ในยุคที่พลังงานกลายเป็นหัวใจของการพัฒนาและขับเคลื่อนโลก สายไฟฟ้าจึงเปรียบเสมือนเส้นเลือดหลักที่หล่อเลี้ยงทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวันในบ้านพัก อาคารสำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงโครงสร้างพื้นฐานระดับประเทศ คุณภาพของสายไฟฟ้าไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของเทคโนโลยี แต่ยังสะท้อนถึงความมั่นคง ความปลอดภัย และศักยภาพในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด ผู้บุกเบิกและพัฒนาสายไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 60 ปี ได้พิสูจน์ความเป็นผู้นำด้วยส่วนแบ่งตลาดมากกว่า 30% หรือสูงที่สุดในประเทศ จากจุดเริ่มต้นในฐานะธุรกิจครอบครัว ปัจจุบันได้ยกระดับสู่การเป็นองค์กรระดับอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตขั้นสูง ล่าสุด บริษัทได้เปิดโรงงานหลักในจังหวัดฉะเชิงเทราให้สื่อมวลชนเข้าชมเป็นครั้งแรก เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการผลิตสายไฟฟ้าที่เปี่ยมด้วยคุณภาพและความปลอดภัยในทุกขั้นตอน พร้อมรองรับความต้องการพลังงานของประเทศไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
พงศภัค นครศรี ประธานเจ้าหน้าที่สายงานขายและการตลาด บริษัท สายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล จำกัด หรือ Bangkok Cable (BCC) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน บางกอกเคเบิ้ล มีพนักงานกว่า 1,250 คน มีโรงงานผลิตสายไฟทั้งสิ้น 3 แห่ง ได้แก่ โรงงานสมุทรปราการ โรงงานฉะเชิงเทรา และ Operation and Innovation Center ซึ่งถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงงานฉะเชิงเทรา รวมพื้นที่โรงงานฉะเชิงเทราทั้งหมดกว่า 251 ไร่ มีกำลังการผลิตสายไฟกว่า 60,000 ตันต่อปี ครอบคลุมผลิตภัณฑ์มากกว่า 80 ชนิด รวมถึงมีโซลูชั่นปรับแต่งเฉพาะตามความต้องการ นับเป็นพอร์ตฟอลิโอที่กว้างที่สุดในประเทศไทย รองรับความต้องการทุกกลุ่มลูกค้าถึง 7 กลุ่มการใช้งาน
“นับจากช่วงสิ้นปี 2565 หรือช่วงปลายเหตุการณ์ COVID-19 กำลังการผลิตรวมของเราเติบโตขึ้นมากกว่า 30% ต่อปี และครองตำแหน่งผู้ผลิตสายไฟรายใหญ่ที่มีกำลังการผลิตสูงที่สุดในประเทศ โดยในปี 2567 เราส่งมอบสายไฟไปทั้งสิ้นกว่า 50,000 ตัน หรือคิดเป็นความยาวสายไฟรวมกว่า 400,000 กิโลเมตร สะท้อนถึงการขยายตัวของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจ EV Charger ในประเทศไทย ปัจจุบันเรามีจุดชาร์จมากกว่า 2,000 แห่งทั่วประเทศ พร้อมให้บริการแบบครบวงจร (provider) ครอบคลุมตั้งแต่ระบบแบตเตอรี่ (BSS), การให้บริการทดสอบ ไปจนถึงการดูแลบำรุงรักษาสายไฟฟ้า เราต้องการให้ทุกคนมองเห็น BCC ในฐานะพาร์ทเนอร์สำคัญในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด” พงศภัค กล่าว
โรงงานที่ฉะเชิงเทรา ถือเป็นโรงงานผลิตหลักที่มีกระบวนการผลิตครอบคลุมทุกขั้นตอน มีคุณภาพและมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยกว่าจะมาเป็นสายไฟที่ใช้ในพื้นที่ต่างๆ ต้องผ่านกระบวนการผลิตหลักๆ ถึง 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง (Raw Materials Selection) 2.การหลอมโลหะ (Copper & Aluminium Rod Production) 3.การตีเกลียว (Standing Process) 4.การหุ้มฉนวน (Insulation Process) 5.การรวมแกน (Multicore Assembly) 6.การเสริมความแข็งแรงและความปลอดภัย (Protection Enhancements) 7.การหุ้มเปลือกนอกและพิมพ์แบรนด์ (Sheathing & Label) ทั้ง 7 ขั้นตอนล้วนผ่านความใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การเลือกนำเข้าทองแดงจากแหล่งผลิตทองแดงของโลกอย่างออสเตรเลียและชิลี เป็นต้น จนถึงการตรวจสอบสายไฟคุณภาพทุกเส้นอย่างเข้มงวด
พงศภัค กล่าวว่า บางกอกเคเบิ้ล ถือเป็นผู้นำและผู้บุกเบิกในหลายๆ ด้านที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน อาทิ การเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งห้องปฏิบัติการทดสอบสายไฟภายใต้สภาวะเผาไหม้ (Fire Testing Lab) แห่งแรกของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก. 17025 (ISO/IEC 17025) ถือเป็นก้าวสำคัญในฐานะผู้บุกเบิกมาตรฐานการทดสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์สายไฟในอุตสาหกรรมไทย พร้อมยกระดับสู่มาตรฐานสากล ล่าสุด บริษัทยังได้จัดตั้ง ห้องปฏิบัติการสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ (Extra High Voltage Lab) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการทดสอบสายไฟฟ้าแรงดันสูงพิเศษ 230 kV ซึ่งเป็นสายไฟที่ใช้กับโครงสร้างพื้นฐานและเมกะโปรเจกต์ต่างๆ
“ห้องปฏิบัติการนี้ สามารถจำลองการใช้งานไฟฟ้าระดับ 700 kV และกระแสสูงถึง 6,000 A ได้ เพื่อให้มั่นใจว่าสายไฟที่ผลิตออกไป มีความแม่นยำและปลอดภัยตามมาตรฐานวิศวกรรม โดยเราคือผู้ผลิตคนไทยแห่งเดียวของประเทศที่มีห้องปฎิบัติการทดสอบนี้ และเรายังคงผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ในกระบวนการทำงานภายในโรงงานของเราอย่างต่อเนื่อง พร้อมตั้งเป้าปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2045 ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรระดับโลก เช่น สหประชาชาติ (UN) และขับเคลื่อนองค์กรให้เข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม Smart Factory 4.0 อย่างเต็มรูปแบบภายใน 3 ปีข้างหน้า” พงศภัค กล่าว
ทั้งนี้ ความใส่ใจในคุณภาพ ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโรงงานหรือห้องแล็บ แต่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมขององค์กร ที่ให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงาน การพัฒนาเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล และการออกแบบสายไฟให้ตอบโจทย์การใช้งานจริง ทั้งในบ้านพักอาศัย โรงงาน อาคารสูง ไปจนถึงโครงการระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
บริษัทฯ ยังใส่ใจเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้บุกเบิกรายแรกๆในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดด้วยการก่อตั้ง บริษัท บางกอก โซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด บริษัทในเครือ เพื่อบุกเบิกและพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดของประเทศ โดยได้ดำเนินการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทย ภายในพื้นที่โรงงานฉะเชิงเทรา ในปี พ.ศ. 2549 และปัจจุบันได้ขยายการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ภายในพื้นที่โรงงานจนมีปริมาณโซลาร์ที่ครอบคลุมกว่า 50% ของกำลังการผลิตของทั้ง 3 โรงงาน ซึ่งตอบโจทย์บริษัทที่เดินหน้า “เซฟคน เซฟเมือง เซฟสิ่งแวดล้อม” และสะท้อนถึงบทบาทสำคัญของบริษัทในการเชื่อมโยงประเทศไทยไปสู่อนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
“ในปี 2025 เราได้ก่อตั้งบริษัทใหม่ชื่อว่า BCC Power Technology เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจด้านพลังงาน พร้อมตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่อง 30% ภายใต้วิสัยทัศน์ของการเป็นผู้นำในด้านการผลิตสายไฟฟ้า และให้บริการที่ครอบคลุมทั้งการพัฒนา การสื่อสาร และการสร้างภาพลักษณ์องค์กรให้เป็นมากกว่าผู้ผลิตสายไฟ แต่เป็นผู้นำในระบบโครงสร้างพื้นฐานพลังงานยุคใหม่” พงศภัค กล่าวทิ้งท้าย