนับสนุนนโยบายพลังงานโดยดำเนินงานตามแผนบูรณาการพลังงานระยะยาวของประเทศไทย (TIEB) โดยการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องตลอดจนบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงานไปสู่ภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์จริง

ภารกิจหลักด้านการวิจัยของเอ็นเทค สวทช. ไม่ได้หยุดอยู่แค่ในห้องแล็บ แต่เป็นการ ‘บ่มเพาะ’ เทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ที่จะมาเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่ยั่งยืนและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีผลงานวิจัยที่โดดเด่นหลายด้าน ไม่ว่าจะด้านเทคโนโลยีเชื้อเพลิงสะอาดและการบูรณาการระบบ ที่เน้นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยเทคโนโลยีการผลิต “ไฮโดรเจนชีวภาพหรือไฮโดรเจนสีเขียว” ซึ่งอยู่ระหว่างพัฒนาและต่อยอดสู่การใช้งานจริงร่วมกับภาคเอกชน รวมถึงความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและคมนาคมขนส่งให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น แนวทางประเมิน ASEAN Energy Resilience Assessment Guideline และการประเมินโซลาร์ฟาร์มบนระบบขนส่งสาธารณะ

ด้านนวัตกรรมโอเลโอเคมีภัณฑ์และเคมีภัณฑ์สีเขียว เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน ด้วยผลงานอย่าง “Eco-Pest” สารเสริมประสิทธิภาพการเกษตรจากน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ที่ช่วยลดการใช้สารเคมี ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคอุตสาหกรรม และ “น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐานชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน” ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายได้  ลดการนำเข้าปิโตรเลียม  และอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดเพื่อประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย

ด้านเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ต้นทุนต่ำลง ด้วยนวัตกรรมที่น่าสนใจ อาทิ “Solar Sure” แพลตฟอร์มตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์หมดอายุ ส่งเสริมการนำกลับมาใช้ใหม่ (Second-life) ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ และจัดการซากอย่างถูกวิธี ซึ่งอยู่ระหว่างสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) พิจารณากำหนดมาตรฐาน และ “SEESOLAR” โซลาร์เซลล์เพื่อการเกษตร ที่ลดรังสี UV-B และความร้อน แต่ยังให้การแผ่รังสีแสงสังเคราะห์ หรือแสง PAR ผ่านได้ดี ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีและอาจมีสารสำคัญสูงขึ้น อีกทั้งผลิตไฟฟ้าสำหรับควบคุมสภาพแวดล้อมในโรงเรือน และเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนพลังงานให้ภาคเกษตรกรรม

ด้านนวัตกรรมห่วงโซ่คุณค่าของแบตเตอรี่ ตอบโจทย์การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ ที่ทำให้ใช้พลังงานได้อย่างเสถียร โดย ENTEC มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาแบตเตอรี่แบบครบวงจร ทั้งกระบวนการรีไซเคิล และเป็นส่วนสำคัญในการผลักดัน “Thailand BattSwap” ภายใต้ Thailand Standard Swappable Battery Consortium เพื่อสร้างมาตรฐานกลางของแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้สำหรับ EV ขนาดเล็กทั่วประเทศ

ดร.จิราวรรณ มงคลธนทรรศ นักวิจัยจากศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. เปิดเผยว่า เทคโนโลยีการกักเก็บพลังงานที่ ENTEC พัฒนาครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งลิเทียมไอออนแบตเตอรี่ ซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ และโซเดียมไอออนแบตเตอรี่ โดยมีการนำวัสดุชีวมวลมาเพิ่มมูลค่าเพื่อใช้เป็นวัสดุคั่วในกระบวนการผลิตแบตเตอรี่และซุปเปอร์คาปาซิเตอร์ อีกทั้งยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มแบตเตอรี่มาตรฐานสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า หรือ “Thailand Battery Swapping Platform” เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยความร่วมมือกับเครือข่าย 9 หน่วยงานจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ซึ่งแพลตฟอร์มนี้สามารถใช้งานกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าได้หลายยี่ห้อ

ปัจจุบันมีการใช้งานจริงในรูปแบบทดสอบภาคสนาม โดยมอเตอร์ไซค์ 1 คัน ใช้แบตเตอรี่ 2 แพ็กต่อการชาร์จ สามารถวิ่งได้ 50 กิโลเมตร และในอนาคตมีแผนพัฒนาเวอร์ชันใหม่ให้สามารถวิ่งได้ถึง 80 กิโลเมตรต่อการชาร์จ สำหรับสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ ได้ติดตั้งแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บางกรวย และปั๊มบางจาก สาขาเรียบด่วนเอกมัย–รามอินทรา โดยมีการทดสอบกับกลุ่มเดลิเวอรี่จำนวน 10 คัน จาก 2 ยี่ห้อ ได้แก่ ไอมอเตอร์ และจีพีเอ็กซ์ พบว่าวิ่งได้มากกว่า 200 กิโลเมตรต่อคันในระยะเวลา 6 เดือน ขณะนี้มีบริษัทเอกชน 4–5 รายแสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและขยายผล โดยมีแผนถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาระบบให้สามารถใช้งานผ่านบัตรหรือแอปพลิเคชันบนมือถือได้อย่างสะดวก

นอกจากนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) และได้ริเริ่มพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นใหม่ที่มีความจุสูง อายุการใช้งานยาวนาน และปลอดภัยสูง โดยใช้วัตถุดิบในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

เมื่อกล่าวถึงความมั่นคงทางพลังงาน “ไฮโดรเจน” นับเป็นพลังงานแห่งอนาคตที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างกว้างขวาง ด้วยคุณสมบัติเด่นที่เป็นพลังงานสะอาด เมื่อถูกนำไปใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการเผาไหม้โดยตรงหรือผ่านกระบวนการเซลล์เชื้อเพลิง ไฮโดรเจนจะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีเพียง “น้ำ” เป็นผลพลอยได้ ปราศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นคำตอบสำคัญของการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมหนักที่มีการปล่อยคาร์บอนในปริมาณสูง

ในบริบทของประเทศไทย ดร.สุมิตรา กล่าวว่า ประเทศไทยมีการผลิตและใช้งานไฮโดรเจนมาเป็นเวลานานแล้ว โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม เช่น โรงกลั่นน้ำมันที่ผลิตไฮโดรเจนเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการทำความสะอาดน้ำมัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 ด้วยการกำจัดกำมะถันออกจากน้ำมันดิบ ไฮโดรเจนยังถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก และอุตสาหกรรมอื่น ๆ เช่น การผลิตน้ำมันพืช โดยรวมแล้ว ประเทศไทยสามารถผลิตไฮโดรเจนได้มากถึงประมาณ 1,000 ตันต่อวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรามีศักยภาพพื้นฐานในการต่อยอดสู่การใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานหลักในอนาคต

อย่างไรก็ตาม การขยายการใช้งานไฮโดรเจนจากภาคอุตสาหกรรมไปสู่ภาคพลังงาน เช่น การใช้ในยานยนต์พลังงานไฮโดรเจน ยังคงเผชิญความท้าทายด้านต้นทุนที่สูง โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเป็นไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ซึ่งแม้จะสะอาดที่สุด แต่มีต้นทุนแพงที่สุดด้วย ดังนั้น เป้าหมายสำคัญของประเทศไทย รวมถึงนานาประเทศ จึงอยู่ที่การลดต้นทุนการผลิตไฮโดรเจนให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาได้ตั้งเป้าให้สามารถผลิตไฮโดรเจนในราคาเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลกรัมภายใน 6–7 ปีข้างหน้า

“หากประเทศไทยสามารถยกระดับเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนให้ต้นทุนต่ำลงได้ ก็จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานสะอาดและเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว” ดร.สุมิตรา กล่าวทิ้งท้าย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save