สภาวิศวกร ผนึกกำลัง วสท. ชูโมเดลแก้มลิง – ระบบท่อใต้ดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมือง พร้อมจัดโซนนิ่งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง


สภาวิศวกร ผนึกกำลัง วสท. ชูโมเดลแก้มลิง -ระบบท่อใต้ดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมชุมชนเมือง พร้อมจัดโซนนิ่งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง

กรุงเทพฯ 20 กันยายน 2562 – สภาวิศวกร ชง 2 แนวทาง “แก้มลิง” และ “ระบบท่อใต้ดิน” เสนอต่อรัฐบาลรับมือน้ำท่วมชุมชนเมือง ช่วยในการบริหารจัดการน้ำ รองรับสมาร์ทซิตี้ ซึ่งสามารถทำได้ทันที โดยไม่ผลาญงบประมาณรัฐ เพราะไม่สูญเสียพื้นที่ ไม่ต้องเวนคืนที่ดิน ลงทุนครั้งเดียวแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจ พร้อมจัดโซนนิ่งเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท้นตลิ่ง น้ำท่วมซ้ำซาก อาทิ ลุ่มแม่น้ำมูลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 5 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่างจนถึงภาคกลางตอนบน จับตาปริมาณฝนช่วงปลายเดือนกันยายนจากอิทธิพลของร่องมรสุมที่ทำให้ฝนตกชุก สภาพอากาศแปรปรวน ณ โรงแรมเอสซี ปาร์ค

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า สภาวิศวกรมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดอุบลราชธานี รวมถึงพื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำท้นตลิ่ง ซึ่งเป็นสาธารณภัยที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ และยังสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ทั้งด้านโครงสร้างทางวิศวกรรม และระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยสภาวิศวกรในฐานะสภาวิชาชีพด้านวิศวกรรมของประเทศไทย ได้นำข้อเท็จจริงใน 2 พื้นที่มาวิเคราะห์โดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเทคนิคด้านวิศวกรรมหลายสาขามาประยุกต์ใช้ โดยมีเป้าหมายในการบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน รวมถึงตกผลึกเป็นข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือกับสาธารณภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในช่วงฤดูน้ำหลากของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน

จากการวิเคราะห์พื้นที่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำของไทย พบว่าแนวทางในการแก้ปัญหาที่เหมาะสม คือ การทำแก้มลิงและระบบท่อใต้ดินที่มีประสิทธิภาพ โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมด้วย “แก้มลิง” คือการปรับพื้นที่แอ่ง บึง ทะเลสาบขนาดเล็ก ให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งสภาวิศวกรมั่นใจว่าแนวทางนี้ สามารถใช้ได้ในทุกพื้นที่ แต่สำหรับพื้นที่ชุมชนเมืองที่อัดแน่นด้วยสิ่งปลูกสร้างและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีข้อกำจัดในการใช้พื้นที่ทำแก้มลิง ต้องใช้ “ระบบท่อใต้ดิน” และวางเครือข่ายไว้ใต้ดินเพื่อระบายน้ำ เช่น ใต้ถนน สวนสาธารณะ ซึ่งการวางระบบท่อสามารถทำได้ง่าย เพราะไม่เสียพื้นที่ และสิ้นเปลืองงบประมาณน้อย เพราะไม่ต้องเวนคืน

“ประเทศไทย มีหลายลุ่มน้ำที่ประสบปัญหาคล้ายกัน ซึ่งนอกจากการลงทุนทำแก้มลิงและระบบท่อใต้ดิน จะช่วยลดผลกระทบให้กับชุมชนในฤดูน้ำหลาก และช่วยรับมือกับฝนที่ตกไม่เป็นไปตามฤดูกาลแล้ว ในพื้นที่ใกล้เคียงยังสามารถนำน้ำจากแก้มลิงไปช่วยเรื่องชลประทาน เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งและช่วยพื้นที่เกษตรกรรมให้มีน้ำใช้ทั้งปีได้อีกด้วย โดยทั้งสองระบบ คือ “แก้มลิง” และ “ระบบท่อใต้ดิน” จะทำงานเชื่อมโยงกัน เมื่อน้ำในแม่น้ำสูงเกินมาตรฐานก็ระบายไปตามระบบท่อใต้ดิน และระบายสู่แก้มลิง โดยใช้วิธีการระบบสูบน้ำด้วยระบบอัตโนมัติ ด้วยเซนเซอร์ที่แม่นยำ รองรับสมาร์ทซิตี้ เพราะจะช่วยลดปัญหาความผิดพลาดจากมนุษย์ และช่วยให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเดือดร้อน” ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าว

ขณะเดียวกัน พื้นที่ลุ่มต่ำปลายน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นระบบชลประทานทางธรรมชาติที่เปรียบเสมือนหลอดเลือดใหญ่ที่ล่อเลี้ยงชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ก่อนจะระบายออกสู่ทะเลอ่าวไทย โดยมีต้นน้ำจากแม่น้ำสำคัญ 4 สายในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ ปิง วัง ยม น่าน ก่อนจะมาบรรจบกันที่ปากน้ำโพธิ์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งมีหลายจุดที่มีความอ่อนไหว โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนกันยายนที่จะมีฝนตกชุกในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จากอิทธิพลของร่องมรสุมที่พาดผ่านบริเวณดังกล่าว สภาวิศวกรจึงได้ “จัดโซนนิ่ง” วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท้นตลิ่ง ได้แก่ บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำมูล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งยังคงมีหลายพื้นที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤต และพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

สุวัฒนา จิตตลดากร

ศาสตราจารย์ ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ สภาวิศวกร กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน มีจุดเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี กรุงเทพมหานคร และสมุทรปราการ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครที่มีความเสี่ยงจากน้ำท่วมขัง เนื่องจากมีศักยภาพรองรับน้ำฝนเพียง 60 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และการระบายน้ำที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง อาทิ ท่อขนาดเล็ก ขยะที่อุดตันตามท่อระบายน้ำ ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลงอีก ทั้งนี้ ในช่วงที่ฝนตกหนัก มีโครงสร้างด้านวิศวกรรมที่ต้องเฝ้าระวัง 2 ประเภท คือ โครงสร้างในระบบชลประทาน อาทิ เขื่อน อ่างเก็บน้ำ ประตูระบายน้ำ และสิ่งปลูกสร้างในเส้นทางที่น้ำหลาก อาทิ แนวคันกั้นน้ำ เชิงสะพาน โรงพยาบาล สถานศึกษา โบราณสถาน เส้นทางคมนาคม

นอกจากนี้ ประเทศไทยควรมีแนวทางการจัดการภาวะฉุกเฉินในพื้นที่ประสบอุทกภัย ที่มีมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันปัญหาที่มากับอุทกภัย คือแนวทางการบริหารจัดการไฟฟ้า อาทิ การตัดไฟในพื้นที่น้ำท่วมสูง เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาไฟรั่ว ไฟช็อต ซึ่งเป็นอันตรายต่อชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงแนวทางการบริหารเทคโนโลยีการสื่อสาร ถึงแม้ผู้ให้บริการเครือข่ายสัญญาณ จะเพิ่มมาตรการป้องกันความเสียหายจากน้ำท่วมก็ตาม แต่ในข้อเท็จจริงยังพบว่าสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายจุดมีปัญหา กระทบต่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และในพื้นที่น้ำท่วมสูง มักถูกตัดไฟเป็นเวลานาน จนกระทบต่อการชาร์จแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือ ทำให้ขาดการติดต่อจากโลกภายนอก โดยมีแนวป้องกัน คือ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบการเตือนภัย และการแจ้งข่าวสารที่ทันต่อสถานการณ์ ซึ่งช่วยให้ชาวบ้านสามารถประเมินความเสี่ยง ขนย้ายสิ่งของ และอพยพออกจากพื้นที่ได้ทันเวลา

สิริวัฒน์ ไชยชนะ

ด้าน รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการประสานงานด้านภัยพิบัติและความปลอดภัยสาธารณะ สภาวิศวกร และที่ปรึกษาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริเวณริมแม่น้ำมูล และริมแม่น้ำเจ้าพระยา ประสบปัญหาน้ำท้นตลิ่งในฤดูน้ำหลากซ้ำซากทุกปี และฝนที่ตกหนักยังส่งผลทำให้สิ่งปลูกสร้างที่มีโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง และไม่ได้รับการติดตาม ซ่อมแซม ตามอายุการใช้งาน อาจได้รับผลกระทบ เช่น หลังคารั่ว ฝ้าเพดานถล่ม รวมถึงอันตรายจากลมแรง ที่อาจทำให้หลังคา แผ่นป้ายขนาดใหญ่ แผงบังแดด รางน้ำฝน เกิดความเสียหาย ซึ่งส่งต่อผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน ดังนั้น ต้องหมั่นตรวจสอบความแข็งแรงอยู่เสมอ รวมทั้งต้องมีระบบการพยากรณ์อากาศต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและแม่นยำ จะช่วยลดความสูญเสียลงได้ โดยสภาวิศวกร เตรียมลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบความเสียหาย พร้อมแนะนำแนวทางในการฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทุกภัย จ.อุบลราชธานี หลังน้ำลด เน้นการฟื้นฟูระบบโครงสร้างพื้นฐาน และหาแนวทางการบูรณะซ่อมแซมบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกระน้ำแสที่กัดเซาะและจมอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ให้สามารถกลับเข้าสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด

สำหรับปัญหาอุทกภัยใน จ.อุบลราชธานี เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ฝนไม่ตกตอนต้นฤดู และตกหนักสะสมในช่วงปลายฤดู ซึ่งฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องและไม่กระจายตัว กระทบ 4 จังหวัดในลุ่มแม่น้ำชี ได้แก่ นครพนม สกลนคร ร้อยเอ็ด และขอนแก่น ก่อนระบายออกสู่แม่น้ำมูลบริเวณ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ ก่อนจะระบายออกสู่แม่น้ำโขง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 25 อำเภอ ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยเกือบ 1 เดือนแล้ว นับเป็นเหตุอุทกภัยใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี ทั้งนี้ เฉพาะฤดูฝนของปีนี้ จนถึงปัจจุบันมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 32 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ซึ่งมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 407,069 ครัวเรือน โดยทีมสภาวิศวกร และ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหลังน้ำลดทันที


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save