ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเศรษฐกิจไทยปีหมูยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง แนะจับตาสงครามการค้า-ค่าเงิน-ปัญหาการเมืองภายในประเทศ


ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จัดงานเสวนาเรื่อง “จับอุณหภูมิเศรษฐกิจปี 62…หมูจริงหรือไม่” โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ของปีพ.ศ.2561 ขยายตัวดีขึ้นจากเดิมร้อยละ 3.3 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว และการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนการประมาณการ GDP (Gross Domestic Product) ทั้งปี พ.ศ. 2561 ปรับลดลงจากเดิมที่ร้อยละ 4.6 มาที่ร้อยละ 4.3 สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ.2562 คาดจะเติบโตเพียงร้อยละ 4 เท่านั้น เพราะเป็นปีหมูที่ไม่หมู ด้วยหลายปัจจัยเสี่ยง เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาความผันผวนของค่าเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ปัญหาการเมืองภายในประเทศภายหลังจากการเลือกตั้งที่ยากจะคาดเดาได้

เศรษฐกิจปีหมูไม่หมูอย่างที่คิดหลายปัจจัยเสี่ยง กระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าเป็นปีหมูที่ไม่หมูเท่าใด โดยเฉพาะปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกายังคงมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยมากขึ้น ซึ่งปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้สงครามการค้ายืดเยื้อมาจากปัญหาด้านการแข่งขันทางเทคโนโลยี เมื่อไปดูตัวเลขการจดสิทธิบัตรปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ พบว่าในปี พ.ศ. 2556 จีนมีการจดสิทธิบัตร AI ที่ 127 ราย ในขณะที่สหรัฐฯ มีตัวเลขจดสิทธิบัตรอยู่ที่ 51 ราย และในปี พ.ศ. 2560 ตัวเลขการจดสิทธิบัตรของจีนเพิ่มสูงขึ้นถึง 641 ราย คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 50 ในขณะที่สหรัฐฯ ตัวเลขเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 130 ราย คิดเป็นร้อยละ 26 โดยสหรัฐฯ พยายามขัดขวางการพัฒนาด้าน ICT ( Information Communication Technology) ของจีนเนื่องจากเทคโนโลยีในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังพยายามขจัดการส่งผ่านเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญาอย่างไม่เป็นธรรมจากสหรัฐฯไปจีน ซึ่งผลจากสงครามการค้านี้คาดว่าจะมีผลกระทบต่อมูลค่าการค้าของไทยราว 3.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.01 แสนล้านบาท โดยเฉพาะการเจรจาระหว่างสหรัฐฯและจีนคงจะไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ในเร็ววันนี้ ซึ่งทำให้ประเด็นนี้ จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รบกวนบรรยากาศการค้าโลกตลอดทั้งปี รวมถึงสถานการณ์เบร็กซิท (Brexit) ของอังกฤษ สถานการณ์การคลังของอิตาลี และความผันผวนค่าเงินในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เช่น ในประเทศตุรกี อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของตลาดเงินโลกอย่างต่อเนื่อง และปัจจัยการเมืองภายในประเทศที่จะมีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้วสามารถตั้งรัฐบาลได้เร็ว มีคณะรัฐมนตรีที่สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาสดใสได้อีกครั้ง

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มองเศรษฐกิจไทยปีหมูยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง แนะจับตาสงครามการค้า-ค่าเงิน-ปัญหาการเมืองภายในประเทศ
กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ (ที่2จากซ้าย) เกวลิน หวังพิชญสุข, ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล และดร.ศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์

สงครามการค้าโลก…ตัวแปรสำคัญกระทบส่งออกไทย

ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประเด็นสงครามการค้าโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนโดยตรง เป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่กระทบตัวเลขส่งออกไทยในปี พ.ศ. 2562 ชะลอตัว และอีกปัจจัยมาจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มต่ำลง แม้จะทำให้ต้นทุนการขนส่งต่ำลงแต่ก็ส่งผลให้ราคาสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมปรับตัวลดลงตามไปด้วย และเมื่อเทียบกับฐานสูงในปี พ.ศ. 2561 ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์ส่งออกไทยปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.5 เทียบกับร้อยละ 7.7 ในปี พ.ศ. 2561 ทั้งนี้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4 ซึ่งต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากการลงทุนเข้ามาช่วยเสริมทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อชดเชยแรงส่งของภาคเศรษฐกิจที่หายไป

“หากการเลือกตั้งผ่านไปได้อย่างราบรื่นจะช่วยเสริมสร้างบรรยากาศการใช้จ่ายและการลงทุนของประเทศ รวมถึงความต่อเนื่องของการผลักดันงบประมาณปี พ.ศ. 2563 ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายภาครัฐในปี พ.ศ. 2562 ให้ต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งปีหลัง” ณัฐพร กล่าว

กลุ่มค้าปลีกออนไลน์- โรงพยาบาลเอกชน การก่อสร้างภาครัฐ ยังเติบโตได้ดีในปีนี้

เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่ชะลอตัวในปี พ.ศ.2561 นั้นจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวอย่างชัดเจนช่วงหลังกลางปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป โดยคาดว่าจะมีตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทยประมาณ 10.7 ล้านคน และควรออกมาตรการจูงใจการท่องเที่ยวใหม่มาเสริมเพื่อให้ตลาดกลุ่มใหม่มาชดเชยนักท่องเที่ยวจีนที่อาจจะยกเลิกมาเที่ยวประเทศไทยได้อีกในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดอาเซียน รวมถึงผลักดันให้คนไทยหันมาเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น เพราะไทยเที่ยวไทยนั้นมีมูลค่าถึง 1 ใน 3 ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งหมด
ส่วนกลุ่มธุรกิจที่คาดว่าจะมีการขยายตัวได้ดี คือ กลุ่มค้าปลีกออนไลน์ แม้จะมีมาตรการการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่เทรนด์ในการซื้อของออนไลน์จะช่วยสนับสนุนมูลค่าการใช้จ่ายของผู้บริโภค ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกออนไลน์เติบโตได้ดีในปี พ.ศ. 2562นี้ อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังไปได้ดีแต่มีการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าคือ โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลเป็นอันดับหนึ่งมาจากแถบประเทศตะวันออกกลาง แต่ผลพวงจากปัญหาราคาน้ำมันตกต่ำ ส่งผลให้ผู้ใช้บริการที่มาจากประเทศเหล่านี้มีกำลังในการบริโภคน้อยลง และแนวโน้มจะยังไม่กลับมาในปี พ.ศ. 2562 เพราะราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ปัจจุบัน เมียนมาเป็นประเทศที่เข้ามาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนไทยเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยจีนและญี่ปุ่น อีกหนึ่งธุรกิจที่จะเติบโตได้ดีในปี พ.ศ. 2562 คือ การก่อสร้างภาครัฐ

ชี้ภาคเกษตรกรรม -รถยนต์ -อสังหาฯ กลับชะลอตัวในปีนี้

ด้านธุรกิจซึ่งคาดว่าจะมีการชะลอตัวในปี พ.ศ. 2562 ได้แก่ เกษตรกรรม เนื่องจากมีปัจจัยหลักในด้านอุปทานส่วนเกินรวมถึงมีการแข่งขันทางการค้าสูง ตามด้วย รถยนต์ เนื่องจากมียอดขายสูงทะลุ 1 ล้านคันในปีนี้ คาดปีหน้ายอดขายรถยนต์ลดลงร้อยละ 3 และ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากทั้งมาตรการควบคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารแห่งประเทศไทย และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้ภาพของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี พ.ศ. 2562 ทั้งปีจะเห็นภาพการเร่งของการทำธุรกรรม ยอดโอนในปี พ.ศ. 2562 อาจจะหดตัวลดลงร้อยละ 5.6 จากปีพ.ศ.2561 ซึ่งเติบโตถึงร้อยละ 14 ด้วยความต้องการซื้อที่เร่งตัวไปแล้ว และปริมาณค้างขายสะสม ที่ยังมีปริมาณสูงถึง 1.9 แสนยูนิตในปีที่ผ่านมานี้

จับตาทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นในปี ’62

กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่าว่า นอกจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐแล้ว ยังต้องจับตาทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสมากที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในการประชุมของกนง. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นรอบสุดท้ายของปี สอดคล้องกับ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะประชุมในวันเดียวกัน โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แถลงผลการประชุม กนง. ว่า คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 1.50% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที เนื่องจากประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ในประเทศ แม้อุปสงค์ต่างประเทศชะลอลง อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ ภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ต้องติดตามความเสี่ยงที่อาจสะสมความเปราะบางในระบบการเงินในอนาคต

ในปี พ.ศ. 2562 กนง. ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังเมื่อผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว ซึ่งการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในช่วงครึ่งปีแรก น่าจะเป็นเรื่องของอัตราเงินฝากประจำพิเศษและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้าน และกู้รถที่มีระยะยาว ไม่ใช่เป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยทั่วไป เพราะสภาพคล่องในตลาดยังมีอยู่สูงมากขณะที่แรงส่งสินเชื่อ จะชัดเจนในครึ่งปีหลังมากกว่า

“ฉะนั้นด้วยเศรษฐกิจไทยที่มีแรงส่งลดลง คงทำให้เราได้เห็นสินเชื่อปี พ.ศ. 2562 ขยายตัวประมาณร้อยละ 5 ชะลอตัวลงจากร้อยละ 6 ส่วนเงินให้สินเชื่อที่ค้างชำระเงินต้น หรือที่เรียกกันว่าหนี้เสีย (Non-performing Loan: NPL) คาดว่า NPL ของธนาคารไทยและต่างชาติ มีโอกาสแตะระดับสูงสุดครั้งใหม่ในช่วง ระหว่างปี พ.ศ. 2562 ก่อนจะมาแตะที่ระดับราวร้อยละ 2.98 ณ สิ้นปี พ.ศ. 2562 จากร้อยละ 2.91 ณ สิ้นปี พ.ศ. 2561 โดยสินเชื่อ SME และสินเชื่อบ้าน เป็นกลุ่มที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ” กาญจนา กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save