สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) จัด สัมมนา Digital Inclusion เดินหน้าเดินหน้าพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ MODEST เครื่องมือประเมินผลกระทบของนโยบายดิจิทัลแบบจําลองทางเศรษฐศาสตร์คํานวณดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE) สะท้อนถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการประยุกต์ โดยมีจุดเน้นไปที่การชี้วัดถึงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ควบคู่ไปกับการประเมินผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการสู่การพัฒนาการวิเคราะห์ภูมิภาคอาเซียน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ กรุงเทพฯ
อำไพ จิตรแจ่มใส รองเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า BDE ได้เปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัล ปี 2567 ขยายตัว 5.7% คิดเป็น 2.2 เท่า ของ GDP โดยรวม มูลค่ารวม 4.44 ล้านบาท สะท้อนเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (MDES) โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) ได้เห็นถึงความสำคัญ จึงได้ริเริ่มโครงการพัฒนาแบบจำลอง MODEST เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการวางแผนเชิงนโยบายที่มีเป้าหมายในการวิเคราะห์ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลต่อเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล โดยแบบจำลองนี้ ออกแบบมาเพื่อช่วยผู้กำหนดนโยบายในการพิจารณาแนวทางการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลที่เหมาะสม และมุ่งหวังว่า จะเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับประเทศไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนในการประเมินผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และเพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมาย อาทิ การเสริมสร้างการเข้าถึงดิจิทัล การส่งเสริมบริการดิจิทัล และการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
โครงการดังกล่าว ได้มีการพัฒนาฐานข้อมูลที่ครอบคลุมสำหรับรองรับการดำเนินงานของแบบจำลอง โดย “MODEST Model” เป็นแบบจำลองระดับมหาภาค ข้อมูลหลักที่ใช้ประกอบด้วย ตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตดิจิทัลจากสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) บัญชีรายได้ประชาชาติจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) และข้อมูลรายได้จากภาษีจากกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต สำหรับ “Micro-MODEST Model” ซึ่งเป็นแบบจำลองระดับจุลภาค ใช้ข้อมูลจาก Thailand Digital Outlook การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม การสำรวจแรงงาน และสำมะโนอุตสาหกรรมและธุรกิจ รวมถึงข้อมูลจากแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลด้วยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนและการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง แบบจำลองนี้ จะสามารถรองรับการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายในมิติที่หลากหลาย ทั้งในด้านการค้าเสรี การไหลเวียนทางดิจิทัล และปัจจัยเชิงภูมิภาคอื่น ๆ ได้อีกด้วย
สำหรับเครื่องมือเพื่อใช้ในการประเมินผลกระทบของนโยบายดิจิทัลดังกล่าว ได้แก่ แบบจำลอง Ministry of Digital Economy and Society of Thailand (MODEST) และแบบจำลอง Micro-MODEST ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากนโยบายดิจิทัล ควบคู่ไปกับการแสดงภาพการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล
พลอยรวี เกริกพันธ์กุล ผู้อำนวยการกองขับเคลื่อนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ BDE กล่าวว่า การพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ ในเชิงบวกจะสามารถเพิ่มโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้นได้ มีความยืดหยุ่นในการทำงานที่เพิ่มขึ้น แต่ในด้านลบก็จะพบกับปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ หรือแม้กระทั่งการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลนำไปสู่การถูกหลอกลวงทางออนไลน์ ประเด็นดังกล่าวมองว่าประเทศไทยยังพบกับความท้าทายในหลากหลายด้านต่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืนและทั่วถึง เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลยังไม่ถึงเป้าหมายที่30% เศรษฐกิจมีการเติบโตแบบผันผวน อีกทั้งภาคเอกชนสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล และเสี่ยงต่อการตกขบวนจากการเติบโตทางเทคโนโลยี เพราะไม่สามารถผลิตสินค้าที่ตลาดโลกต้องการได้ ตลอดจนภาครัฐยังคงมีบทบาทค่อนข้างขำกัดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งมีองค์ประกอบของดิจิทัลGDP ด้านการบริโภคของครัวเรือนที่ร้อยละ 39.29% การใช้จ่ายของภาครัฐ 1.51% การลงทุนของภาคเอกชน 43.78% การส่งออก/นำเข้า 15.41% อีกทั้งจากข้อมูลการสำรวจพบว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลในหลากหลายด้านยังคงอยู่ อาทิ กลุ่มคนจนที่สุด กลุ่มคนที่มีวุฒิภาวะการศึกษาสูงสุดเพียงระดับประถมศึกษา กลุ่มผู้สูงวัย และกลุ่มคนในพื้นที่ห่างไกล ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับมาตรการการแก้ไขในกลุ่มคนจนที่สุดเป็นอันดับแรก
เผยผลการศึกษาเชิงเทคนิคในการทดลองประเมินผลลัพธ์ของนโยบายด้านดิจิทัลผ่านฉากทัศน์
แบบจำลอง MODEST ประกอบด้วย 3 รูปแบบ
- ฉากทัศน์ 1 การเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลของครัวเรือน จำนวน 1.2 ล้านครัวเรือนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่ขาดแคลนอุปกรณ์ดิจิทัลและการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน เพื่อให้มีอุปกรณ์และการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตจนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้
- ฉากทัศน์ 2 การเพิ่มทักษะดิจิทัลของแรงงาน จำนวน 6.97 ล้านคนในกลุ่มครัวเรือนในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้สามารถนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในการทำงานที่ตนเองทำอยู่
- ฉากทัศน์ 3 การเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล เพื่อให้เกิดการเติบโตของมูลค่าอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 12 ตามเป้าหมายของนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ศ. 2561-2580) ฉบับปรับปรุง
เมื่อพิจารณาจากผลการวิเคราะห์แบบจำลองในฉากทัศน์ 3 พบว่า หากมีการลงทุนในภาคเศรษฐกิจดิจิทัลที่ทำให้มูลค่าอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยเติบโต ร้อยละ 12 โดยที่การเข้าถึงเทคโนโลยีและทักษะดิจิทัลของประชากรยังคงอยู่ในระดับเดิม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจะทวีความรุนแรงขึ้น อันเป็นผลมาจากการที่รายได้ของกลุ่มผู้มีรายได้สูงเติบโตรวดเร็วกว่ากลุ่มผู้มีรายได้น้อย ถึงแม้ว่าจะช่วยให้ GDP ของประเทศเติบโตได้ ร้อยละ 5.44 ก็ตาม
จากผลการวิเคราะห์แบบจำลอง ในฉากทัศน์ 1 และ 2 ชี้ให้เห็นว่า การขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลและการพัฒนาทักษะดิจิทัลอย่างทั่วถึง สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในฉากทัศน์ทั้งสองอาจไม่สูงมากนัก (GDP เติบโตร้อยละ 0.26 และ 0.22 ตามลำดับ) แต่ในความเป็นจริง สถานการณ์ภายใต้ฉากทัศน์ทั้งสอง มีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตได้มากขึ้น เพราะทั้งการขยายการเข้าถึงเทคโนโลยีและการพัฒนาทักษะดิจิทัล สามารถเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของเศรษฐกิจโลกได้