ไบโอเทค จับมือ ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล วิจัยพัฒนา ‘กับดักราแมลงกำจัดปลวก’ ทางเลือกใหม่ในการลดสารเคมีในครัวเรือน


ปลวกบ้าน หนึ่งในศัตรูที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอากาศร้อนชื้น สามารถกัดกินวัสดุและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างไม้ทุกที่ทั้งอาคารบ้านเรือน สำนักงาน โรงเรียน และสถานที่ราชการ แต่การกำจัดปลวกในปัจจุบันยังคงพึ่งพาสารเคมีเป็นหลัก เช่น สารกำจัดปลวกในกลุ่ม Organophosphates และ Pyrethroids ซึ่งสามารถฆ่าปลวกและป้องกันการระบาด แต่การใช้สารเคมีเหล่านี้มีข้อเสียมากมาย ไม่ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลกระทบต่อสัตว์เลี้ยง การใช้ชีวภัณฑ์เพื่อควบคุมปลวกบ้าน จึงนับเป็นแนวทางเพื่อลดใช้สารเคมี และส่งเสริมสุขภาพของคน สัตว์เลี้ยง และรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทคสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และบริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงลงนามความร่วมมือในโครงการ “การพัฒนากับดักราแมลงกำจัดปลวก” เพื่อมุ่งวิจัยราแมลงและพัฒนากับดักสำหรับกำจัดปลวกในที่อยู่อาศัย ด้วยวิธีชีวภาพ (Biocontrol) ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์เลี้ยง ภายใต้การสนับสนุนจากโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) โดยตั้งเป้าสร้างกับดักปลวกชีวภาพ 100% ด้วยการใช้ราแมลงแทนสารเคมี

ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน นักวิจัยอาวุโส หัวหน้าทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค เปิดเผยว่า ปัจจุบันมนุษย์ให้ความสำคัญต่อสภาพแวดล้อมการเป็นอยู่ที่ปลอดภัย จึงหันมาเลือกใช้สิ่งของอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ลดสารเคมีลง ชีวภัณฑ์จึงเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้ควบคุมศัตรูพืชต่าง ๆ ที่มีความยั่งยืน นำไปสู่การศึกษาประสิทธิภาพของชีวภัณฑ์ราแมลงที่มีความสามารถในการฆ่าแมลงที่จำเพาะเจาะจงในปลวก Coptotermes gestroi สำหรับพัฒนาเป็นกับดักปลวกแบบชีวภาพ (100% Organic) โดยใช้ราแมลงทดแทนสารเคมีกำจัดแมลงได้ในอนาคต การศึกษาวิจัยด้านการใช้ชีวภัณฑ์ราแมลง เพื่อกำจัดปลวกบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย เนื่องจากปลวกบ้าน (Coptotermes gestroi) เป็นศัตรูสำคัญและสร้างความเสียหายร้ายแรงต่อโครงสร้างอาคารและบ้านเรือน ปัจจุบันวิธีที่ใช้อยู่คือสารเคมี การใช้ราแมลงมาควบคุมเป็นแนวทางใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ในการจัดการปลวกบ้านแบบธรรมชาติ

“วิธีกำจัดปลวกของรา คือ ราจะเข้าไปอาศัยในตัวแมลงเพื่อใช้เป็นแหล่งอาหาร แล้วราจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนแมลงเจ้าบ้านตายในที่สุด และจะพัฒนาโครงสร้างที่ใช้ในการสืบพันธุ์ที่เต็มไปด้วยสปอร์งอกบนซากของแมลง สปอร์ราที่มีการพัฒนาสมบูรณ์แล้วก็พร้อมเข้าทำลายแมลงเจ้าบ้านตัวใหม่ต่อไป ราแมลงจึงจัดว่าเป็นการพัฒนาสารชีวภัณฑ์ที่ออกฤทธิ์ควบคุมแมลงได้ดีขึ้น ไม่มีสารพิษตกค้าง และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้และผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การลดหรือทดแทนสารเคมีได้ในอนาคต”ดร.อลงกรณ์ กล่าว

การใช้ชีวภัณฑ์อย่างราแมลง จึงถือว่ามีความปลอดภัยมาก เนื่องจากจุลินทรีย์ที่เป็นชีวภัณฑ์เหล่านี้ได้ผ่านการทดสอบพิษวิทยาแล้วว่าไม่สามารถเติบโตได้ในอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ และปลอดภัยต่อสัตว์เลือดอุ่น ซึ่งถือเป็นทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความปลอดภัย เนื่องจากจุลินทรีย์ก็เป็นสิ่งมีชีวิต เมื่อเราฉีดพ่นไป ถ้าไม่มีปลวกอยู่ จุลินทรีย์เหล่านี้ก็จะตายลง โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ใน 1 ปีต่อจากนี้ เราหวังว่าจะมีต้นแบบให้บริษัทฯ ออกเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เชาวรีย์ อรรถลังรอง ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวว่า จากข้อได้เปรียบเรื่องทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพสูงของไทย สวทช. โดยศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย (TBRC) ได้รวบรวมจัดทำคลังจุลินทรีย์ของประเทศ ซึ่งมีทั้งเชื้อรา แบคทีเรีย และยีสต์ เป็นจำนวนมาก โดยทีมวิจัยเทคโนโลยีการควบคุมทางชีวภาพ ไบโอเทค ได้มุ่งค้นหาและศึกษาจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติเป็นชีวภัณฑ์ด้านการเกษตรที่โดดเด่นจาก TBRC ปัจจุบันสามารถถ่ายทอดออกสู่ภาคเอกชน และผลักดันเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก ชีวภัณฑ์ควบคุมแมลงศัตรูพืชเพื่อใช้ในการเกษตรหลายชนิด อาทิ ราบิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) สำหรับควบคุมแมลงกลุ่มเพลี้ย ราเมตาไรเซียม (Metarhizium) สำหรับควบคุมไรแดง การลงนามริเริ่มโครงการ “การพัฒนากับดักราแมลงกำจัดปลวก” ในครั้งนี้ จึงเป็นการพัฒนาชีวภัณฑ์เพื่อขยายผลสู่แมลงรบกวน ที่เป็นปัญหาสำคัญในครัวเรือน

“เรามีความพร้อมอย่างมากในการพัฒนากับดักราแมลงสำหรับกำจัดปลวก ด้วยทีมวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีชีววิธีที่ทันสมัย นำโดย ดร.อลงกรณ์ อำนวยกาญจนสิน ผู้มีประสบการณ์ด้านการวิจัยชีวภาพ(Biocontrol) มากว่า 10 ปี นอกจากนี้ เรายังมีคลังจุลินทรีย์ขนาดใหญ่ที่เก็บรักษาสายพันธุ์จุลินทรีย์กว่า 100,000 สายพันธุ์ ซึ่งแต่ละสายพันธุ์สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในงานต่าง ๆ ได้หลากหลาย ทั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมและการแก้ปัญหาอย่างปลอดภัยและยั่งยืน” ผู้อำนวยการไบโอเทค กล่าว

ด้าน นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ ตั้งคารวคุณ กรรมการ บริษัท ทีโพล์ โปรเฟสชั่นแนล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทฯ ทำตลาดในกลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ในครัวเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ด้านสุขอนามัย และผลิตภัณฑ์กำจัดแมลงในบ้านเรือน จนถึงกลุ่มธุรกิจภาคอุตสาหกรรม และอนาคตจะพัฒนาถึงกลุ่มโรงงานผลิตยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยทิศทางของบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมชีวภัณฑ์กำจัดแมลง ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ในพอร์ตโฟลิโอของเราให้ถึง 20% และสร้างระบบสนับสนุนเกษตรกรให้เข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเราได้ง่ายขึ้น

“ชีวภัณฑ์กำจัดแมลงไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือคำมั่นสัญญาของเราที่จะช่วยเกษตรกรและรักษาสิ่งแวดล้อม บริษัทของเราพร้อมแล้วที่จะนำพาอุตสาหกรรมนี้ไปสู่อนาคตที่ดีกว่า” ด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการรักษาสิ่งแวดล้อม สำหรับบริษัทฯ การเติบโตในอุตสาหกรรมนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเป้าหมายทางธุรกิจ แต่ยังเป็นพันธกิจที่จะช่วยขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืน” นายแพทย์ณรงค์ฤทธิ์ กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save