เดลล์ เทคโนโลยีส์ เปิดตัว Dell AI for Telecom โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อเร่งให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร (CSPs) นำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้งานได้ง่ายและรวดเร็ว โดยโปรแกรม Dell AI for Telecom นับเป็นส่วนหนึ่งของ Dell AI Factory ที่ช่วยตอบโจทย์ความท้าทายเหล่านี้ ด้วยการนำความเชี่ยวชาญด้าน AI ของเดลล์ รวมถึงระบบโครงสร้างพื้นฐานและการบริการ พร้อมซอฟต์แวร์และซิลิคอนที่ครอบคลุมระบบนิเวศ AI ทั้งหมดมารวมไว้ด้วยกัน โปรแกรมนี้จะพัฒนาและนำโซลูชัน AI มาใช้ภายในองค์กร เพื่อให้ผู้ให้บริการด้านการสื่อสารสามารถใช้โซลูชัน AI เพิ่มประสิทธิภาพเครือข่าย ปรับปรุงการให้บริการลูกค้า และสร้างคุณค่าจากเอจด์ (เทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 2.75G) เอ็นเตอร์ไพร์ซได้มากยิ่งขึ้น Dell AI for Telecom จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในวงการสื่อสาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้บริการสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในยุคดิจิทัล
แดนนี่ อัลมาร์จี้ รองประธานฝ่าย Presales ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า Dell AI for Telecom นำความเชี่ยวชาญด้าน AI และระบบโครงสร้างพื้นฐานของเดลล์ มารวมไว้ด้วยกัน พร้อมด้วยพันธมิตรทั่วทั้งระบบนิเวศ เพื่อช่วยผู้ประกอบการเครือข่ายติดตั้งโซลูชัน AI สำหรับใช้ภายในเครือข่ายและบนเครือข่าย ที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ปรับปรุงประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสใหม่จากการทำรายได้ในส่วนเอดจ์ โดยเดลล์ได้ขยายความร่วมมือกับ NVIDIA เพื่อปฏิรูปเครือข่ายโทรคมนาคมผ่านโซลูชัน AI ที่สร้างและตรวจสอบโดย Dell AI Factory ร่วมกับ NVIDIA โดยใช้เซิร์ฟเวอร์ Dell PowerEdge และ NVIDIA GPUs รวมถึงซอฟต์แวร์ AI ของผู้จำหน่ายรายอื่นๆ ซึ่งโซลูชันเหล่านี้ช่วยให้ผู้ให้บริการสื่อสาร (CSPs) นำ AI มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลลูกค้าและปรับปรุงการบำรุงรักษาเครือข่ายด้วยแพลตฟอร์ม Amdoc amAIz สร้างสคริปต์สำหรับคอลเซ็นเตอร์และทำให้การดูแลลูกค้าเป็นไปโดยอัตโนมัติผ่าน Iternal รวมถึงวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเครือข่ายด้วย Kinetica SQL-GPT และพัฒนาระบบ Digital Twins เพื่อการบำรุงรักษาเชิงคาดการณ์ด้วย Synthefy
นอกจากนี้ เดลล์ยังอำนวยความสะดวกในการนำ AI มาใช้ที่ปลายทางของเครือข่ายโทรคมนาคมด้วยเซิร์ฟเวอร์ PowerEdge XR8000 ที่ปัจจุบันมาพร้อมกับ NVIDIA L4 Tensor Core GPUs ซึ่งออกแบบมาสำหรับโทรคมนาคมและกรณีการใช้งานที่เอดจ์โดยเฉพาะ อีกทั้งยังช่วยผู้ให้บริการออกแบบและปรับใช้บริการ GPU-as-a-Service (GPUaaS) เพื่อให้สามารถมอบศักยภาพของ NVIDIA GPU แบบออนดีมานด์ให้กับลูกค้าระดับองค์กร โซลูชันนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ AI เวิร์กโหลด ช่วยปลดล็อกโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ ลดความล่าช้า และทำให้การฝึกฝน AI รวมถึงการทำอนุมานเกิดขึ้นใกล้แหล่งข้อมูลมากขึ้น นอกจากนี้ Dell Professional Services ยังช่วยให้คำปรึกษาและการติดตั้งโซลูชัน AI สำหรับการใช้งานในภาคโทรคมนาคมอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับความร่วมมือกับผู้ให้บริการ CSPs ในส่วนของ Dell Telecom Open Ecosystem Labs ในการพัฒนาโซลูชัน AI โดยใช้ระบบโครงสร้างพื้นฐาน Dell AI Factory พร้อมระบบนิเวศด้านพันธมิตร เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดียิ่งขึ้นให้กับลูกค้า อีกทั้งช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น Lintasarta ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเสนอโซลูชันเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและสารสนเทศของอินโดนีเซีย กำลังนำเสนอบริการ GPU Merdeka ในลักษณะของ GPUaa S เพื่อให้บริการระบบโครงสร้าง AI รวมถึง NVIDIA GPUs พร้อมเซิร์ฟเวอร์ Dell PowerEdge XE9680 สำหรับธุรกิจระดับประเทศ และ SK Telecom ทั้งนี้ เดลล์พร้อมด้วยพันธมิตรรายอื่นๆ กำลังร่วมมือกันพัฒนาเอเจนต์ AI chat สำหรับผู้ให้บริการด้านการสื่อสาร ซึ่งการสร้างแพลตฟอร์ม AI สำหรับผู้ประกอบการเครือข่ายมือถือ (Mobile Network Operator (MNO) AI Platform) ทีมงานจะมุ่งที่การผสาน AI เข้ากับระบบสนับสนุนธุรกิจ (BSS – Business Support Systems) ที่มีอยู่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ สร้างการเติบโตของรายได้ อีกทั้งช่วยตอบสนองและแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว
ด้านฐิตพล บุญประสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ เดลล์ เทคโนโลยีส์ ในประเทศไทย กล่าวว่า บรรดาธุรกิจในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงพลังในการเปลี่ยนแปลงของ AI และ Gen AI ที่ให้ศักยภาพสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยและยกระดับประสบการณ์ที่เหนือชั้นให้แก่ลูกค้า ความท้าทายในขณะนี้ คือการเปลี่ยนจากแนวคิดสู่การใช้งานจริง และการสร้างระบบนิเวศของพันธมิตรที่เชื่อถือได้คือสิ่งสำคัญยิ่งที่ช่วยให้องค์กรสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ปลอดภัย สามารถปรับขยายเพื่อรองรับนวัตกรรมได้ อีกทั้งช่วยตอบโจทย์ความกังวลใจหลักอย่างความเป็นส่วนตัวของข้อมูล การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถที่เหมาะสม และการสร้างความยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์มากขึ้น แต่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่สำหรับองค์กรไทย โดยเฉพาะการโจมตีด้วยมัลแวร์ ฟิชชิ่ง และการละเมิดข้อมูล ซึ่งพนักงานเองก็มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดช่องโหว่เหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมการหลีกเลี่ยงนโยบายความปลอดภัยเพื่อความสะดวกในการทำงาน ดังนั้น การฝึกอบรมพนักงานให้ตระหนักถึงภัยคุกคามและปฏิบัติตามมาตรการการรักษาความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อลดความเสี่ยงจากการโจมตีทางไซเบอร์