เขื่อนนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ทั้งในด้านการกักเก็บน้ำ พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เขื่อนภูมิพล ซึ่งเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งแห่งแรกของไทยที่มีบทบาทในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา อย่างไรก็ตาม เขื่อนก็มีความเสี่ยงหากเกิดภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายรุนแรงและกว้างขวาง
จากความสำคัญดังกล่าว จึงเกิดความร่วมมือภายใต้โครงการ “อาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ (เปิดโลกลานเกียร์)” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิอรุณ สรเทศน์ และสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา จึงจัดงานเสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “ผลกระทบและแนวทางการป้องกันแผ่นดินไหวต่อเขื่อนภูมิพล (ยันฮี)”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกูลชัย ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา และศาสตราจารย์กิตติคุณจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง แต่หากเกิดขึ้น ความเสียหายก็อาจรุนแรงอย่างมหาศาล โดยเฉพาะกับโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน อาคารสาธารณะ และอาคารในชุมชนต่าง ๆ ดังนั้นภาครัฐจึงมีหน้าที่กำหนดระดับความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ หากไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้ ก็จำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการออกแบบโครงสร้างให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้ ไม่ว่าจะเป็นอาคารทั่วไปหรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ การก่อสร้างต้องคำนึงถึงทั้งความถี่และขนาดของแผ่นดินไหว แม้จะไม่สามารถคาดการณ์ขนาดที่แน่นอนได้ก็ตาม
รศ.ดร.ฉัตรพันธ จินตนาภักดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรฐานโครงสร้างของประเทศไทยในปัจจุบันถือว่ามีความครอบคลุมและเพียงพอ หากมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ยังพบปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น หน่วยงานบางแห่งไม่ยอมให้นำวัสดุก่อสร้างไปตรวจสอบคุณภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับหลักความปลอดภัยพื้นฐาน โดยเฉพาะหลังจากเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติในบางพื้นที่ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าทุกภาคส่วนควรตระหนักและปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในอนาคต
“ความปลอดภัยจากแผ่นดินไหวของประเทศไทยมีมาตรฐานที่ใช้เป็นกรอบอ้างอิงแล้ว เช่น มยผ.1301, 1302 และ 1303 แต่สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่มีมาตรฐานเท่านั้น แต่ต้องมีทัศนคติที่ถูกต้อง และการปฏิบัติตามมาตรฐานอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งมีระบบกำกับดูแลที่โปร่งใส และสามารถบังคับใช้ได้จริงในทุกระดับ” รศ.ดร.ฉัตรพันธ กล่าว
โครงสร้างขนาดใหญ่อย่างเขื่อนภูมิพล ที่ตั้งอยู่บริเวณตอนบนของแม่น้ำปิง จังหวัดตาก เป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งแห่งแรกและถือเป็นเขื่อนใหญ่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย มีความสูง 154 เมตร ความยาวตามแนวโค้ง 486 เมตร และฐานกว้าง 52 เมตร ทำหน้าที่เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ โดยสามารถกักเก็บน้ำจากพื้นที่รับน้ำได้ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำสูงสุดที่สามารถเก็บได้อยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ภายในเขื่อนมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 8 ยูนิต รวมกำลังผลิตติดตั้ง 779 เมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประชาชนประมาณ 1 ล้านถึง 1.5 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญด้านชลประทาน โดยสามารถจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบเพื่อหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกได้ถึงประมาณ 10.5 ล้านไร่
กำฤทธิ์ ใบแย้ม ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาโยธา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ปัจจุบันเขื่อนภูมิพลมีอายุการใช้งานกว่า 56 ปี ในด้านความปลอดภัย เขื่อนภูมิพลได้รับการดูแลภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่เข้มงวด โดยเฉพาะในประเด็นของแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นภัยธรรมชาติที่อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเขื่อน จากข้อมูลพบว่าเขื่อนภูมิพลตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางของแผ่นดินไหวล่าสุดประมาณ 577 กิโลเมตร โดยมีค่าความเร่งพื้นดินอยู่ที่ 0.07 จี ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนได้ดำเนินการตรวจสอบและไม่พบสิ่งผิดปกติใด ๆ อุปกรณ์ตรวจวัดพฤติกรรมของเขื่อนเพียงบันทึกการกระเพื่อมของน้ำเล็กน้อย ก่อนที่ทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ
การดูแลเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีความเข้มงวดและเป็นระบบ โดยติดตั้งระบบ “Dam Safety Remote Monitoring” เพื่อเฝ้าระวังและวัดพฤติกรรมของเขื่อนทั้ง 14 แห่งทั่วประเทศในสังกัด กฟผ. ข้อมูลที่รวบรวมได้ เช่น อัตราเร่งพื้นดิน การรั่วซึม และความเครียดในโครงสร้าง จะถูกส่งไปยังสำนักงานกลางเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์และติดตามพฤติกรรมของเขื่อนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่มาตรการด้านความปลอดภัยของ กฟผ. ยังเป็นไปตามข้อกำหนดขององค์กรระหว่างประเทศอย่าง ICOLD (International Commission on Large Dams) โดยแบ่งการตรวจสอบออกเป็นหลายระดับ เช่น การตรวจสอบด้วยสายตาโดยเจ้าหน้าที่ประจำเขื่อนเป็นรายวัน รายสัปดาห์ และรายเดือน พร้อมจัดทำรายงานส่งต่อไปยังส่วนกลาง นอกจากนี้ยังมีคณะกรรมการตรวจสอบเขื่อน ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านโยธา วิศวกรรมไฟฟ้า และระบบควบคุม เพื่อติดตามผลกระทบที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งในส่วนของท้ายเขื่อนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ
นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการดำเนินการ “Dam Safety Review” หรือการทบทวนความปลอดภัยของเขื่อนในรอบ 5 ปี และ 10 ปี รวมถึงการเปิดเผยข้อมูลผ่านระบบแดนเซฟตี้รีโมทให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างโปร่งใส อีกทั้งยังมีแอปพลิเคชัน “EGAT ONE” สำหรับการตรวจสุขภาพเขื่อนและให้ประชาชนติดตามข้อมูลต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางประเภทอาจต้องใช้ระยะเวลาในการวิเคราะห์เพื่อความถูกต้องก่อนเผยแพร่ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกโครงสร้างของเขื่อนจะสามารถรองรับภัยพิบัติ และรักษาความปลอดภัยให้แก่ประชาชนได้ในระยะยาว
“รอยเลื่อนแผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สิ่งสำคัญไม่ใช่การหนี แต่คือการอยู่ร่วมกับความเสี่ยงอย่างมีสติและบริหารจัดการให้เหมาะสม เทคโนโลยีในอนาคตจะเข้ามาช่วยเสริมความมั่นคงของเขื่อน โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพล ที่ กฟผ. ดูแลอย่างใกล้ชิดและเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องเพื่อวิเคราะห์ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญในระยะยาว” กำฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้าย
รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลากว่า 56 ปีที่ผ่านมา การประเมินความเสี่ยงของเขื่อนภูมิพลจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามข้อมูลใหม่ โดยเฉพาะเมื่อมีการค้นพบรอยเลื่อนทางธรณีวิทยาเพิ่มเติม ซึ่งส่งผลให้ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ (probability) และผลกระทบ (consequence) ต้องมีการประเมินใหม่ การเข้าใจความเสี่ยงของเขื่อนจึงต้องย้อนกลับไปดูแนวคิดการออกแบบดั้งเดิมและคุณภาพของวัสดุ โดยในปี 2009 และ 2015 มีการใช้เทคนิคการประเมินทางฟิสิกส์เพื่อตรวจสอบคุณภาพของคอนกรีตในตัวเขื่อน ซึ่งผลการวิเคราะห์พบว่าคุณภาพของคอนกรีตยังดีและมีความสม่ำเสมอระหว่างช่วงเวลา
เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งแบบ Gravity ซึ่งถูกออกแบบเป็นล็อกแต่ละช่วง โดยแต่ละล็อกต้องสามารถรองรับแรงกระทำต่าง ๆ และป้องกันการลื่นไถลได้ นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบธรณีฟิสิกส์ข้ามล็อกโดยส่งคลื่นสั่นสะเทือนเพื่อตรวจสอบการแนบชิดของโครงสร้าง ผลปรากฏว่าการส่งถ่ายพลังงานระหว่างล็อกทำได้ดี แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงของโครงสร้างโดยรวม