สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ATCI) ประกาศความสำเร็จของ 17 องค์กรไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลที่โดดเด่น มาบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ ASOCIO 2024 DX Award จากสมาพันธ์ ASOCIO ทั้งหมด 9 Category จากทั้งหมด 10 Category โดสาขา EdTech Award ไม่มีองค์กรไทยที่ได้รับรางวัล
สุภัค ลายเลิศ นายกสมาคมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (ATCI) กล่าวว่า ASOCIO จัดกิจกรรมเป็นประจำทุกปีในเขตเศรษฐกิจของสมาชิกที่แตกต่างกันหมุนเวียนกันไป ตั้งแต่การ จัดทำรายงานการวิจัยในเรื่องที่เป็นประโยชน์กับสมาชิก การจัดนิทรรศการ การมอบรางวัลให้กับองค์กรที่มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลที่โดดเด่น การจัดประชุมสัมมนา และการประชุมระดับรัฐมนตรีของ ASOCIO ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญของภูมิภาค โดยจัดให้มีแพลตฟอร์มสำหรับรัฐบาลและอุตสาหกรรมในการแลกเปลี่ยนข้อมูลและพัฒนาความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆให้เกิดขึ้นระหว่างสมาชิก
โดยในปี 2567 ทางสมาพันธ์ ASOCIO ได้พิจารณาเห็นชอบให้มอบรางวัล ASOCIO 2024 DX Award ให้กับองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศไทยที่มีการพัฒนาและประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิทัลที่โดดเด่น มาบริหารจัดการองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นับเป็นปีแรกที่มีการแยกรางวัลองค์กรภาครัฐและเอกชนโดยมีองค์กรไทยทั้ง 17 องค์กรที่ได้รับรางวัล ในแต่ละสาขา และเข้ารับมอบรางวัลในการประชุม ASOCIO Digital Summit 2024 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ ANA Intercontinental Tokyo กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดังนี้
Category/สาขารางวัล | องค์กรภาครัฐ | องค์กรภาคเอกชน |
1.Outstanding Tech Organization Award | การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) | ธนาคารออมสิน |
2. Smart City Award | สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) | |
3.Digital Government Award | กรมบัญชีกลาง | บริษัท ที-เน็ต จำกัด |
4.EdTech Award | ไม่มีหน่วยงานใดรับรางวัล | ไม่มีหน่วยงานใดรับรางวัล |
5.HealthTech Award | ระบบศูนย์กลางข้อมูลด้านการเงิน กระทรวงสาธารณสุข | บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) |
6.Cybersecurity Award | กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) | บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด |
7.ESG Award | Health Rider / กระทรวงสาธารณสุข | บริษัท วัน เท็น พลัส จำกัด |
8.Emerging Digital Solutions & Ecosystem Award | เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย /สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ | บริษัท เมฆา วี จำกัด |
9.Women In Tech Award | รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล / สถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) | จินดา บุญลาภทวีโชค / บริษัท ซัมมิท คอมพิวเตอร์ จำกัด |
10.Public/Private Award | สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย | บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) |
MEAคว้ารางวัลOutstanding Tech Organization Award
MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง ดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ พลังงานเพื่อวิถีชีวิตเมืองมหานคร ขับเคลื่อนองค์กรด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพื่อส่งมอบพลังงานไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมั่นคง รองรับวิถีชีวิตคนเมือง มีการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (MEA Smart Metro Grid) นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้กับระบบจำหน่ายไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ สามารถวิเคราะห์ปัญหาของการเกิดเหตุขัดข้องได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาไฟฟ้าขัดข้อง และมี MEA Smart Life Application ให้บริการด้านระบบไฟฟ้ากับประชาชน เช่น ตรวจสอบค่าไฟ ชำระค่าไฟ แจ้งเหตุไฟฟ้าขัดข้อง เป็นต้น
ธนาคารออมสินจัดตั้งศูนย์ให้บริการลูกค้าแบบดิจิทัล (Digital Branch)
ธนาคารออมสินมุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยการขจัดความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย เพื่อบรรลุเป้าหมายในการเป็น “ธนาคารเพื่อสังคม” อย่างแท้จริง โดยธนาคารได้ดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเพื่อพัฒนาบริการทางการเงินและตอบสนองความต้องการของคนไทย โดยใช้ความสามารถของ Microsoft Power Apps และ Power Platform ในการจัดตั้งศูนย์ให้บริการลูกค้าแบบดิจิทัล (Digital Branch) รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานภายในของธนาคาร เช่น การจัดจ้างบุคลากร การจัดทำรายงาน และการประมวลผลการเก็บข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ ส่งผลให้การดำเนินงานที่มีความคล่องตัวมากขึ้น เพิ่มความพึงพอใจทั้งในส่วนของลูกค้าและพนักงาน
depa นำแนวทาง 3 Cพลิกโฉมภูมิทัศน์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ได้พลิกโฉมภูมิทัศน์การพัฒนาเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยด้วยแนวทาง “3C” ได้แก่ 1. การสร้างศักยภาพ (Capacity Building) ผ่านโครงการสำคัญ เช่น โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) และการจัดอบรมตลอดจนหลักสูตรด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะให้แก่ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ และเยาวชนกว่า 1,000 คน เพื่อผลักดันโครงการเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่น รวมถึง Coding Thailand ที่เข้าถึงนักเรียนกว่า 1,500 โรงเรียนทั่วประเทศ 2. การร่วมสร้างนวัตกรรม (Co-Creation) ที่มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนได้นำไปสู่นวัตกรรมต่างๆ เช่น ระบบป้องกันน้ำท่วมแบบ Digital Twin และแพลตฟอร์มเครื่องจ่ายน้ำอัจฉริยะ ซึ่งคว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว ตลอดจนขยายไปสู่ระบบบริการอัจฉริยะ (Smart Solutions) ครอบคลุม 7 มิติการพัฒนาของเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และ 3. ความร่วมมือ (Collaboration) กับองค์กรทั้งในและต่างประเทศกว่า 183 แห่ง ซึ่งช่วยกระตุ้นการพัฒนานวัตกรรมที่แข่งขันได้และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
กลยุทธ์นี้นำไปสู่การขยายตัวของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยจาก 27 เมืองเป็น 158 เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะในช่วงปี 2562-2567 (เติบโตขึ้นกว่า 500% แม้ในช่วงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19) โดยในจำนวนนี้มี 36 เมืองอัจฉริยะที่ได้รับตราสัญลักษณ์ฯ ซึ่งมีประชากรที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนานี้กว่า 16 ล้านคน รวมถึงสามารถดึงดูดการลงทุนมูลค่ากว่า 66,000 ล้านบาท (ประมาณ 1.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
ชูนครศรีธรรมราช ต้นแบบสมาร์ทซิตี้ในไทย
ดร.นน อัครประเสริฐกุล ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ depa กล่าวว่า ต้นแบบเมืองอัจฉริยะในไทย คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดย depa ช่วยเทศบาลนครศรีธรรมราชพัฒนาระบบป้องกันเตือนภัยน้ำท่วม 3 ปี ในปีที่ผ่านมา เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม สามารถอพยพคนได้ทันท่วงที รวมทั้งพัฒนาแอป@Nakhoncity ใน Line ให้สามารถดึงเมืองนครศรีธรรมราชมาเป็นเพื่อน สร้างระบบแรงจูงใจต่างๆ มีการจองคิวบัตรประชาชน สามารถดูกล้องวงจรปิด เพิ่มความปลอดภัย ช่วยให้ประชาชนสะดวกสบายมากขึ้น ภายใน2 ปี พบปัญหาถึง 30,000 เรื่อง ทั้งนี้ในเทศบาลมีประชากร 1 แสนคน มีประชากรเข้าแอปสูงถึง 90,000 คน ถือเป็น e-citizen อย่างแท้จริง
จากความสำเร็จของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ทำให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติผ่านรางวัลต่างๆ มากมายเช่น Best Partnership Award ในงาน 2023 World Smart City Expo จากสาธารณรัฐเกาหลี, Best Special Project และ Regional Leadership Awards ในงาน 2024 Smart City Expo World Congress จากสาธารณรัฐประชาชนจีน, Expo Hackathon Award 2021 จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, และ Presidential Hackathon on Digital, Green, and Inclusive Solutions 2023 จาก สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง Smart City ในอาเซียน โดยฟิลิปปินส์ และมาเลเซียต้องการให้ depa เป็นMental ในเรื่องนี้
กรมบัญชีกลางพัฒนาระบบ New GFMIS Thai จ่ายเงินได้เร็วขึ้น –ลดปัญหาคอรัปชัน
ระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ หรือระบบ New GFMIS Thai ถูกพัฒนาขึ้น ให้เป็นเสาหลักของระบบการคลังของประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อทดแทนระบบ GFMIS เดิม ที่ใช้งานมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องการ Upgrade Software เรื่องลิขสิทธิ์ และการบำรุงรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง
พงศธร ณ นคร ผู้อำนวยการกองระบบการคลังภาครัฐ กล่าวว่า ระบบ New GFMIS Thai จึงพัฒนาภายใต้ Software Open source เพื่อให้ระบบมีความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาและปรับปรุงให้ทันสมัย เชื่อมโยง และบูรณาการกับกระบวนการทำงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ และรองรับการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานรัฐที่จะเกิดขึ้นใหม่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งหมดกว่า 7,000 แห่ง เข้ามาในระบบแล้ว 2,000 แห่ง ที่เหลืออีก 5,000 แห่งจะเข้ามา ซึ่งระบบรองรับแล้ว โดยมีแผนจะเข้ามาปีละ 1,000 แห่ง คาดว่าจะครบทั้งหมดในปี 2572
ในส่วนประชาชนที่รอเงินจากภาครัฐทุกประเภท เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง จะได้รับประโยชน์ คือ ได้รับเงินเร็วขึ้น เฉลี่ยใช้เวลาประมาณ 2 วัน โดยระบบจะมีการจ่ายไปยังประชาชนโดยตรง ช่วยลดปัญหาการคอรัปชันอีกทางหนึ่ง
ที–เน็ต คว้ารางวัล Digital Government Award
บริษัท ที–เน็ต จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยในระดับต้นๆของประเทศไทย ในช่วงหลายๆปีที่ผ่านมา ที-เน็ต ได้เข้าไปจัดทำแบบประเมินทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศไทย เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(E-Government) นอกจากนี้ ยังจัดทำ แปล เรียบเรียง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัย มาตรฐานการบริหารจัดการข้อมูลต่างๆ มาตรฐานปัญญาประดิษฐ์(AI) ต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานทางด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์(E-Government) เพื่อให้รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยเข้าสู่มาตรฐานระดับสากล ส่งผลให้ที-เน็ตได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้
กระทรวงสาธารณสุข คว้า 2 รางวัลบนเวทีระดับโลก ASOCIO 2024 DX Award
กระทรวงสาธารณสุข ได้รับ 2 รางวัล ได้แก่ Health Rider ในสาขา ASOCIO Environmental, Social & Governance : ESG Award In Public Sector โดยโครงการ Health Rider เป็นโครงการที่ยกระดับการให้บริการสาธารณสุข ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และในปัจจุบันมีโรงพยาบาลเข้าร่วมโครงกว่า 712 โรงพยาบาล และมีจำนวนการส่งยารวมทั้งสิ้น 1,200,635 ออร์เดอร์ (ข้อมูลเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2024) และบริการดังกล่าวได้รับความพึงพอใจจากบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วยลดภาระการเดินทางของผู้ป่วย เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดความแออัดในโรงพยาบาลได้จริง
อีกหนึ่งบริการที่ได้รับรางวัล คือ Financial Data Hub ศูนย์กลางข้อมูลทางด้านการเงิน ช่วยเชื่อมโยงข้อมูลการเงินในระบบสุขภาพให้สามารถวิเคราะห์ วางแผน และจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมทั้งสิ้น 2,041 แห่ง โดยมีการเบิกจ่ายรวมทุกสิทธิ์กว่า 53,425,886 เคส และยอดเรียกเก็บทั้งหมด 124,085,936,259.26 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2024) โครงการนี้ช่วยเพิ่มความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการบริหารงบประมาณ ทำให้ทรัพยากรถูกใช้อย่างคุ้มค่าคว้ารางวัล ASOCIO Health Tech Award in Public Sector
BDMS รับรางวัล HealthTech Award in Private Sector
บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS รับรางวัล ASOCIO 2024 DX Award สาขา รางวัล HealthTech Award in Private Sector โดยมุ่งมั่นเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมทางการแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัลในระบบสาธารณสุข เพื่อยกระดับคุณภาพการรักษาและพัฒนาบริการทางการแพทย์ให้รวดเร็วและเข้าถึงได้มากขึ้น ได้นำระบบสารสนเทศทางการแพทย์มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยและการรักษา เช่น เวชระเบียนอิเล็กทรอนิกส์ (EMR) ที่ช่วยให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ AI และ Big Data Analytics ที่ช่วยวิเคราะห์โรคได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์ม Telemedicine ที่เพิ่มการเข้าถึงการรักษาจากทุกที่ เพราะด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย BDMS มุ่งพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพอัจฉริยะ ช่วยให้กระบวนการรักษาแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัย พร้อมยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ
ตร.ไซเบอร์เผยมีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ 1,000 ครั้ง/วัน เชื่อมโยงข้อมูลค่ายมือถือ แบงก์ Crytrocurrency จัดการอาชญากรรมออนไลน์
ระบบรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นนวัตกรรมที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งแตกต่างจากระบบในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะความสามารถในการรับแจ้งความได้ทั่วประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาการเดินทางของประชาชน เพิ่มความรวดเร็วในกระบวนการแจ้งความ ระบบนี้ช่วยให้การมอบหมายงาน การประสานงานระหว่างหน่วยงาน และการติดตามสถานะดำเนินไปอย่างโปร่งใส รวมถึงการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อนำไปวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ส่งผลให้การจัดการกับอาชญากรรมทางออนไลน์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และยกระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมและการทำงานของตำรวจ
พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์ผ่าน www.thaipoliceonline.com 1,000 ครั้ง/วัน โดยจะต้องเป็นคดีออนไลน์และสแกมเมอร์เท่านั้น ซึ่งสามารถเผยแพร่ความเสียหายให้ประชาชนทราบและใช้ในการจัดการผู้กระทำความผิด และในอนาคตจะขยายผลเป็นตัวชี้วัดการทำงานของตำรวจอีกด้วย โดยบูรณาการข้อมูลร่วมกับค่ายมือถือ ธนาคาร และ Crytrocurrency เข้าระบบ ทำให้สามารถรู้ว่าคดีนี้เชื่อมโยงกับระบบใดบ้าง นำไปสู่การแก้ปัญหาในที่สุด
เดิมมีพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ในอนาคตอันใกล้นี้ จะมีพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฉบับที่ 2 เพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีอยู่เดิมคือให้ทันสมัย เหมาะสม และครอบคลุมกับสถานการณ์ในยุคดิจิทัล รับมือมิจฉาชีพที่มีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงในระบบโซเชียลจนมีประชาชนตกเป็นเหยื่อได้รับความเสียหายจำนวนมาก โดย พ.ร.ก.นี้ จะเพิ่มอำนาจหน้าที่แก่เจ้าหน้าที่รัฐครอบคลุมซิมผีบัญชีม้า และเสนอจัดตั้งวอร์รูมเหมือนมาเลเซีย เพื่อแก้ปัญหาตำรวจรับเรื่อง แต่อัยการไม่สามารถรับเรื่อง ได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้
พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น ผู้นำด้าน Cybersecurity ครบวงจรทั้งด้าน IT และ OT
บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด ผู้นำด้าน Cybersecurity ครบวงจรทั้งด้าน IT และ OT จึงมีความพร้อมในการให้บริการในทุกกลุ่มธุรกิจ อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญด้านการป้องกันการโจมตี และการทดสอบโจมตีระบบเป็นอย่างดี เราจึงนำประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมาใช้ในการคัดสรรโซลูชั่นและบริการที่เหมาะสมกับผู้ใช้บริการแต่ละราย
วัน เท็น พลัสพัฒนาESG Solution ขององค์กร
BeaRiOt: ESG IoT Solutionนวัตกรรมต้นน้ำที่กำลังปฏิวัติอุตสาหกรรมไทยอย่างยั่งยืนตามแนวทาง ESG BeaRiOt เป็น Industrial IoT Platform ที่เริ่มต้นตั้งแต่การดึงข้อมูลจากเซ็นเซอร์ อาทิ การใช้พลังงาน การตรวจสุขภาพของเครื่องจักร การวัดค่าสิ่งแวดล้อม ทั้งในแบบการติดตั้งภายในพื้นที่และแบบออนไลน์ และเพื่อช่วยให้องค์กรมีระบบ IoT ที่สามารถเป็นศูนย์รวมของข้อมูลแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการทำ ESG Solution ขององค์กรต่อไป ตัวอย่างเช่น BeaRiOt ช่วยลดการใช้พลังงานได้ 25% และลดเวลาในการแก้ปัญหาการซ่อมบำรุงได้เร็วขึ้นถึง 14 เท่า ส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและความยั่งยืน ระบบของเราเพิ่มความโปร่งใสและช่วยให้ตัดสินใจได้บนพื้นฐานของข้อมูลจริง
สุรชัย พิทักษ์พงศ์ภูธร กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัน เท็น พลัส จำกัด กล่าวว่า ระบบ ESG ที่บริษัทฯพัฒนาเน้นมุมมองของเจ้าหน้าที่ในองค์กร โดยมีระบบในการวิเคราะห์เพื่อให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีขึ้น อีกทั้งยังมีข้อมูลที่อยู่ภายในระบบ ที่สามารถนำมาปรับปรุงองค์กรภายในอย่างต่อเนื่อง
นวัตกรรมดังกล่าวได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จากการคว้ารางวัล APICTA 2023 ที่ Hong Kong ในหมวด Internet of Things of The Year และ ASOCIO 2024 Tokyo ในหมวด ESG Award in Private Sector
ซอฟต์แวร์พาร์ครับรางวัล สาขา Emerging Digital Solutions & Ecosystem Award ภาครัฐ
เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ด้วยภารกิจในการสร้างระบบนิเวศซอฟต์แวร์ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การสร้างเครือข่าย และการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย โดยจัดอบรมเฉพาะทางในด้าน AI วิทยาการข้อมูล และ IoT สนับสนุนการสร้างนวัตกรรม และส่งเสริมมาตรฐานสากลด้วยการรับรองมาตรฐาน CMMI
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมผู้ประกอบการไทยขยายโอกาสทางการตลาดไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซอฟต์แวร์พาร์คประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลและเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง
เมฆา วี จำกัด คว้ารางวัล สาขา Emerging Digital Solutions & Ecosystem Award
บริษัท เมฆา วี จำกัด ได้รับรางวัล ASOCIO 2024 DX Award ในสาขา Emerging Digital Solutions & Ecosystem Award จากการสร้างสรรค์ผลงาน Digital Solutions ที่ทันสมัยและมีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบนิเวศด้านเทคโนโลยีในระดับภูมิภาค ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อและตอบโจทย์ธุรกิจในยุคดิจิทัล นอกจากนี้บริษัทฯ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ
บริษัท เมฆา วี จำกัด คือ บริษัทสตาร์ทอัปเรือธง จากกลุ่ม ปตท. อีกทั้งยังเป็นผู้นำในการให้บริการด้าน AI, Robotics และ Digital Transformation ด้านความยั่งยืนอีกด้วย โดย เมฆา วี มีพันธกิจในการส่งเสริมและยกระดับเทคโนโลยี AI และคลาวด์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรและสร้างธุรกิจใหม่ พร้อมตั้งเป้าหมายที่จะก้าวเป็นผู้นำด้าน AI, Robotics และ Digitalization ในประเทศไทยภายใน 5 ปีอีกด้วย
สภากาชาดไทยพัฒนาแพลตฟอร์มงานกาชาดออนไลน์ จัดกิจกรรมหารายได้การกุศล

สำนักงานจัดหารายได้ สภากาชาดไทย DonationHUB “รับ” เพื่อ “ให้” ศูนย์รวมการบริจาคและการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือของสภากาชาดไทย มุ่งมั่นต่อยอดพัฒนารูปแบบการหารายได้การกุศลเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มมากยิ่งขึ้นหลังจากปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และไม่สามารถจัดงานกาชาดประจำปี ณ สวนลุมพินี ได้ จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์มงานกาชาดออนไลน์ งานออกร้านคณะภริยาทูตออนไลน์ โดยนำกิจกรรม อาทิ การจำหน่ายสินค้า การประกวดร้านงานกาชาด การตรวจดวงชะตาพยากรณ์ ถ่ายทอดสดการแสดง จำหน่ายสลากกาชาด เกมส์ และการบริจาคเงินผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งก็มีผู้ร่วมกิจกรรมงานกาชาดกลุ่มใหม่ที่มีอายุน้อยลงเพิ่มมากขึ้น นับเป็นโอกาสของการขยายขีดความสามารถด้านการหารายได้การกุศลให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป
www.iredcross.org เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการจัดกิจกรรมหารายได้การกุศลทางดิจิทัลของสภากาชาดไทย พัฒนา Feature & Function เพื่อรองรับการจัดกิจกรรมหารายได้ภาคองค์กร และบุคคลทุกรูปแบบ อาทิ การประมูลภาพวาด เครื่องประดับ จำหน่ายสินค้าที่ระลึก รับสมัครแข่งขันเดินวิ่ง จัดการแข่งขัน ประกวด หรือออกแบบ microsite เฉพาะกิจกรรมของแต่ละองค์กร ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเริ่มมาจัดกิจกรรมกับสภากาชาดไทยผ่าน iRedcross
นอกจากนั้นยังพัฒนาการรับบริจาคให้มีวิธีชำระเงินหลากหลายพร้อมลดหย่อนภาษี 2 เท่า และอนาคตจะเพิ่มการบริการของสภากาชาดไทยบนแพลตฟอร์มด้วย และเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการหารายได้ที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งภาคบุคคลและองค์กรอย่างยั่งยืน โดยมีรายได้เพิ่มจากการบริจาค 20%
ARIP พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและอีเวนท์เสมือนจริง ให้สภากาชาดไทย
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลและอีเวนท์เสมือนจริง เพื่อรองรับองค์กรต่าง ๆ ที่ใช้โซลูชันออนไลน์มากขึ้น รวมถึงสภากาชาดไทย ที่ให้บริษัทร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มงานกาชาดออนไลน์ การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยให้เราขยายขีดความสามารถและตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมดิจิทัล
ในระหว่างการดำเนินงานของงานกาชาดออนไลน์ บริษัทฯ ได้ค้นพบทั้งความท้าทายและโอกาสสำคัญ นั่นคือ การสร้างแพลตฟอร์มระดมทุนที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนให้การระดมทุนของสภากาชาดไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน