4 ข้อเสนอควบคุมวิกฤต COVID-19 ระลอก 3 ในไทย


ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤต COVID-19 ระบาดระลอก 3 ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนปีนี้จนปัจจุบัน และคาดว่าอาจต้องใช้เวลาที่ยืดยาวกว่าการควบคุมในสองระลอกที่ผ่านมา สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในหลายๆด้านเป็นการดำเนินการที่เหมาะสม (แม้จะมีบางเรื่องที่ยังมีจุดอ่อน และถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางก็ตาม) โดยเฉพาะการที่รัฐบาลหลีกเลี่ยงมาตรการปิดเมือง ปิดกิจการ/กิจกรรมแบบปูพรมทั้งประเทศเหมือนรอบแรก เพราะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แต่ครั้งนี้ รัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่มีความจำเพาะตามพื้นที่และลักษณะการระบาด อย่างไรก็ตามในการประชุมระดมความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันและระบาดวิทยาที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานทั้งในเขตเมืองและชนบท เพื่อหาแนวทางควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อให้ลดลงสู่ระดับที่ระบบสาธารณสุขสามารถบริหารจัดการได้ โดยไม่ส่งผลเสียหายรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน และสามารถดำเนินกิจกรรมด้านสังคมได้ตามสภาวะใกล้เคียงกับปกติ เช่น การเปิดสถาบันการศึกษา ฯลฯ เราต่างมีความเห็นร่วมกันว่ายังมีมาตรการสำคัญอีกบางด้านที่หากรัฐบาลสามารถดำเนินการเพิ่มเติม จะทำให้ประเทศเราสามารถแก้ไขวิกฤตในครั้งนี้ได้ดีขึ้น เป็นการปูฐานสู่การป้องกันการระบาดในระลอกใหม่ๆ และสามารถเปิดประเทศไทยได้

บทความฉบับนี้ขอหยิบยกข้อเสนอสำคัญ 4 เรื่องเพื่อการพิจารณาของสาธารณะ ดังนี้

  1. มาตรการเร่งด่วนเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดของ COVID -19 โดยเน้นการแก้ไขสถานการณ์ระบาดที่เข้าสู่ครอบครัวและชุมชนอย่างเต็มตัวใน กทม. และปริมณฑล

มีข้อเสนอ 4 ประการ ดังนี้

1.1 นวัตกรรมเสาะหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในเขตเมือง โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม

เนื่องจากการระบาดรอบนี้เป็นเชื้อ COVID สายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วและรุนแรงต่อชีวิตมากกว่าเดิม เราจึงเห็นการระบาดที่ต่อเนื่องแม้จะปิดสถานบันเทิงหมดแล้ว เพราะเมื่อมีผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยหนึ่งคนจะทำให้สมาชิกส่วนใหญ่หรือทุกคนในครอบครัวและเพื่อนร่วมงานติดเชื้อไปด้วย ในขณะนี้การระบาดกว่าร้อยละ 80-90 จึงเกิดจากการแพร่เชื้อจากผู้ติดเชื้อไปยังสมาชิกในครอบครัว ญาติมิตร และผู้ร่วมงาน สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นการกระจายของเชื้อโรคในวงกว้าง (Wide Community Spreading) ทำให้ทีมสอบสวนโรคที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะรับมือ รัฐบาลจึงต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก (Active Case Finding Innovations)” โดยเร่งดำเนินการจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม เพื่อเอกซเรย์ชุมชนและควบคุมการแพร่เชื้อด้วยหลักการการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการกักแยกโรค (TTI หรือ Trace, Test, Isolation) และมีระบบที่ชักชวนให้ผู้มีอาการหรือสงสัยตนเองให้มาตรวจได้สะดวกรวดเร็ว เพิ่มจุดการตรวจในชุมชนแออัดต่างๆ และพื้นที่เสี่ยง โดยให้ประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับจุดบริการการตรวจเหล่านั้น

เหตุผลที่ต้องมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเพิ่มเติมก็เพราะการติดตามผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อในเขตเมืองมีความยุ่งยากมากกว่าในชนบท ในเขตเมืองไม่มีระบบสาธารณสุขมูลฐาน (Primary Health Care) ดังที่มีอยู่ในชนบท และชุมชนเมืองหลายแห่งมีลักษณะความเป็นอยู่แบบชุมชนแออัด ทำให้ชุมชนเมืองมีโอกาสสูงที่จะเกิดการระบาดระลอกใหม่ ดังที่เกิดแล้วในอำเภอเมืองสมุทรสาครในระลอกสองและในชุมชนคลองเตยของ กทม. ในระลอกสาม

ขณะที่พื้นที่ชนบทมีระบบสาธารณสุขมูลฐานที่เข้มแข็งและมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นับล้านคนที่เป็นกำลังสำคัญ ทำให้ไทยสามารถควบคุมการระบาดของโรคต่าง ๆ ในอดีต รวมทั้งการระบาดของ COVID ในรอบแรกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อมูลจากแพทย์ชนบทยืนยันว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดและลดจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID -19 ในชนบทได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ก็เนื่องจากความสามารถในจัดการเรื่องการกักแยกโรค (TTI หรือ Trace, Test, Isolation) ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่เกิดจากระบบสาธารณสุขมูลฐานและ อสม. แต่ในทางตรงข้าม การที่ลักษณะที่อยู่อาศัยของคนเมืองแตกต่างจากชนบท ไม่ว่าจะเป็นชุมชนแออัด คอนโดมิเนียม ตลาดสด สถานบันเทิง ล้วนส่งผลให้การควบคุมการระบาดของ COVID -19 ทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามตรวจสอบผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่กระจัดกระจายอยู่ในวงกว้างทั่วทั้งกรุงเทพฯ ความเสี่ยงที่ตามมาคือผู้ติดเชื้อจำนวนมากไม่แสดงอาการ จึงเป็นพาหะของ COVID -19 ยิ่งกว่านั้นคนหนุ่มสาวในเมืองมีแนวโน้มการเดินทางและเคลื่อนย้ายสูง ทุกครั้งที่คนเหล่านี้เดินทางกลับภูมิลำเนาในต่างจังหวัด หรือไปเที่ยวก็จะเป็นพาหะพาเชื้อไวรัสไปให้กับสมาชิกครอบครัวและญาติพี่น้องในต่างจังหวัดเหมือนกับการระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา

ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นจะต้องมี “นวัตกรรมเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุก” เพื่อตัดโอกาสที่จะเกิดการระบาดของ COVID -19 รอบใหม่

ประสบการณ์การทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกของแพทย์ชนบทในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสงขลา จังหวัดน่าน และจังหวัดสมุทรสาคร ชี้ให้เห็นว่า ทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือการระดมสรรพกำลังบุคลาการทางการแพทย์จากจังหวัดหรืออำเภอที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนน้อยหรือไม่มีการระบาดของ COVID -19 มาช่วยทำงานด้านการเสาะหาตัวผู้ติดเชื้อเชิงรุกในกรุงเทพฯ หรือเมืองที่มีการระบาดใหญ่ โดยแบ่งบุคลากรเหล่านี้ออกเป็นกลุ่มอย่างน้อย 200 กลุ่ม เพื่อสอบสวนผู้ติดเชื้อและประวัติการติดต่อสัมผัสกับผู้ใกล้ชิด จากนั้นจึงแยกย้ายกันติดตามตัวผู้มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อมาตรวจสอบ กักตัว รวมทั้งฉีดวัคซีน นอกจากนั้นรัฐจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายและพื้นที่การสอบสวนโรคอย่างทันการณ์เมื่อสถานการณ์การระบาดเปลี่ยนแปลงไป

หากรัฐบาลสามารถเร่งดำเนินการดังที่เสนอ นอกจากเราจะสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้ภายในเวลา1-2 เดือนแล้ว ยังจะเป็นการป้องกันมิให้เกิดการระบาดละลอกใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 มาตรการแยกผู้ป่วยผู้ติดเชื้อออกจากครอบครัว เป็นมาตรการที่จำเป็นและต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่าการกักแยกโรคที่บ้าน (Home Isolation) จะมีความเสี่ยงสูงให้เกิดการติดเชื้อต่อผู้สูงอายุและเด็กในครอบครัว ดังนั้น การจัดสรรพื้นที่กักแยกโรคจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน ทั้งการตั้งโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ทั้งในที่ดินของรัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งรัดการตั้งโรงพยาบาลสนามและ Hospitel ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อในเขตกรุงเทพฯ ที่กำลังเป็นวิกฤตขนาดใหญ่ เพราะในปัจจุบันยังมีข้อจำกัด 2 ประการ คือ โรงพยาบาลต่าง ๆ จะจำกัดการตรวจ COVID -19 เพราะมีภาระต้องหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ และหน่วยราชการอื่นที่ไม่ใช่ กทม. ไม่สามาถตั้งโรงพยาบาลสนามได้ (ยกเว้นการตั้ง Hospitel) รัฐบาลจึงควรเร่งใช้อำนาจการบริหารและกฎหมายแก้ไขข้อจำกัดดังกล่าวโดยด่วน

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ติดเชื้อที่มีความต้องการและข้อจำกัดส่วนตัวที่แตกต่างกัน รัฐควรมีระบบแยกตัวผู้ติดเชื้อที่สอดคล้องกับความต้องการของคนกลุ่มต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนาระบบการติดตามผู้มีความเสี่ยงที่เหมาะสม

มาตรการแยกผู้ป่วยออกจากครอบครัวนี้ นอกจากจะช่วยลดอัตราการระบาดของไวรัสที่จะสร้างปัญหาการขาดแคลนเตียงสำหรับผู้ติดเชื้อ COVID -19 รุนแรงแล้ว ยังจะลดความจำเป็นในการปิดเมือง/ปิดกิจการที่รังแต่จะก่อความเสียหายร้ายแรงทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพจิตของประชาชน และเพิ่มประสิทธิผลของนโยบายของรัฐบาลที่ไม่ต้องการปิดเมือง/ปิดกิจการแบบ “เหวี่ยงแห”

อย่างไรก็ตามในบางกรณีที่ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการและมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลรักษาสุขอนามัยของตนเองและครอบครัว มีที่พักเพียงพอที่จะอยู่บ้านแบบแยกตัวได้เด็ดขาดก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับติดตามอย่างใกล้ชิดของทีมเฝ้าระวังสอบสวน ทางเลือกนี้ควรเป็นทางเลือกสุดท้าย

1.3 รัฐควรมีการจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมสำหรับระบบการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ และการกักแยกโรคเพื่อเร่งค้นหาผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการที่อยู่ในชุมชนให้สุดความสามารถ มีการตรวจเชิงรุกในพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยง

การจัดตั้งทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคเสริมเพิ่มเติมอย่างน้อย 200 ทีม จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ และอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคจะต้องระดมบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุขจากจังหวัดและอำเภอต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ รวมทั้งข้าราชการที่มีความรู้ด้านสาธารณสุข การสื่อสาร จิตวิทยาจากกระทรวงและกรมกองต่างๆ และหากไม่เพียงพอ อาจต้องระดมอาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาแพทย์ พยาบาล สาธารณสุข การสื่อสารและจิตวิทยา รวมทั้งบุคคลที่เคยทำงานด้านนี้แต่เกษียณแล้ว นอกจากนี้การทำงานของทีมระวังสอบสวนโรคจะต้องมีการประสานงานและสื่อสารกับฝ่ายต่างๆ อย่างรวดเร็ว อาทิ การจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนัก ฯลฯ ดังนั้นจึงต้องใช้ทรัพยากรเพิ่มเป็นจำนวนมาก

          1.4 การช่วยเหลือผู้ถูกกักตัวและครอบครัว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาความเดือดร้อนทางการเงินให้กับผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกจ้างรายวัน แรงงานนอกระบบ และคนฐานราก รัฐควรจ่ายเงินทดแทนขั้นต่ำอย่างน้อยสิบสี่วันตามจำนวนวันที่กักตัวหรือแยกรักษาตัว รวมทั้งการมีมาตรการช่วยให้บุคคลและสมาชิกของครอบครัวเหล่านั้นมีงานทำ มาตรการเร่งด่วนนี้จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้คนฐานรากที่เสี่ยงติดเชื้อ เต็มใจเข้ามารับการตรวจและกักตัวทันที เราคาดว่าหากสามารถดำเนินการได้ เราจะสามารถลดการแพร่ระบาดให้ลงมาสู่ระดับที่ควบคุมได้ เช่นมีการติดเชื้อรายใหม่ไม่เกิน 300 รายต่อวันใน กทม. และปริมณฑลในเวลาประมาณหนึ่งเดือนข้างหน้า

2. มาตรการจัดหาและการกระจายวัคซีน COVID -19 ในระยะปานกลางและระยะยาว

การตั้งเป้าหมายการฉีดวัคซีน COVID -19 ให้ได้ประมาณร้อยละ 70 ของประชากรไทยทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ (มิถุนายน-ธันวาคม) หมายถึงต้องมีการฉีดวัคซีนให้ได้ประมาณ 4.3 แสนโดสต่อวัน เราจึงต้องมีระบบบริหารจัดการที่ดีและกระจายตัวอย่างทั่วถึง เช่น การให้บริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาลในเขตเมืองใหญ่ การให้บริการฉีดวัคซีนที่ รพ.สต. ในเขตชนบท การใช้หน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่ด้วยความร่วมมือของธุรกิจเอกชน มหาวิทยาลัย (ซึ่งกระจายอยู่ในเมืองใหญ่) บุคลากรครู และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (ซึ่งกระจายทั่วประเทศลงไปถึงระดับตำบล) รวมทั้งการใช้หน่วยรักษาพยาบาลของรัฐวิสาหกิจและกองทัพ การจัดระบบ Tele-medicine เพื่อเฝ้าระวังกรณีผู้มีปัญหาผลข้างเคียง การจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวก และการบริหารระบบ Cold Chain เพื่อรองรับการฉีดวัคซีนในแต่ละท้องที่ให้ทั่วถึง และการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ

นอกจากการปฏิบัติตามแผนการฉีดวัคซีนโควิดในปัจจุบันแล้ว รัฐควรมีความสามารถในการปรับเปลี่ยนแผนการได้ตามสถานการณ์การระบาดและข้อมูลวิชาการที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น การเพิ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ถึงร้อยละ 80 ของ “คนที่อาศัยในประเทศไทย” (ที่อาจมากกว่า 70 ล้านคน) ภายในสิ้นปีนี้ พิจารณาปรับการกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดเพิ่มเติมในอนาคต หรือพิจารณาเพิ่มชนิดและจำนวนวัคซีนหากมีข้อมูลพบว่าวัคซีน COVID -19 ที่ใช้อยู่มีประสิทธิผลในการป้องกันโรคในประชากรไทยต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ หรือพิจารณาการงดการใช้วัคซีนบางชนิดหรือปรับเปลี่ยนข้อบ่งชี้สำหรับวัคซีนบางชนิดให้แก่ประชาชนหากมีรายงานผลข้างเคียงร้ายแรงของวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทยในอนาคต

นอกจากการบริหารจัดการระบบการฉีดวัคซีน COVID -19 ในปีนี้แล้ว รัฐควรริเริ่มวางแผนจัดหาวัคซีนเข็มที่ 3 สำหรับประชากรไทยไว้ล่วงหน้า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความล่าช้าและเพิ่มความสามารถในการต่อรองของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนสำหรับการฉีดกระตุ้น (Booster Dose) เมื่อประชาชนที่ได้รับวัคซีน COVID -19 ในปีนี้เริ่มมีระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนรอบแรกลดลงในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า หรือวัคซีนสำหรับการฉีดกระตุ้นหากมีเชื้อกลายพันธุ์เข้ามาระบาดในประเทศจนอาจทำให้ระดับภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนรอบแรกไม่เพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อที่มีอาการรุนแรงได้

  1. มาตรการการกำกับควบคุมการประกอบธุรกิจบางประเภทในระยะปานกลางและระยะยาว

แม้ว่าเราจะประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการระบาดในระลอก 3 ได้ แต่ต้องเผื่อใจว่าเราอาจต้องเจอการระบาดในระลอก 4 หรือ 5   เนื่องมาจากความจริงที่ว่าเราไม่สามารถจะควบคุมให้การติดเชื้อเป็นศูนย์เหมือนระลอกแรก จะมีการะบาดเป็นคลัสเตอร์ต่างๆ และหากเจอกับเชื้อสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่มีการติดง่ายและรุนแรง เราก็อาจเจอวิกฤตอีก จึงควรเร่งควบคุมต้นตอของการแพร่เชื้อแบบ Superspreading ดังที่เกิดขึ้นจริงมาแล้วดังนี้

3.1. การกำกับควบคุมสถานบันเทิง ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า ประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเจ้าหน้าที่และข้าราชการหลายหน่วยงานใช้อิทธิพลหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย รัฐจำเป็นต้องทบทวนมาตรการจัดการและควบคุมการดำเนินงานของสถานบันเทิง โดยเฉพาะสถานบันเทิงขนาดใหญ่ที่เกิดจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจและเป็นต้นตอใหญ่ของการระบาด ตัวอย่างนโยบายและการควบคุมแบบใหม่ อาทิ มาตรการการแบ่งโซนธุรกิจสถานบันเทิง รวมทั้ง การควบคุมจำกัดการเติบโตและการขยายตัวของสถานบันเทิงเข้าไปในที่อยู่อาศัยหรือย่านธุรกิจบางย่าน การควบคุมมิให้เกิดสถานบันเทิงขนาดใหญ่ที่เป็นแหล่งรายได้นอกระบบของเจ้าหน้าที่รัฐบางคน

3.2. การแก้ไขจุดอ่อนของระบบการกำกับดูแลตลาดสด ตลาดสดเป็นกิจการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตสำหรับคนฐานราก ไม่สามารถปิดได้ แต่ตลาดสดหลายแห่งเป็นแหล่งแพร่เชื้อ COVID-19 ดังที่พบที่ตลาดในสมุทรสาคร ปทุมธานี กทม. เพราะตลาดสดส่วนใหญ่ที่เป็นโครงสร้างอาคารยังขาดระบบสุขาภิบาลที่ถูกสุขลักษณะ โครงสร้างตลาดแออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวกกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคต่างๆ ยิ่งกว่านั้น อาหารและผลิตภัณฑ์การเกษตรที่ซื้อขายกันในตลาดยังไม่ปลอดภัย มีสารเคมีและจุลินทรีย์ปนเปื้อนกลายเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนที่เป็นคนฐานรากของประเทศ รัฐจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับ กทม. และเทศบาลกำหนดมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการออกแบบตลาดให้เจ้าของตลาดและผู้ค้ารายย่อยในตลาดสดเหล่านี้ปรับปรุงโครงสร้างตลาด และจัดระบบสุขาภิบาลให้มีการระบายอากาศที่ดี การมีสุขลักษณะ ลดความแออัด และการสุ่มตรวจลูกจ้าง พ่อค้า แม่ค้าจะช่วยป้องกันได้ ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดควรกำกับการปรับปรุงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

  1. 4. การพัฒนาระบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการ มีข้อเสนอแนะ 5 ประการดังนี้

4.1 การกำหนดนโยบายการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชน รวมทั้งการออกเกณฑ์การดำเนินงานจากส่วนกลางที่มีหลักคิดชัดเจน แต่ให้กระจายอำนาจการตัดสินใจไปยังหน่วยงานส่วนภูมิภาคและท้องถิ่นให้สามารถตัดสินใจดำเนินการได้ตามความแตกต่างของพื้นที่ ทั้งนี้ การตัดสินใจและการดำเนินงานต้องได้รับการสนับสนุนจากส่วนกลาง ทั้งทรัพยากรและอำนาจทางกฎหมาย

4.2 การบูรณาการการทำงานของฝ่ายปฏิบัติการระหว่างหน่วยงานภาครัฐในแต่ละพื้นที่ ขณะนี้ภาระการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลตกเป็นภาระหนักของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงหรือกรม กองอื่นๆ ต้องมีบทบาทเชิงรุก และร่วมรับผิดชอบมากขึ้น ทั้งในระดับนโยบาย การปฏิบัติในส่วนกลางและในแต่ละจังหวัด รวมทั้งการแก้ปัญหาข้อจำกัดด้านกฎหมาย อาทิ ปัจจุบันการตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม. เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. เพียงหน่วยงานเดียว

4.3  การแก้ไขปัญหาข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่สมบูรณ์ เช่น การพัฒนาข้อมูลจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วย COVID-19 ที่มีความถูกต้องและทันเวลา หรือการรายงานข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันที่มีรายละเอียดเหมาะสมสำหรับการวิเคราะห์ปัญหา หากพิจารณาเพียงข้อมูลผู้ติดเชื้อรายวันแต่ขาดข้อมูลจริงของวันที่ตรวจพบผู้ติดเชื้อ อาจทำให้ทีมวิชาการไม่สามารถวิเคราะห์แนวโน้มการระบาดเพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องให้แก่ผู้กำหนดนโนบาย หรือไม่สามารถนำข้อมูลมาพัฒนาแบบจำลองพยากรณ์จำนวนผู้มีโอกาสติดเชื้อในอนาคตเพื่อสนับสนุนการวางแผนจัดการทรัพยากรล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำเท่าที่ควร การพัฒนาแบบจำลองสถานการณ์ด้วยข้อมูลที่ถูกต้องจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถบริหารจัดการเตียงผู้ป่วยและวางแผนบุคลากรด้านการรักษาพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิผล ลดอัตราการเสียชีวิต และอัตราการติดเชื้อใหม่ได้ ตลอดจนการคาดคะเนระยะเวลาที่จะสามารถผ่อนปรนให้มีการเปิดกิจการประเภทต่างๆ

4.4 การปรับปรุงโครงสร้างคณะกรรมการบริหารจัดการ COVID-19 คล้ายกับกรณีของประเทศสิงคโปร์ โดยให้มีกรรมการที่เป็นตัวแทนทั้งหน่วยงานด้านสาธารณสุข ความมั่นคง เศรษฐกิจ สื่อสาร พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ และมีองค์ประกอบผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม

การประชุมพิจารณาโดยกรรมการจากหน่วยงานที่หลากหลายและผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านจะทำให้ได้ทางเลือกเชิงนโยบายที่เหมาะสม

4.5 การต่อยอดมาตรการเยียวยา ผลกระทบที่สำคัญของการปิดเมือง ปิดกิจการ คือประชาชนตกงาน หนี้สินครัวเรือนสูงขึ้น ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และจะมีผลให้เกิดความเครียด สิ้นหวัง ท้อแท้ และฆ่าตัวตายที่มากกว่าเดิมกว่าปีละห้าร้อยคน มาตรการเยียวยาต่างๆ ที่รัฐออกมามีความจำเป็นในระยะแรกเพื่อแก้ปัญหาฉุกเฉิน แต่ในระยะต่อไปควรมีความจำเพาะกับกลุ่มที่ประสบปัญหาสูงสุดให้มากขึ้น  และเพิ่มมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะยาวคู่ขนานกันไป แม้จะต้องกู้ยืมเงินมาเพิ่มเติมจนทำให้อัตราหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงเกินร้อยละ 60 แต่ถ้าใช้เงินกู้อย่างมีประสิทธิผล ก็จะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพราะนอกจากจะรักษาชีวิตคนไทย ยังสามารถทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและยั่งยืน

เงื่อนไขคือ รัฐต้องมีโครงการลงทุนที่สามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของประชาชนและธุรกิจในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งควรเริ่มเปลี่ยนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มประชาชนและธุรกิจที่ถูกผลกระทบรุนแรงแทนการอุดหนุนแบบเหวี่ยงแห เช่น การช่วยเหลือผู้ตกงานที่กลับบ้านไม่ได้และต้องอยู่ในเมืองโดยไม่มีงานทำ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ตกงานนำเชื้อจากเมืองใหญ่ไปสู่บ้านเกิด เป็นต้น การตัดสินใจแบบนี้ย่อมต้องมีการพัฒนาและใช้ฐานข้อมูลที่แม่นยำ การใช้มาตรการควบคุมการระบาดแบบบูรณาการข้ามศาสตร์โดยคำนึงถึงผลกระทบและการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจและสังคม และที่สำคัญที่สุด คือการตัดสินใจลงทุนในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจขนานใหญ่จะต้องเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนและนักธุรกิจในพื้นที่มีส่วนร่วมกับภาครัฐในการตัดสินใจ ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยราชการเป็นผู้ดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว

คณะผู้จัดทำ 

  • ด้านสาธารณสุขและการแพทย์

นพ. คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นพ. สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ผศ. ดร. นพ. บวรศม ลีระพันธ์ นพ. พงศ์เทพ     วงศ์วัขระไพบูลย์ นพ. ประสิทฺธิไชย มั่งจิตร นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ นพ. สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ

  • ด้านวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

รศ. ดร. นิพนธ์ พัวพงศกร ดร.สมชัย จิตสุชน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง นายกัมพล ปั้นตะกั่ว    น.ส.ชวัลรัตน์ บูรณะกิจ น.ส.อุไรรัตน์ จันทรศิริ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save