สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยทัศนีย์ เกียรติภัทราภรณ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุ กับ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ โดย จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ในเขตส่งเสริมฯ พื้นที่ 35 ไร่ เพื่อประกอบกิจการด้านงานระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือน้ำรีไซเคิล ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ส่งเสริมให้ประเทศไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันในฐานะประตูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย โดยมีพยานจากทั้งสองฝ่าย คือ พลเรือเอก วศินสรรพ์ จันทวรินทร์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ และชรินทร์ โซนี่ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ อีสท์ วอเตอร์ และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้เกียรติเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธี ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
สู่การเป็นศูนย์กลาง “มหานครการบินภาคตะวันออก”
สุภาภรณ์ เสนาลักษณ์ ผู้อำนวยการสายงานโครงสร้างพื้นฐาน คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในโครงการ EEC เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อรองรับการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสารและการขนส่งสินค้า และกิจการเชิงพาณิชย์ ตลอดจนส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและ Logistic & Aviation Hub และการเป็นศูนย์กลาง “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่มีความสำคัญ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการจัดการระบบสาธารณูปโภคที่มีมาตรฐานและมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีความทันสมัยระดับสากล ทั้งนี้ ระบบการบริหารจัดการน้ำสำหรับพื้นที่โครงการเป็นอีกหนึ่งในระบบสาธารณูปโภคที่ได้ดำเนินการ โดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาสนามบินให้มีความสัมพันธ์เป็นมิตรกับชุมชน ส่งเสริมสุขภาวะของประชาชน สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ ตามหลักการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาสนามบินและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการเอกชนร่วมลงทุน หรือ PPP ที่ได้มี
การลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา โดยสัญญาร่วมลงทุนได้กำหนดไว้ให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐเป็นผู้จัดหาสาธารณูปโภคประปาและระบบบำบัดน้ำเสียที่ต้องใช้ในพื้นที่โครงการฯ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล เนื่องจากสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยและเป็นศูนย์กลางด้านการบินในอนาคต ทั้งนี้ กองทัพเรือและ สกพอ. เล็งเห็นความสำคัญของการใช้น้ำอย่างประหยัดภายในพื้นที่โครงการ จึงได้กำหนดให้มีขอบเขตของการนำน้ำกลับมาใหม่หรือน้ำรีไซเคิล ระบุในเอกสารการคัดเลือกผู้เช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อประกอบกิจการสาธารณูปโภคนอกเหนือจากงานระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย
กองทัพเรือเลือก อีสท์ วอเตอร์ ดูงานระบบประปา- ระบบน้ำเสีย
ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน
สกพอ. ได้มอบหมายให้กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานร่วมเจ้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกและหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์พื้นที่อยู่เดิม ดำเนินการคัดเลือก โดยมี บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้เช่าที่ราชพัสดุในเขตส่งเสริมฯ พื้นที่ 35 ไร่ เพื่อประกอบกิจการด้านงานระบบประปา ระบบน้ำเสีย ระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่หรือน้ำรีไซเคิล ตลอดระยะเวลาสัญญา 29 ปี 6 เดือน ซึ่งเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างครบวงจร สร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ ในพื้นที่สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะส่งเสริมให้ประเทศไทย มีขีดความสามารถในการแข่งขันในฐานะประตูเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย
เผย 4 โครงการสำคัญ
ดึงดูดนักลงทุนในพื้นที่ EEC
โชคชัย ปัญญายงค์ ที่ปรึกษาพิเศษโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก กล่าวว่า โครงการสนามบินอู่ตะเภามีความสำคัญมาก โดยกองทัพเรือได้มอบพื้นที่ 6,500 ไร่ เพื่อให้รัฐบาลพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค โดยนักลงทุนพร้อมเข้ามาลงทุนในพื้นที่ EEC หากรถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุดและท่าเรือแหลมฉบัง แล้วเสร็จ ซึ่งทั้ง 4 โครงการมีความสำคัญมาก
การที่สนามบินอู่ตะเภาจะสำเร็จได้ ขึ้นอยู่โครงสร้างพื้นฐานและความพร้อมได้มาตรฐานสากล โดยโครงการนี้มีการจัดระบบน้ำประปา และบำบัดน้ำเสียในเขตภาคตะวันออก ในส่วนน้ำประปาผลิตได้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา การที่อีสท์ วอเตอร์ ได้รับการคัดเลือกจากกองทัพเรือ เนื่องจากแม้จะเป็นบริษัทเอกชนแต่มีภาครัฐถือหุ้นถึง 40% และเป็นบริษัทเอกชนที่ร่วมมือกับทางภาครัฐมาโดยตลอด โดยอีสท์ วอเตอร์ จะมีกำลังการผลิตน้ำประปา 2 หมื่นลบ.ม.ต่อวัน คิดเป็น 7 ล้านลบ.ม.ต่อปี สามารถบำบัดน้ำเสียได้ 80% ของน้ำดี กว่าครึ่งของน้ำเสียใช้ผลิตน้ำรีไซเคิลได้ มูลค่าการลงทุน 1,060 ล้านบาท โดยรัฐได้ผลตอบแทนจากค่าเช่าที่ดิน ค่าจัดการประโยชน์ 1% ของมูลค่า รวมทั้งส่วนแบ่งรายได้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่าที่แบ่งให้รัฐ 7%
COVID-19 ไม่กระทบต่อสนามบินอู่ตะเภา
พร้อมเปิดให้บริการภายในปี ’68
สำหรับสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสนามบินอู่ตะเภาแต่อย่างใด โดย สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (The International Air Transport Association : IATA ได้คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินจะฟื้นตัวในปี 2024 หรือปีพ.ศ.2567 ซึ่งสอดคล้องกับแผนสร้างสนามบินอู่ตะเภา ที่จะแล้วเสร็จภายในปีพ.ศ.2567 เพื่อเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีพ.ศ.2568 โดยธุรกิจการบิน จะ Rebound ในส่วนของ Domestic ที่จะฟื้นตัวเร็วภายในปีหน้า อีกทั้งมีข่าวดีที่จะได้ใช้วัคซีนป้องกัน COVID-19 ในปลายปีนี้และปีหน้า โครงการสร้างสนามบินอู่ตะเภาจึงเป็นไปตามแผนที่วางไว้
อีสท์ วอเตอร์พร้อมก้าวสู่การเป็น Total Water Solutions
สร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก
จิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญได้รับความไว้วางใจ มีการลงนามเช่าที่ดินราชพัสดุร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เพื่อเดินหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำครบวงจรทั้งระบบ ซึ่งจะรองรับการใช้น้ำที่เกิดจากการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกได้เป็นอย่างดี ด้วยศักยภาพและความเชี่ยวชาญของอีสท์ วอเตอร์ พร้อมก้าวสู่การเป็น Total Water Solutions จะช่วยสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อรองรับการเติบโตของทุกภาคส่วนตามนโยบายโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
อีสท์ วอเตอร์ มีแนวคิดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา โดยมีระบบท่อส่งน้ำดิบหนองปลาไหล – ดอกกราย – มาบตาพุด – สัตหีบ สามารถส่งจ่ายน้ำดิบได้มากถึง 318 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี หรือประมาณ 0.87 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน อีกทั้ง ได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมการวางท่อส่งน้ำมาบตาพุด –สัตหีบ เส้นที่ 2 เพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต เพิ่มศักยภาพการส่งจ่ายน้ำดิบในอีก 10 ปีถัดไป ได้อย่างเพียงพอยิ่งขึ้น
เผยนำเทคโนโลยีน้ำที่ทันสมัยที่สุดในไทย
มาบำบัดน้ำเสียให้สนามบินอู่ตะเภา
นอกจากนี้ อีสท์ วอเตอร์ มีการออกแบบระบบผลิตน้ำประปา ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขนาดกำลังการผลิต 20,000 ลบ.ม. ต่อวัน ซึ่งเป็นการผลิตน้ำประปาที่สะอาดมีคุณภาพระดับสากล ลดการใช้พื้นที่ติดตั้ง มีกำลังการผลิตได้ตามความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้น ออกแบบระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะกับโครงการที่เป็นการพัฒนาพื้นที่ในระยะยาว รองรับน้ำเสีย 16,000 ลบ.ม. ต่อวัน เป็นการบริหารจัดการน้ำเสียที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบสนามบิน โดยทางอีสท์ วอเตอร์ สกพอ. และกองทัพเรือ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการบริหารจัดการน้ำเสียในพื้นที่สนามบินฯ เป็นอย่างมาก เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ประชาชนและชุมชนโดยรอบสนามบิน ควบคู่กับการสร้างความยั่งยืนในระบบนิเวศ สร้างระบบน้ำรีไซเคิลกำลังการผลิต 5,000 ลบ.ม. ต่อวัน โดยนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ในระบบทำความเย็นกลาง เน้นย้ำให้เห็นถึงการเป็นผู้นำในด้านการบริหารจัดการน้ำครบวงจร และใส่ใจในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ จะใช้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำแบบครบวงจร สร้างความมั่นคงและเสถียรภาพด้านน้ำ รองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนของโครงการ EEC ในอนาคต
“อีสท์ วอเตอร์ได้นำเทคโนโลยีน้ำที่ทันสมัยที่สุดในไทยมาบำบัดน้ำเสีย หวังว่าโครงการนี้จะสร้างประโยชน์สำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงโครงการนี้ แต่ทั่วประเทศ ทั้ง EEC และกองทัพเรือ เนื่องจากน้ำมีความสำคัญ การนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเชื่อว่าความร่วมมือของทุกภาคส่วน ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ” จิรายุทธ กล่าว
แหล่งน้ำนำมาใช้ประโยชน์มีเสถียรภาพและเพียงพอ
รองรับผู้ใช้ในพื้นที่ EEC
จิรายุทธ กล่าวว่า อีสท์ วอเตอร์ได้ร่วมมือกับกองทัพเรือมา 2 ปีแล้ว โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี การมี EEC มาช่วยพัฒนาโครงการน้ำให้เป็น Environmental Friendly นำระบบมาใช้เพื่อประหยัดพลังงาน นำน้ำเสียมาบำบัดใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ให้คุณภาพน้ำมีมาตรฐานสูง
“สิ่งที่สำคัญ คือ แหล่งน้ำนำมาใช้ประโยชน์มีเสถียรภาพและ เรามีระบบโครงข่ายท่อส่งน้ำดิบความยาวกว่า 500 กิโลเมตร และพัฒนาแหล่งน้ำเสร็จไตรมาสแรกในปีหน้า มีอ่างเก็บน้ำคลองหลวง นอกจากนี้ยังร่วมมือใกล้ชิดกับกรมชลประทานในการพัฒนาแหล่งน้ำหลัก โดยกรมชลประทานมีแม่น้ำบางปะกง ซึ่งอีสท์ วอเตอร์ มีความร่วมมือ 20-30 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับผู้ใช้น้ำในพื้นที่ EEC” จิรายุทธ กล่าวทิ้งท้าย