รองผู้ว่าฯ กทม. ยืนยันสถานการณ์น้ำเหนือยังไม่น่าห่วง แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังฝนตกท้ายเขื่อนและน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงปลายปี พร้อมทั้งเตรียมรับมือฝนตกหนักในเดือนกันยายนนี้ มั่นใจระบบระบายน้ำพร้อมรับมือโดยมีการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง ย้ำปีนี้น้ำจะไม่ท่วมหนักเหมือนปี 2554 ขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์น้ำได้ที่เว็บไซต์สำนักระบายน้ำ กทม.
รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าสถานการณ์น้ำจากภาคเหนือที่ลงสู่กรุงเทพฯ ในตอนนี้ยังไม่น่ากังวลเท่าใดนัก เนื่องจากแม่น้ำปิงมีเขื่อนภูมิพลและแม่น้ำน่านมีเขื่อนสิริกิติ์รองรับอยู่แล้ว ขณะที่กรมชลประทานใช้เขื่อนเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาทในการควบคุม ดังนั้นน้ำที่กรมชลประทานบริหารจัดการร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) จะปล่อยมีจำนวน 1500 ลบ.ม./วินาที แต่ความสามารถในการรองรับน้ำใต้เขื่อนรองรับได้ถึง 2700 ลบ.ม./วินาที ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้มีการควบคุมเฝ้าระวังด้วยการตรวจวัดน้ำที่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งขณะนี้มีจำนวน 1590 ลบ.ม./วินาที แต่จุดเฝ้าระวังของกรุงเทพฯอยู่ที่ 2500 ลบ.ม./วินาที ซึ่งถือว่าสถานการณ์น้ำในตอนนี้ยังอยู่ในระดับที่รับมือได้ แต่ยังต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดอย่างไรก็ตาม ปริมาณฝนที่ตกท้ายเขื่อนยังถือว่าน่ากังวลเพราะจะทำให้ระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มสูงขึ้น กรมชลประทานจึงควบคุมน้ำในเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้คนที่ทางตอนใต้ของเขื่อน แม้ว่าระดับน้ำในปัจจุบันจะไม่น่ากังวลก็ตาม แต่หากมีฝนตกเพิ่มเติมที่ท้ายเขื่อนจะทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น เราจึงร่วมกันเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมติดตามสถานการณ์อยู่ตลอด ขณะที่ช่วงนี้ฐานน้ำของทะเลหนุนอยู่ในระดับ 1 เมตรซึ่งถือว่ายังไม่สูงมากนัก แม้ว่ามีจำนวนน้ำเหนือเข้ามาเพิ่ม ก็เพิ่มขึ้นเพียง 1.70 เท่านั้น แต่ในช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนนี้จะมีน้ำทะเลหนุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถ้ามีปริมาณฝนที่สะสมและมีน้ำเหนือลงมามากขึ้น คาดการณ์ว่าช่วงดังกล่าวจะมีความเสี่ยงในระดับที่สูง
รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ กล่าวว่า ตามสถิติในปี 2565 พบว่าเดือนกันยายนเป็นเดือนที่ฝนตกหนักที่สุดในกรุงเทพฯ กว่า 800 มิลลิเมตร ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ได้เร่งดำเนินการแก้ไขจุดเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ปีที่แล้วมีการระบายน้ำได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่กรุงเทพฯเราได้ระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก รวมถึงการระบายน้ำจากผิวถนนลงท่อระบายน้ำและการลอกท่อระบายน้ำซึ่งทำให้น้ำระบายออกได้เร็วขึ้น การเพิ่มจุดช่องรับน้ำ จากผิวถนนลงท่อจึงเป็นส่วนสำคัญให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการระบายน้ำจากท่อลงสู่คลอง และแม่น้ำด้วยประตูระบายน้ำ เราจึงบำรุงรักษาเชิงป้องกันอย่างเข้มข้นในช่วงที่ผ่านมา พร้อมมั่นใจว่าการขุดลอกคูคลอง การลอกท่อ การเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบน้ำ บ่อสูบน้ำ และประตูระบายน้ำนั้นอยู่ในสถานการณ์ที่พร้อมใช้สำหรับชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วในปัจจุบันยังคงอยู่ โดยการบูรณาการระหว่างสำนักระบายน้ำส่วนกลางและสำคัญนักงานเขต เพื่อให้ส่วนกลางเข้าช่วยเหลือ ตอนนี้เรามีการพยากรณ์อากาศผ่านการสังเกตการณ์ด้วยการเคลื่อนที่ของเมฆ 3 ชั่วโมงข้างหน้า ว่าจำนวนฝนจะตกหนักในเขตใด ดังนั้นการจัดการทรัพยากรของส่วนกลางจึงช่วยเสริมทัพให้สำนักงานเขตมีการจัดการระบายน้ำที่เหมาะสมและทันท่วงทีมากขึ้น
ขณะที่ปัญหาการระบายน้ำไม่ทันเกิดจากปัจจัยเสี่ยงระดับน้ำในคลอง ซึ่งหากคลองสายหลักที่ใช้ระบายน้ำของกรุงเทพฯ อย่างคลองเปรมประชากรและคลองลาดพร้าว สามารถระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ดี ปัญหานี้ก็จะลดน้อยลง แต่ปัญหาบ้านรุกล้ำและปัญหาจุดคอขวดที่คลองเปรมประชากรทำให้มีทางน้ำแคบและจุน้ำได้น้อยลงซึ่งยากต่อการระบาย ส่งผลให้การระบายน้ำจากคลองย่อยต่างๆ สู่คลองเปรมประชากรมีปัญหา เป็นสาเหตุให้ท่อระบายน้ำจากคลองย่อยระบายได้ช้า เราจึงพยายามสร้างเขื่อนและเจรจากับชาวบ้านให้ขยับขยายเพื่อย้ายออก ซึ่งเราทราบดีว่าเป็นจุดอ่อนจึงเตรียมทีมช่วยเหลือด้วยการประสานงาน และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ คลองประเวศฝั่งตะวันออกก็เป็นอีกหนึ่งคลองที่มีปัญหาเช่นกัน เราจึงต้องร่วมกันบริหารน้ำร่วมกับกรมชลประทานเพื่อช่วยผันน้ำออกสู่ตะวันออกทางจังหวัดฉะเชิงเทรา
ตามปกติกรมชลประทานจะมีสถานที่สูบน้ำที่ช่วยระบายน้ำไปทางตะวันออก แต่ถ้าเราปล่อยตามธรรมชาติน้ำเหล่านั้นจะไหลเข้ามาในกรุงเทพฯ ด้วยการประสานงานและบูรณาการร่วมกันเพื่อให้ทราบว่าระดับน้ำที่จะช่วยทยอยฉีดอยู่ประมาณเท่าไร รวมถึงการเร่งระบายน้ำลงสู่คลองและบริหารด้วยการใช้ประตูระบายน้ำ เพราะว่าจากตะวันออกเข้ามากรุงเทพฯ นั้นมี 2 คลองสำคัญจากตะวันออกและตะวันตก ก็คือคลองแสนแสบและคลองประเวศ ซึ่งหากคลองแสนแสบมีระดับน้ำที่ดีเราก็ต้องปล่อยน้ำลงคลองแสนแสบ แต่ถ้าเป็นช่วงที่คลองประเวศพอรับมือได้ เราก็จะปล่อยน้ำลงคลองประเวศ ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวเป็นการแก้ไขปัญหาโดยการใช้ระบบสูบน้ำ นอกจากนี้เรายังมีศูนย์เฝ้าระวังน้ำถึง 24 ชั่วโมง ซึ่งทำให้คนกรุงเทพฯมั่นใจได้ว่าการจัดการปัญหาน้ำและการระบายน้ำในคลองจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับคำถามว่าปีนี้น้ำจะท่วมหนักเหมือนกับปี 2554 หรือไม่นั้น รองศาสตราจารย์ดร.วิศณุ ตอบว่า ปัญหาน้ำท่วมในปีนี้จะไม่เหมือนปี 2554 อย่างแน่นอน เนื่องจากน้ำในปี 2554 มีน้ำทุ่งหรือน้ำที่ออกนอกตลิ่งเป็นจำนวนมาก ซึ่งยากต่อการควบคุม แต่หลังจากที่เราถอดบทเรียนน้ำท่วมจากปี 2565 เราได้นำจุดที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกว่า 737 จุด แบ่งเป็นจุดท่วมที่เกิดจากริมแม่น้ำเจ้าพระยา และปัญหาแนวเขื่อนรั่วอยู่ 120 จุด และส่วนที่เหลืออีก 617 เป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่เกิดจากน ฝน เราจึงตรวจสอบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแต่ละจุดอยู่ส่วนใด เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งปัญหากว่า 50% ได้ผ่านการดำเนินการแล้ว แต่ในบางจุดต้องใช้เวลาในระยะยาว เช่นโครงการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อผันน้ำจากคลองประเวศให้รวดเร็วมากขึ้น
“สำหรับผู้ที่สนใจอยากติดตามสถานการณ์น้ำสามารถเข้าไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของสำนักระบายน้ำกรุงเทพมหานคร ที่พร้อมอัปเดตทุกสถานการณ์ให้ประชาชนรับรู้ล่วงหน้าในทุกๆ 15 นาที” รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา : สัมภาษณ์โดยวิทยุจุฬา