10 ข่าวเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทยในปี พ.ศ.2562


10 ข่าวเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทยใน ปี พ.ศ. 2562

ในรอบปีพ.ศ.2562 มีเหตุการณ์สำคัญในแวดวงวิศวกรรมศาสตร์ของไทยมากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ความก้าวหน้า ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของวงการวิศวกรรมไทย ใกล้จะสิ้นปีแล้ว ทางทีมงานกองบรรณาธิการ วารสาร Engineering Today จึงขอสรุป 10 ข่าวเด่นด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทยในรอบปี พ.ศ.2562 เพื่อเป็นบันทึกเป็นข้อมูลสำคัญ ดังนี้

พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์

1. “พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์” อดีตองคมนตรี ถึงแก่อสัญกรรม

“พลอากาศเอก กำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรี และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คนที่ 2
“ปูชนียบุคคลที่มีคุณูปการต่อวงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย”

21 กันยายน 2562 : เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 เวลา 07.25 น. พลอากาศเอกกำธน สินธวานนท์ อดีตองคมนตรี และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงแก่อสัญกรรมด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุ 93 ปี สร้างความอาลัยแก่ครอบครัว ญาติสนิท รวมถึงผู้คนในแวดวงวิศวกรรมเป็นอย่างมาก ด้วยท่านเป็นหนึ่งในปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญต่อวงการวิศวกรรมศาสตร์ของไทย โดยดำรงตำแหน่งประธานสถาบันวิศวกรไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์แห่งประเทศไทย (IEEE) และ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) 2 สมัยติดต่อกัน คือ ในปีพ.ศ. 2533-2534 และปีพ.ศ. 2535-2536 และดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ อาทิ กรรมการบริหารและรองเหรัญญิกมูลนิธิอานันทมหิดล, กรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา, ประธานโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, ประธานกรรมการมูลนิธิสวนหลวง ร.9, ประธานกรรมการมูลนิธิพระดาบส, ประธานกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย, รองประธานมูลนิธิโครงการหลวง, รองประธานกรรมการมูลนิธิสายใจไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, รองประธานคณะกรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานกรรมการมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี, กรรมการมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ในพระบรมราชูปถัมภ์, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการอำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย, ประธานมูลนิธิธารน้ำใจ, ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานเพื่อเตรียมการจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานพลังงานนิวเคลียร์ และ นายกสมาคมเปตองแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สภาวิศวกร จับมือสถาบันการศึกษา ภาครัฐ-เอกชน เร่งปฏิรูปวิศวกรไทย รับยุค Disruption เตรียมดันแผนแม่บทปี 2020 รับมือวิศวกรขาดแคลน

2. ปฏิรูปวิศวกรไทย

“สภาวิศวกร จับมือสถาบันการศึกษา ภาครัฐ-เอกชน เร่งปฏิรูปวิศวกรไทย รับยุค Disruption เตรียมดันแผนแม่บทปี 2020 รับมือวิศวกรขาดแคลน”

23 กรกฎาคม 2562 : สภาวิศวกร ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ออกเเบบเเละก่อสร้างสภาหอการค้าเเห่งประเทศไทย กรมโยธาธิการและผังเมือง และสภาคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย เปิดเวที ปฏิรูปวิศวกรไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นและร่วมแลกเปลี่ยนแนวทางการยกระดับวิศวกรรมไทยในการกำหนดเส้นทางใหม่ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและก้าวทันในยุค Disruption

ปัจจุบันมีวิศวกรที่ขึ้นทะเบียนกับสภาวิศวกรอยู่ประมาณ 300,000 คน ในขณะที่ประเทศไทยมีคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์น้อยลงอยู่ที่ 33,000 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้ขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพประมาณ 7,000 คนต่อปี ซึ่งอาจมีเพียงบางส่วนที่ประกอบอาชีพวิศวกร และคาดว่าในอนาคตอันใกล้ ไทยจะมีสัดส่วนของเป็นวิศวกรเพียงร้อยละ 5 ของประชากรทั้งประเทศ

ด้วยเหตุนี้สภาวิศวกรจึงเตรียมยกร่างแผนแม่บทก้าวต่อไปของวิศวกรไทยในปี 2020 รองรับแนวโน้มคนรุ่นใหม่เรียนด้านวิศวกรรมน้อยลง เสี่ยงเป็นอาชีพที่ขาดแคลนในอนาคต ซึ่งสวนทางกับความต้องการของประเทศ พร้อมทั้งกำหนดมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกร โดยมุ่งเน้นกลุ่มไปยังเป้าหมายของคนรุ่นใหม่ตั้งแต่ในสถาบันการศึกษา ตลอดจนผู้ที่สำเร็จการศึกษาและก้าวสู่วิชาชีพวิศวกรที่มีทักษะความรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลง ควบคู่กับการให้ความสำคัญด้านจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

BIM (Building Information Modeling)

3. ไทยมีมาตรฐาน BIM (Building Information Modeling) ใช้เป็นครั้งแรก

วสท. ผนึกกำลัง 2 องค์กรวิชาชีพ ออกมาตรฐาน BIM ครั้งแรกในไทย พร้อมเสนอรัฐบรรจุแผนพัฒนา BIM แห่งชาติใน Thailand 4.0

6 พฤศจิกายน 2562 : ปัจจุบันอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันทันสมัย เข้ามาเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และระดับคุณภาพวงการอสังหาริมทรัพย์ไทยสู่ระดับสากล พร้อมนำเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านงานวิศวกรรมการออกแบบมาใช้ BIM (Building Information Modeling) เทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาขึ้นสำหรับวงการงานสถาปัตยกรรม และงานก่อสร้าง ซึ่งเป็นการบูรณาการของทุกส่วนในงานก่อสร้างบนโมเดลเดียวกัน ช่วยพัฒนางานก่อสร้างให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น ประหยัดกำลังคนแก้ปัญหาแรงงานที่ขาดแคลน ประหยัดเวลาและพลังงาน ตลอดจนการบริหารจัดการที่แม่นยำและโปร่งใส ลดค่าใช้จ่ายด้านก่อสร้างอย่างน้อย 30% ลดเวลาที่ใช้ในการเตรียมแบบและก่อสร้าง และลดค่าใช้จ่ายการบริหารโครงการและอาคารลง 20% ทั้งนี้ในต่างประเทศ อาทิ ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนามล้วนใช้เทคโนโลยี BIM แทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย รุดหน้าไปไกลแล้ว ตามด้วยประเทศเวียดนาม

ล่าสุดประเทศไทยได้มีการออก BIM Standard ซึ่งจะเป็นมาตรฐานกลางที่สามารถใช้ทำงานร่วมกับองค์กรต่างๆ และต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้ความร่วมมือของ 3 องค์กร ได้แก่ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) สภาวิศวกรและสภาสถาปนิก โดยวสท.ร่วมกับสภาวิศวกร จัดทำมาตรฐาน BIM Standard และ BIM Application พร้อมกันนี้ วสท. ได้เสนอให้นายกรัฐมนตรี บรรจุแผนพัฒนา BIM แห่งชาติในยุทธศาสตร์ Digital 4.0 และ Thailand 4.0

ในอนาคต BIM จะมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เนื่องจาก BIM ช่วยให้สามารถวางโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการเมืองแบบ Smart City ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีข้อมูลของเมืองในรูปแบบ Digital สามารถนำไปใช้กับการวิเคราะห์ บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ก่อนถูก Disrupt

4.วิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ก่อนถูก Disrupt

นายกวปท .แนะวิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ ก่อนถูก Disrupt ในงานเสวนา “เมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย”
30 ตุลาคม 2562 : สภาวิศวกร ระดมผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย กรมการขนส่งทางราง สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมเสวนา “โครงการเมกะโปรเจกต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย” ชี้โครงการเมกะโปรเจ็กต์เป็นโอกาสของวิศวกรไทยในการยกระดับศักยภาพปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ โดยเฉพาะเทคโนโลยีระบบราง พร้อมเสนอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมทั้งขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง การผลิตแก่วิศวกรไทย และสนับสนุนการใช้วัสดุชิ้นส่วน (Local Content) ในประเทศ ลดการพึ่งพาเทคโนโลยี-นำเข้าอุปกรณ์ก่อสร้าง

โดยดร.วิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) ได้แนะให้วิศวกรไทยปรับตัวรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ ทั้ง Reskill และ Retrain พร้อมพัฒนาวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง (CPD) Development :CPD) เพื่อให้ทันกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มิฉะนั้นอาจจะถูก Disrupt เนื่องจากปัจจุบันมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ เกิดขึ้นมากมายหลายโครงการ เช่น ถนนไฮเวย์ อุโมงค์ สะพาน สนามบิน และท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งบางโครงการ หรือเทคโนโลยีบางอย่างยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับวิศวกรไทย ทำให้โครงการมีความซับซ้อนกว่าเดิม หากวิศวกรไทยไม่ปรับตัวอาจจะถูก Disrupt ได้

มจธ.คว้าอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทย จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2020

5. มจธ.คว้าอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทย 2 ปีซ้อน

“มจธ.คว้าอันดับ 1 ด้านวิศวกรรมศาสตร์ของไทย จากผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2020”

ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2020 โดย U.S. News & World Report มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถูกจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของประเทศไทย ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 2 ปีซ้อน ในปี 2019 และ 2020 จากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกกว่า 813 สถาบัน

โดย มจธ. มีคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 265 (tie) ในโลก คะแนนรวม 53.4 คะแนน ขณะที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นอันดับ 2 ในประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 376 (tie) ในโลก คะแนนรวม 46 คะแนน และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นอันดับที่ 3 ในประเทศไทย เป็นอันดับ 662 (Tie) ในโลก คะแนนรวม 29 คะแนน ทั้งนี้มีมหาวิทยาลัยไทยเพียง 3 แห่ง ที่ติดอันดับสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ในครั้งนี้

สภาวิศวกร และนักวิจัยสกสว. แนะดูแลอาคารสูงในกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัย รับมือแผ่นดินไหว

6 .เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาว 6.4 ริกเตอร์ รับรู้ได้ในพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย รวมทั้งตึกสูงในกรุงเทพมหานคร

“สภาวิศวกร และนักวิจัยสกสว. แนะดูแลอาคารสูงในกรุงเทพฯ ให้ปลอดภัย รับมือแผ่นดินไหว”

21 พฤศจิกายน 2562 : จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาว เมื่อเช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 เวลาประมาณ 06.50 น. ในระดับความรุนแรงประมาณ 6.4 ริกเตอร์ และรับรู้ได้ในพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย เช่น จังหวัดน่าน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย รวมทั้งในกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะในอาคารสูงที่รับรู้ถึงแรงสั่นไหว สภาวิศวกรได้เสนอ 3 แนวทางเตรียมพร้อมคนกรุงเทพมหานครรับมือแผ่นดินไหว คือ 1) จัดอบรมให้ความรู้ประชาชน เรื่องผลกระทบจากแผ่นดินไหว วิธีการดูแลอาคารให้ปลอดภัย 2) มีการตรวจสอบอาคารตามความเสี่ยง โดยแบ่งประเภทของอาคารตามความเสี่ยง เช่น สีแดง อาคารเก่าที่เสี่ยงมาก ต้องปรับปรุง เสริมโครงสร้างทันที สีส้ม อาคารที่เสี่ยงระดับกลาง ที่ต้องหมั่นตรวจสอบ ตามกำหนด และ สีเหลือง อาจมีความเสี่ยง เช่น มีการต่อเติม และ 3) มีสถานีวัดแรงสั่นสะเทือน พร้อมแจ้งเตือนประชาชนในทุกช่องทางอย่างทันท่วงที

ขณะที่ศ. ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างไทย และนักวิจัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เสนอให้เจ้าของอาคารจัดให้มีวิศวกรโครงสร้างเพื่อตรวจสอบองค์อาคารที่สำคัญ เช่น คาน เสา กำแพงรับแรงเฉือน เป็นต้น พร้อมแนะนำอาคารที่ก่อสร้างขึ้นใหม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนักความต้านทานความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ที่เริ่มใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา และวิศวกรผู้ออกแบบจะต้องใช้มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว ซึ่งออกโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (มยผ.1302) ส่วนอาคารเก่าที่ก่อสร้างก่อนปีพ.ศ. 2550 ต้องประเมินอาคารเพื่อตรวจสอบสมรรถนะในการต้านแผ่นดินไหว และหาทางเสริมความแข็งแรงอาคารในกรณีที่ตรวจพบว่าอาคารไม่แข็งแรงพอ

โดรนเก็บภาพมุมสูง

7.งานวิศวกรรมไทยรับใช้ชาติ

“นักวิจัย สกสว. นำหลักวิศวกรรมอนุรักษ์โครงสร้างวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช หนุนขึ้นทะเบียนมรดกโลก”

29 มิถุนายน 2562 : หลังจากที่กรมศิลปากรได้เสนอขึ้นทะเบียนวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นมรดกโลก โดยได้รับการบรรจุในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ในวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2556 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 6 ปี ทางคณะกรรมการนำเสนอวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช ได้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เพื่อให้ทันการพิจารณาในปีนี้ โดยนำเสนอเอกสารต่อองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อให้วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นมรดกโลกที่สมบูรณ์ เป็นความภูมิใจของชาวนครศรีธรรมราชและชาวพุทธทั่วโลก

หนึ่งในข้อกำหนดของ UNESCO ในการพิจารณาขึ้นทะเบียนโบราณสถานเป็นมรดกโลก คือ การอนุรักษ์และดูแลโบราณสถานจนสืบทอดมรดกชั่วลูกหลาน จึงเป็นที่มาของงานวิจัยศึกษาเชิงวิศวกรรมเพื่อระบุและประเมินสภาพปัจจุบันของโครงสร้างในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยใช้เครื่องมือตามหลักวิศวกรรม ภายใต้การทำงานของคณะวิจัยชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เมื่อครั้งยังเป็นสำนักงานสนับสนุนกองทุนวิจัย (สกว.) มีรศ.ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าชุดโครงการฯ

ทีมวิจัยได้ต่อยอดเทคนิคจากการศึกษาที่อุทยานประวัติศาสตร์จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพฯ โดยใช้เทคนิค Pre Scan และ Image Base การศึกษาการสั่นสะเทือน ซึ่งเรียกว่าการสั่นไหวตามธรรมชาติ เพื่อวิเคราะห์ความมั่นคงขององค์พระธาตุ ตามหลัก Finite Element เอียง มีการนำหัววัด Vibration ไปวัดในระดับต่าง ๆ ขององค์พระธาตุ เก็บข้อมูลดิจิทัลจากภาพถ่ายด้วยกล้องธรรมดา รวมทั้งภาพมุมสูงจากโดรน สร้างแบบจำลอง 3 มิติ ใช้เครื่องสแกน 3 มิติ วิเคราะห์หาความถี่ธรรมชาติเจดีย์พระมหาธาตุ – เจดีย์ราย 22 เจดีย์ ตรวจวัดการสั่นไหวของพื้นดินจากการจราจร พร้อมทั้งประเมินผลกระทบต่อความมั่นคงโบราณสถาน และสำรวจด้านธรณีฟิสิกส์พบองค์พระธาตุชั้นในและชั้นนอก ทำให้ได้ข้อมูล ณ ปีพ.ศ.2562 ที่พบองค์พระธาตุมีความมั่นคง มีการเอียงตัวเล็กน้อย 1.45 องศา ถือว่ามีสัดส่วนความปลอดภัยสูง ความสั่นสะเทือนไม่มีผลต่อความมั่นคงขององค์พระธาตุ ทำให้เกิดหลักวิศวกรรมการอนุรักษ์โบราณสถานวัดพระมหาธาตุ ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการนำเสนอต่อคณะกรรมการมรดกโลก

5 ปีข้างหน้า EEC ต้องการบุคลากร 5 แสนคน รับวิศวกรป้อน S-curve ราว 1.2 แสนคน

8. EEC ต้องการวิศวกรรับ S-curve ราว 1.2 แสนคน

“5 ปีข้างหน้า EEC ต้องการบุคลากร 5 แสนคน รับวิศวกรป้อน S-curve ราว 1.2 แสนคน”

30 ตุลาคม 2562 : เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมยุคใหม่ เรียกว่า S-Curve ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิศวกรจำนวนมาก และเป็นวิศวกรรมแนวใหม่ๆ โดยใน 5 ปีข้างหน้า มีการประเมินว่า EEC ต้องการบุคลากรถึง 5 แสนคน แบ่งเป็นบุคลากรที่จบการศึกษาต่ำกว่า ปวส . 2.5 แสนคน ระดับปริญญาตรี 2.4 แสน และวิศวกรประมาณ 1.2 แสนคน ขณะนี้ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้รับเป้าผลิตบุคลากรขึ้นมาใหม่ พร้อมพัฒนาต่อยอดเดิม

ทั้งนี้ EEC ได้หารือกับสภาวิศวกรถึงความต้องการวิศวกรแนวใหม่ใน 3 ประเด็นคือ 1 .ให้สภาวิศวกรเตรียมวิศวกรใหม่ที่สอดรับกับความต้องการของ EEC ในอนาคต 2.การพัฒนาทักษะต่อยอดกับอุตสาหกรรมเดิมเพื่อสร้างวิศวกรรุ่นใหม่ เช่น วิศวกรด้านนาโนเทค แมคคาทรอนิคส์ โดยต่อยอดวิศวกรรุ่นเดิมด้วย 3 .ด้วยสภาวิศวกรควบคุมเรื่องมาตรฐานการประกอบวิชาชีพของวิศวกร ซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ดังนั้นวิศวกรที่ทำงานใน EEC ควรมีมาตรฐานที่เหมาะสม พร้อมเสนอให้สภาวิศวกรต่อยอดปรับใบอนุญาตให้สอดรับกับความต้องการในอนาคต

เอ็มเทค พัฒนาซอฟต์แวร์ CAE 3D สัญชาติไทย ช่วยคำนวณทางวิศวกรรม เปิดให้ติดตั้งและใช้งานฟรี

9. ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ 3D สัญชาติไทย ติดตั้งฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย

“เอ็มเทคพัฒนาซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ 3D สัญชาติไทย ช่วยคำนวณทางวิศวกรรมฟรี”

26 สิงหาคม 2562 : นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พัฒนา CAE 3D ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม (Computer-aided Engineering: CAE) ที่สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่าง ๆ ในสามมิติ ซึ่งได้รับการออกแบบให้เป็นมิตรกับผู้ใช้ โดยติดต่อกับผู้ใช้ในลักษณะของกราฟิก (Graphical User Interface: GUI) ทั้งหมดบนระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows Operating System) เมื่อใช้งานซอฟต์แวร์ CAE 3D ประกอบกับหนังสือ “คอมพิวเตอร์ช่วยในการคำนวณทางวิศวกรรม” จะทำให้เกิดการเรียนรู้แบบครบวงจร กล่าวคือ เริ่มตั้งแต่ได้รู้พื้นฐานของเทคโนโลยี CAE ต่อด้วยการเรียนรู้ความหมายของตัวแปรในสมการเชิงอนุพันธ์ต่าง ๆ รวมถึงสมการไฟไนต์เอลิเมนต์และไฟไนต์วอลู่ม ตลอดจนได้มีประสบการณ์ลองใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมด้วยตัวเอง เหมาะสำหรับ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มภาคอุตสาหกรรม เช่น วิศวกร ผู้จัดการ ผู้บริหารของโรงงาน 2. กลุ่มภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย และ 3. กลุ่มภาคการศึกษาระดับอาชีวศึกษา รวมถึง มัธยมศึกษาตอนปลาย และมัธยมศึกษาตอนต้น โดยทีมวิจัยได้มีแผนนำซอฟต์แวร์ CAE 3D ไปใช้สอนให้ความรู้ในลักษณะจัดทำเป็นหลักสูตรฝึกอบรมต่าง ๆ ด้วย

คณะวิศวฯ มธ. จับมือกรมการแพทย์ นำ AI คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก แม่นยำสูง พร้อมเปิดให้ รพ.รัฐ ทั่วไทยใช้ฟรี

10. AI ช่วยคัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก แม่นยำสูงถึง 94%

“คณะวิศวฯ มธ. จับมือกรมการแพทย์ นำ AI คัดกรอง มะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก แม่นยำสูง พร้อมเปิดให้ รพ.รัฐ ทั่วไทยใช้ฟรี”

12 ธันวาคม 2562 : ในปี พ.ศ. 2561 มีผู้ป่วยวัณโรคมากกว่า 10 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 1.6 ล้านคน ขณะที่มะเร็งปอด มีผู้ป่วยเกิดขึ้นใหม่ประมาณ 2.1 ล้านคนทั่วโลกและมีผู้เสียชีวิต 1.8 ล้านคน และยังมีผู้ป่วยที่มีหัวใจผิดปกติ มากกว่า 26 ล้านคนทั่วโลก เอกซเรย์ทรวงอก จึงถูกนำมาใช้เพื่อคัดกรองและวินิจฉัยโรคระบบทางเดินหายใจต่าง ๆ ร่วมกับอาการและการตรวจเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม “รังสีแพทย์” ที่มีความชำนาญเฉพาะในการวินิจฉัยภาพถ่ายเอกซเรย์ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลให้มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองและได้รับการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล

คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงพัฒนา “AI คัดกรองมะเร็งปอด-วัณโรค-โรคทรวงอก” (AIChest4All) ซอฟต์แวร์ที่ช่วยแพทย์สามารถคัดกรองผู้ป่วย โรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ ได้โดยมีความแม่นยำสูงถึง 94% พร้อมสนับสนุนให้ “แพทย์-เจ้าหน้าที่สาธารณสุข” สามารถวินิจฉัยผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การผลักดันคนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรอง-เข้ารับการรักษาที่รวดเร็วขึ้น ด้วยการนำภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอกของผู้ป่วย มาประมวลผลผ่านปัญญาประดิษฐ์ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก เพื่อตรวจหาความผิดปกติ พร้อมระบุระดับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคผ่านเฉดสี ส่งผลให้แพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข สามารถวินิจฉัยผู้เข้ารับการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์


โดย กองบรรณาธิการ วารสาร Engineering Today


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save