มจพ. เปิดตัวต้นแบบ “รถมินิบัสไฟฟ้า” เสริมระบบขนส่งมวลชน เชื่อมต่อขนส่งหลักไร้รอยต่อ


จากปัญหาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะของมหาวิทยาลัยยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนและนักศึกษาเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่รองรับการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง คนจำนวนมากจึงเลือกใช้รถส่วนตัวเพื่อการเดินทางที่สะดวกกว่า หรืออาจจะใช้รถส่วนตัวแล้วต่อด้วยระบบสาธารณะต่างๆ ซึ่งทำให้การใช้รถส่วนตัวกลายเป็นทางเลือกที่จำเป็นและมีคนเลือกใช้มากกว่าขนส่งสาธารณะ การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรองของมหาวิทยาลัยจึงนับเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับแก้ไขปัญหานี้

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จึงเปิดตัว รถมินิบัสไฟฟ้าสำหรับระบบขนส่งสาธารณะระบบรอง (Electric Mini Bus Prototype for Feeder Public Transport System) ซึ่งเป็นผลความสำเร็จจากโครงการวิจัยของทีมนักวิจัย มจพ. นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ ที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จัดสรรโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และมี บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นหน่วยงานร่วมโครงการ โดยรถมินิบัสไฟฟ้าคันแรกนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตอบสนองความต้องการการเดินทางเข้าสู่ระบบขนส่งสาธารณะของนักศึกษา บุคลากร และประชาชน และเชื่อมต่อการเดินทางในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียงได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.ธานินทร์ ศิลป์จารุ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า การค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานที่สำคัญ นั่นคือ ระบบขนส่งสาธารณะที่รองรับการเดินทางของนักศึกษา บุคลากร และประชาชน ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยและพื้นที่ใกล้เคียง สอดคล้องกับนโยบายการบริหารมหาวิทยาลัย ที่ต้องการให้บุคลากรและนักศึกษา มจพ. ได้ทำงานเรียนหนังสือ และใช้ชีวิตภายในรั้ว มจพ. อย่างมีความสุขเป็นสำคัญ อีกทั้งยังมุ่งหวังผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในประเทศไทย ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ช่วยให้เศรษฐกิจเจริญเติบโต อย่างมีเสถียรภาพ และยั่งยืนได้

“การจัดงานในวันนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี เพื่อแสดงว่า มจพ. มีทรัพยากรที่พร้อมและสามารถเป็นส่วนสนับสนุนให้ผู้ประกอบการด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ได้เข้าถึงเทคโนโลยีและมีโอกาสนำความรู้ ในมหาวิทยาลัยไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนมหาวิทยาลัยและทีมนักวิจัย มจพ. ในการสร้างสรรค์ผลงาน “รถมินิบัสไฟฟ้า” คันนี้ โดยเฉพาะ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ที่สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ และ บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ร่วมกันพัฒนาจนกระทั่งเกิดเป็นต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าขึ้นมาในที่สุด” อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าว

สำหรับรถมินิบัสต้นแบบของเราสามารถวิ่งได้ระยะทาง 160 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งใช้เวลาชาร์จเพียง 1 ชั่วโมง โดยระบบแบตเตอรี่ถูกออกแบบให้ติดตั้งบนหลังคาเพื่อป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วม และผลิตตามมาตรฐานที่กำหนด เบื้องต้น เราได้ผลิตนำร่องจำนวน 2 คัน พร้อมออกแบบให้รองรับการให้บริการสำหรับผู้พิการ ทั้งทางขึ้นรถและสัญญาณหยุดรถ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก สกสว.เพื่อขยายการผลิตสำหรับหน่วยงานราชการและมหาวิทยาลัยที่สนใจนำไปใช้งาน

รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท เทียนน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มจพ. กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยรถมินิบัสไฟฟ้า เริ่มจากการที่ทีมนักวิจัย นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ เล็งเห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะหลักในปัจจุบัน ยังไม่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครเท่าที่ควร เนื่องจากยังไม่รองรับการเดินทางตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางในบางพื้นที่ ประชาชนจำนวนมากจึงยังคงเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางมากกว่าการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ขณะที่ทิศทางการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศไทยในระยะหลัง มุ่งมั่นขยายการให้บริการเดินรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน รวมถึงการให้บริการเดินเรือในคลองสายต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทาง ล้อ ราง เรือ ให้เป็นหนึ่งเดียว และเพิ่มทางเลือกการเดินทางให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

ทั้งนี้ ยังนำไปสู่โอกาสในการหยิบยกองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ที่ทีมนักวิจัยของ มจพ. ได้สั่งสมมา ต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์เทคโนโลยีขั้นสูงสำหรับการผลิตรถมินิบัสไฟฟ้าขึ้น เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรอง หรือ ระบบ Feeder ในการให้บริการเสริมในส่วนที่ระบบขนส่งหลักยังไปไม่ถึง โดยการพัฒนางานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณวิจัย จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประเภทงานมูลฐาน หรือ Fundamental Fund ในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ให้ความอนุเคราะห์ในการจัดสรรงบประมาณ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์ด้านยานยนต์ของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ในการดำเนินขั้นตอนประกอบรถมินิบัสไฟฟ้าต้นแบบที่ได้มาตรฐาน จนกระทั่งเกิดเป็นต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้า คันแรกของ มจพ.

สำหรับเป้าหมายของทีมวิจัยที่มีต่อผลงานชิ้นนี้ มุ่งหวังให้เกิดการใช้ประโยชน์รถมินิบัสไฟฟ้า เช่น การให้บริการสำหรับบุคลากร เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของ มจพ. ที่ต้องการใช้บริการในเส้นทางที่กำหนด เพื่อเดินทางไป-กลับ ระหว่าง มจพ. กับจุดหยุดรถที่เชื่อมต่อกับแนวเส้นทางวิ่งของโครงการรถไฟฟ้า หรือการต่อยอดในเชิงพาณิชย์ ให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในภาคขนส่งสาธารณะมากขึ้นทั่วประเทศ เพื่อให้คนไทยได้ใช้ชีวิตประจำวันที่สะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งยังช่วยส่งเสริมการใช้ Local Content ลดการนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ ส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในประเทศ ซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าและต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมของประเทศไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้อย่างยั่งยืน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มจพ. กล่าวว่า ต้นแบบรถมินิบัสไฟฟ้าคันนี้ มีขนาด 7 เมตร จำนวน 18 ที่นั่ง รองรับการใช้บริการของผู้พิการ สามารถวิ่งได้ระยะทาง 100 กิโลเมตรต่อการประจุไฟฟ้า 1 ครั้ง ด้วยความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยใช้ความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และที่สำคัญ สามารถรองรับการอัดประจุไฟฟ้าได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ DC , AC และแบบไร้สาย พัฒนาขึ้นโดยทีมวิจัย มจพ. นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยยุทธ์ สัมภวะคุปต์ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมเครื่องต้นกำลัง วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้ร่วมวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.กัมปนาท เทียนน้อย รองศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย วงศ์ช่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัลลภ กิติสาธร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ คลับคล้าย อาจารย์ ดร.วัยอาจ สายคง และ อาจารย์ ดร.สุนทร โอษฐงาม

ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาระบบอัดประจุไฟฟ้าแบบไร้สาย ซึ่งโดยทั่วแล้ว รถมินิบัสมักใช้การชาร์จแบบ DC เท่านั้น เนื่องจาก AC มีข้อจำกัดเรื่องความเร็วในการชาร์จ ทีมวิจัยจึงเพิ่มระบบชาร์จแบบ AC เข้าไปเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน ทำให้สามารถชาร์จผ่านระบบ AC หรือแบบไร้สายได้ นอกจากนี้ยังพัฒนาแอปพลิเคชัน e-Bus KMUTNB ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการตรวจสอบตำแหน่งของรถและตรวจสอบจำนวนผู้โดยสารบนรถได้อีกด้วย


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save