วช. จับมือ 8 หน่วยงาน จัดตั้งโครงการ “Future Thailand” ประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า มุ่งศึกษาวิจัย 10 มิติ ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง


โครงการ “Future Thailand”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผนึกกำลัง 8 หน่วยงานและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันพระปกเกล้า, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), มูลนิธิคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมศึกษา วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลขับเคลื่อนประเทศไทย โครงการ “Future Thailand” ใน 20 ปีข้างหน้าอย่างเป็นแบบแผน โดยมุ่งเน้นใน 10 มิติที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ได้แก่ ประชากรและโครงสร้างสังคม, สังคม ชนบท ท้องถิ่น,การศึกษา, สิ่งแวดล้อมและพลังงาน, เศรษฐกิจ ผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม, เศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ, วัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย), การเมือง, บริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ และคนและความเป็นเมือง

วช. จับมือ 8 หน่วยงาน จัดตั้งโครงการ “Future Thailand” ประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า มุ่งศึกษาวิจัย 10 มิติ ขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง

ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

ศ. นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า วช.ร่วมกับ 8 หน่วยงานและสถาบันวิจัยชั้นนำระดับประเทศ พร้อมนักวิจัยแกนหลักกว่า 50 คน และนักวิจัยร่วมด้วยกว่า 200 คน รวมทั้งประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกว่า 1,000 คนเข้าร่วมศึกษา วิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลขับเคลื่อนประเทศไทย โครงการท้าทายไทย (Grand Challenge) ในเรื่อง “ประเทศไทยในอนาคต” หรือ “Future Thailand” ซึ่งการศึกษาวิเคราะห์ภาพอนาคตมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนารวมทั้งการตั้งรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยมุ่งเน้นใน 10 มิติที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน โดยแบ่งทำการศึกษาตามความเชี่ยวชาญและความพร้อมของหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งนับจากนี้จะอัพเดทข้อมูลทุกระยะ 3 เดือน 6 เดือน และ 12 เดือน และวิเคราะห์ทิศทางโครงการจะไปในรูปแบบใด ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษามิติประชากรและโครงสร้างสังคม ว่าจากนี้อีก 20 ปีประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรเท่าใด มีเพศชายกี่คน เพศหญิงกี่คน ประชากรแฝงที่เข้ามาในประเทศไทยในจังหวัด ภูมิภาคต่าง ๆ นั้นมีกี่คน สัญชาติใดบ้าง เป็นต้น สถาบันพระปกเกล้า ศึกษามิติสังคม ชนบท ท้องถิ่น ว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ทั้งวิถีชีวิต ฐานะ อาชีพ ความเป็นอยู่ ความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ภัยคุกคามทางเศรษฐกิจมีอะไรบ้าง เป็นต้น สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษามิติการศึกษา ว่ามีการกระจายการเรียนรู้สู่พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยในรูปแบบใดบ้าง จำนวนนักเรียน นักศึกษาที่มีปัญหาจะต้องให้การช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเรื่องใดบ้าง รวมทั้งต้องเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตให้มากยิ่งขึ้น ศึกษามิติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน ว่าประเทศไทยมีความต้องการพลังงานในอนาคตไปในทิศทางที่สูงขึ้นอย่างไรบ้าง และภาครัฐควรจัดหาพลังงานทดแทนจากแหล่งใดมาใช้ รวมทั้งการรักษาทรัพยากรพลังงาน สิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ไม่ให้เสื่อมโทรมและหมดไปในเวลารวดเร็วได้อย่างไรบ้าง

ที่สำคัญทิศทางการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานของแต่ละรัฐบาล รองรับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างไรบ้าง เป็นต้น และศึกษามิติเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก เกษตรกรรมและการบริการ เพื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจและกำหนดทิศทางเศรษฐกิจไทยให้มีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการที่ปัจจุบันมีอยู่ 61% ภาคอุตสาหกรรม 31 % และภาคเกษตรกรรม 8 % พร้อมทั้งมองหาโอกาส ตลาดการค้ารูปแบบใหม่ ๆ เพิ่มเติมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ข้ามผ่านประเทศที่มีรายได้ปานกลางให้ได้

สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ ศึกษามิติเศรษฐกิจผู้ประกอบการและอุตสาหกรรม ให้มีความรู้ความสามารถในการปรับโครงสร้าง เนื่องจากผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี โดยพัฒนาให้มีความสามารถคิดค้นนวัตกรรมบนฐานเทคโนโลยีที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ประกอบการรายย่อยต้องปรับตัวรอบด้านรวมทั้งหาวิธีการให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในการนำมาดำเนินกิจการต่อไปได้ สำหรับสตาร์ทอัพรายใหม่ ๆ ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยมีความเก่งและความเชี่ยวชาญด้านใดบ้าง ต้องเก็บเป็นข้อมูลแล้วนำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานจากผู้ประกอบการรุ่นดั้งเดิมกับรุ่นใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตร่วมกัน สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ศึกษามิติวัฒนธรรมและภาษาไทย (อัตลักษณ์ความเป็นไทย) ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทยแท้ ขนบธรรมเนียม ประเพณีแบบเดิม แบบใหม่ที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาในแต่ละภูมิภาคมีอะไรบ้าง รวบรวมจัดทำเป็นฐานข้อมูล ภาษาที่จะมีบทบาทและความสำคัญที่คนไทยจะต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น รวมทั้งภาษาในภูมิภาคอาเซียนที่จะต้องใช้สื่อสารในการดำเนินธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ศึกษามิติการเมือง มูลนิธิคลังสมอง วปอ.เพื่อสังคม ศึกษามิติบริบทโลก ปัจจัยคุกคามและความมั่นคงของประเทศ

ประเทศไทยเป็นประเทศขนาดเล็กอยู่ท่ามกลางสงครามการค้าระหว่างหลาย ๆ ประเทศมหาอำนาจ การหาทางรับมือความเสี่ยงทางการค้าทุกรูปแบบย่อมจะมีโอกาสที่จะอยู่รอดในทุก ๆ ปัญหาการค้า ภัยคุกคามต่าง ๆ ดังนั้นการวางตัวและนโยบายทางการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อนำมาใช้ในการสังเคราะห์สำหรับรับมือสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกในอนาคต และ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษามิติคนและความเป็นเมือง จะเห็นได้ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาการเคลื่อนย้ายของคนเข้าสู่เมืองมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งเข้าสู่เมืองเพื่อการศึกษาที่สูงขึ้น หางานทำ สร้างครอบครัวและอื่นๆ ซึ่งข้อมูลมหาศาลเหล่านี้จะต้องมีการเก็บข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์หาแนวทางในการจัดการคนและเมืองให้มีความสมดุลและเหมาะสมมากที่สุด โดยการศึกษาในมิติต่าง ๆ นี้จะมีการทำรายงานความคืบหน้าทุก ๆ 3 เดือน 6 เดือน เพื่อให้ทราบความคืบหน้าและช่วยให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ เชื่อว่าเบื้องต้นในระยะเวลา 1 ปี ก็จะสรุปบทวิเคราะห์พร้อมกับภาพอนาคตในอีก 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีในมิติต่าง ๆได้

รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ (ที่2จากซ้าย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว (กลาง) และศ.วุฒิสาร ตันไชย (ที่2จากขวา) เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า
รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ (ที่2จากซ้าย) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว (กลาง) และศ.วุฒิสาร ตันไชย (ที่2จากขวา) เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า

ความท้าทายของประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้า

ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ประเทศไทยจะความมียั่งยืนในอนาคตข้างหน้าได้ จะต้องวางยุทธศาสตร์และกำหนดทิศทางการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ทิศทางการศึกษาทรัพยากรมนุษย์ สังคม ทรัพยากรทางธรรมชาติ อาชีพ เศรษฐกิจภายในประเทศ เศรษฐกิจโลก และการสร้างโอกาสการค้าที่จะต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ งบประมาณของประเทศในแต่ละด้านมีความเหมาะสมอย่างไรบ้าง และต้องนำงานวิจัยที่มีอยู่มาใช้พัฒนาประเทศ งานวิจัยดี ๆ ของนักวิจัยไทยมีจำนวนมาก แต่ขาดการนำมาใช้งานบริหารจัดการให้ตรงกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ

“สำหรับการริเริ่มของ วช.และหน่วยงานวิจัยที่ร่วมกันทำงานโครงการ “Future Thailand” ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่อนาคตของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้านี้จะได้เกิดภาพความยั่งยืนของประเทศด้วยข้อมูลวิจัย แต่การทำงานร่วมกันของหลาย ๆ องค์กรที่มีตัวอย่างมาแล้วในอดีตพบว่ามีความเสี่ยงรอบด้านเช่นกัน หากการทำงานร่วมกันขาดซึ่งการเปิดเผยข้อมูล ขาดการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข้อเท็จจริง การประเมินผล ข้อเสนอแนะ ความคาดหวังในความสำเร็จของโครงการฯ เทคโนโลยีที่จะนำมาเชื่อมโยงเก็บข้อมูลต้องเป็นแบบและชนิดเดียวกันที่เข้าถึงได้ในทุก ๆ ช่วงเวลา รวมทั้งการมีอคติในการทำงาน รวมทั้งงบประมาณที่ใช้สนับสนุนก็ย่อมที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ให้ประสบผลสำเร็จในหลาย ๆ มิติที่กำหนดไว้ล่าช้าออกไปได้” ศ. ดร.สนิท กล่าว

ศ.วุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีข้อมูลไม่ครบถ้วน และข้อมูลที่มีก็ไม่อัพเดทในแต่ละด้าน เวลาเกิดเหตุวิกฤตขึ้น มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่กำกับดูแลนำข้อมูลเรื่องเดียวกันชุดเดียวกันมาร่วมกันหาทางแก้ปัญหา แต่ไม่มีหน่วยงานใดที่เป็นหน่วยงานกลางตั้งขึ้นมาเฉพาะเจาะจงในการเก็บข้อมูลนั้น ๆ สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลในการแก้ปัญหาและเหตุการณ์ในอนาคตที่จะเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นแล้ว หากเกิดกรณีแบบเดียวหรือใกล้เคียงกัน เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาน้ำแล้ง ปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ปัญหาวิกฤตราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ การปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ทิศทางนโยบายการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างเดียว หรือใช้เพื่อการค้า ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างพื้นฐาน รถไฟความเร็วสูง เมืองในอนาคต ทั้งนี้การดำเนินกิจกรรมจะต้องทำความเข้าใจและออกแบบการดำเนินงานมีตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรที่ควบคุม ในทุก ๆ มิติบนพื้นฐานสมมติฐานเดียวกันและสังเคราะห์ในทิศทางเดียวกัน

“อยากจะแนะนำว่าหากต้องการให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ จะต้องมีกระบวนการวิเคราะห์ใน 10 มิติต่อเนื่องตลอดเวลา อย่าทำเฉพาะกิจแล้วล้มเลิกโครงการ อีกทั้งการศึกษาในแต่ละมิติเราต้องหาเหตุที่จะทำให้ขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ในระหว่างทางหากมีประเด็นใดที่ต้องมีการนำมาวิเคราะห์เป็นพิเศษ มีเหตุที่ต้องถกเถียงกันหาข้อยุติไม่ได้ ต้องคุยกัน แน่นอนว่าทุก ๆ คนที่ร่วมทำงานวิจัยย่อมมีอคติในใจ มีโจทย์และข้อคำถามที่จะต้องเปลี่ยนทัศนคติด้านลบให้เป็นบวกให้ได้ เพราะมีคนในประเทศนี้อีกกว่า 60 ล้านคนที่รอความหวังในการดำเนินงานเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยสู่ทิศทางที่ดีขึ้น” ศ.วุฒิสาร กล่าว

รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โลกเปลี่ยนไปมีความซับซ้อนมากขึ้น ความคิด ค่านิยม เปลี่ยนทุก ๆวินาที ความท้าทายในการวางแผนรองรับก็ย่อมมีมากขึ้น การมีงานวิจัย มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านร่วมระดมสมองแลกเปลี่ยนประสบการณ์มาร่วมทำงานนั้นจะช่วยให้เกิดองค์ความรู้ มองภาพอนาคตของประเทศไทยในบริบท 10 มิติตามยุทธศาสตร์ของโครงการฯ ที่วางไว้อย่างชัดเจนมากขึ้น ในแต่ละเฟสของการทำงานจะเกิดคำถามมากมายเกิดขึ้น การหาคำตอบก็จะมีความซับซ้อน มีแนวทางในการหาคำตอบที่หลากหลายมากขึ้น ไม่มีถูกไม่มีผิด แต่คือความท้าทายที่จะต้องยอมรับ โดยนำข้อมูลที่จะเกิดขึ้นนั้นมาสังเคราะห์วิเคราะห์ปรับใช้ เพื่อให้เกิดการประมวลผลในความหลากหลายตามการศึกษาในมิตินั้น ๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม

“สำหรับความเสี่ยงและความท้าทายในการศึกษาวิจัยคือ นักวิจัย ข้อมูลที่ได้จากการทำวิจัย และช่วงเวลาที่ทำการวิจัย ที่จะมีสถานการณ์ต่าง ๆ มากมายเข้ามารบกวน ยากต่อการคาดเดาได้ ซึ่งข้อมูลที่ได้นี้จะนำไปเป็นตัวกำหนดอนาคตประเทศไทยใน 20 ปีข้างหน้าทั้งหมดไม่ได้ เพราะเป็นเพียงข้อมูลที่ประกอบอ้างอิง ที่จะนำไปให้ภาครัฐใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนประเทศในเฉพาะด้านและเรื่องราวต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ส่วนที่เป็นโทษนั้นต้องปรับเปลี่ยนหาแนวทางป้องกันแก้ไข นำไปร่างนโยบายในการกำกับดูแลพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า” รศ.ดร.อภิวัฒน์ กล่าว

อีกหนึ่งความเสี่ยงคือ อย่าทำตามเทรนด์เพราะจะไม่ก่อประโยชน์ที่แท้จริงอย่างเช่นในอดีตที่ผ่านมา มีกรณีศึกษามากมาย ที่ประเทศไทยทำการศึกษาตามเทรนด์ต่างประเทศ ต้องสูญเสียงบประมาณจำนวนมาก เสียบุคลากรที่จะไปร่วมทำงาน และเสียโอกาสในการก้าวข้ามคิดค้นหาแนวทางการพัฒนางานวิจัยที่เป็นของคนไทยเองในการขับเคลื่อนและสร้างประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save