นักวิจัย NANOTEC สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีสารเคลือบนาโน บำรุงรักษาศาสนสถาน ตั้งเป้าครบ 10 วัดภายในปี มุ่งขยายผลแผงโซลาร์เซลล์-ก่อสร้าง


นักวิจัย NANOTEC สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีสารเคลือบนาโน บำรุงรักษาศาสนสถาน ตั้งเป้าครบ 10 วัดภายในปี มุ่งขยายผลแผงโซลาร์เซลล์-ก่อสร้าง

ทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ลงพื้นที่วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) จังหวัดระยอง ติดตามความก้าวหน้าโครงการ “เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์อาคารศาสนสถาน” ซึ่งต่อยอดใช้ประโยชน์จากนาโนเทคโนโลยีสู่สารเคลือบพื้นผิว ลดการเกิดคราบสกปรก ตะไคร่น้ำ และเชื้อรา เพิ่มความคงทนและสวยงาม ช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษาอาคารศาสนสถาน เดินหน้าต่อยอดในเชิงธุรกิจในแผงโซลาร์เซลล์ อสังหาริมทรัพย์ และก่อสร้าง รวมทั้งธุรกิจสี

ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ

นาโนเทคเผยปี’62 ถ่ายทอดผลงาน 39 โครงการ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 3,543 ล้านบาท

ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า นาโนเทคมีพันธกิจหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ความเป็นเลิศ ซึ่งได้ให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และเผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีศักยภาพไปสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ทั้งในเชิงพาณิชย์และสังคม สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยนาโนเทคให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาที่สามารถตอบความต้องการได้แบบ 360 องศา รอบด้านทุกมิติ ในช่วงปีพ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา เราถ่ายทอดผลงาน 39 โครงการ ให้กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ รวม 30 หน่วยงาน สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม 3,543 ล้านบาท ผลักดันให้เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ของภาคการผลิตและบริการ มูลค่ากว่า 117 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน นาโนเทคมีงานวิจัยเพื่อตอบประโยชน์ในเชิงสังคม ที่สอดคล้องไปกับโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ BCG Model (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

สารเคลือบระดับนาโนใช้องค์ความรู้นาโนเทคโนโลยี ดูแลรักษาอนุรักษ์ของดีที่มีคุณค่าทางจิตใจของคนในพื้นที่

สำหรับเทคโนโลยีการเคลือบระดับนาโน ซึ่งนาโนเทคพัฒนาขึ้นและนำมาใช้ ที่วัดปากน้ำสมุทรคงคาราม จ. ระยอง
นี้จะแสดงคุณสมบัติพิเศษ เลียนแบบธรรมชาติ สามารถเคลือบวัสดุพื้นผิวได้หลากหลาย เป็น Self Cleaning ทำความสะอาดตัวเองได้ มีใช้ในสารเคลือบรถยนต์ ที่รู้จักกันในนามของเคลือบแก้ว เคลือบรองเท้าผ้าใบ แบรนด์ “KINZ SPRAY” สเปรย์กันน้ำนาโนเทคโนโลยี รวมทั้งมีการนำไปใช้ใน Sector ก่อสร้าง แผงโซลาร์เซลล์ เพื่อป้องกันฝุ่นบนพื้นผิว ทำให้แผงโซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพในการใช้งานมากขึ้น

“เทคโนโลยีการเคลือบระดับนาโนเป็นการใช้องค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ เชื่อมโยงกับทุนทางวัฒนธรรม และความหลากหลายทางชีวภาพ ร่วมกับความต้องการในแต่ละพื้นที่ เพื่อดูแลรักษา และอนุรักษ์ของดีที่มีคุณค่าทางจิตใจของคนในพื้นที่ และยังสามารถเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนผ่านระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อีกด้วย” ดร.ภาวดี กล่าว

ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์

พัฒนาสารเคลือบผิวอนุภาคนาโนซิลิกาฉีดพ่นหอระฆังวัดปากน้ำ ผ่านไป10 เดือน ไม่พบเชื้อราหรือคราบตะไคร่น้ำ

ด้าน ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. กล่าวว่า โครงการนี้ เป็นการศึกษาคุณสมบัติของวัสดุเชิงเคมี กายภาพ ของอาคารศาสนสถานจากหลายแหล่งที่มา เพื่อการพัฒนาสารเคลือบผิวที่มีคุณสมบัติ กันฝุ่น กันการซึมน้ำ ป้องกันรา ตะไคร่น้ำ คราบสกปรกที่เกาะอยู่บนพื้นผิวของวัสดุที่ใช้บูรณะอาคารศาสนสถาน รวมไปถึงช่วยลดการแตกร้าว ทำให้สามารถยืดอายุพื้นผิวและคงความสวยงามของอาคารศาสนสถานได้ดียิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการปรับปรุงพื้นผิวอนุภาคนาโนซิลิกา ซึ่งใช้เวลาในการทดลองใน Lab 2-3 ปี โดยเข้าทดสอบภาคสนามการใช้สารเคลือบต้นแบบ เพื่อเคลือบพื้นผิวของหอระฆัง ณ วัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) อำเภอเมือง จังหวัดระยอง เมื่อเดือนธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา

การพัฒนาสารเคลือบผิว

“จากจุดเริ่มต้นในการทำงานร่วมกับกรมศิลปากร ที่วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ต้องการขยายผล จึงได้ไปสำรวจวัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) เกิดความชื้น มีตะไคร่น้ำ เนื่องจากอยู่ติดทะเล กลางวันอากาศจะร้อน ส่วนกลางคืนอากาศจะเย็น ทำให้ปูนเกิดการหดตัว โดยเราได้นำสารเคลือบนาโนที่พัฒนาขึ้นไปทดสอบแก้ปัญหาการเกิดเชื้อราในหอระฆังของวัดฯ ที่มีปัญหาเชื้อรา และตะไคร่น้ำ ด้วยปริมาณความชื้นจากสถานที่ตั้งที่อยู่ใกล้ทะเล รวมการแตกลายงาจากอายุของสถานที่ที่ทำให้ต้นทุนการบำรุงรักษาอาคารสถานที่สูงไปด้วย หลังจากที่เรานำสารเคลือบผิวนาโนที่พัฒนาขึ้นไปฉีดพ่นรอบหอระฆัง และมีการติดตามผลหลังการฉีดพ่นเป็นระยะเวลา 10 เดือน พบว่า สามารถยืดระยะเวลาการเกิดเชื้อรา คราบสกปรก และการแตกลายงา โดยในระยะเวลา 10 เดือนนี้ ไม่มีเชื้อราหรือคราบตะไคร่น้ำเกิดขึ้นเลย ซึ่งการยืดระยะเวลาในการเกิดเชื้อรานี้ ทำให้สามารถนำผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อยอดใช้ในการบำรุงรักษาอาคารศาสนสถาน เพิ่มความคงทน ยืดอายุวัสดุที่จะนำไปซ่อมแซมบูรณะ และยังช่วยลดต้นทุนการดูแลรักษา รวมถึงเกิดความสวยงามให้กับอาคารศาสนสถานต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้คาดว่าหลังจากฉีดพ่นแล้วมีอายุการใช้งานประมาณ 2 ปี” ดร.ธันยกร กล่าว

สารเคลือบนาโน

สารเคลือบมีจุดเด่นไม่เปลี่ยนพื้นผิว ป้องกันความชื้น ฉีดแล้วกลิ้งบนพื้นผิวเหมือนใบบัว เหมาะสำหรับปูนเปลือย

สำหรับสารเคลือบนาโนมีจุดเด่นที่เป็นสารเคลือบไม่เปลี่ยนพื้นผิว สัมผัสพื้นผิวแล้วไม่ทำให้พื้นผิวเสื่อมสภาพ เนื่องจากเป็นอนินทรีย์ มีคุณสมบัติพิเศษป้องกันความชื้น ฉีดพ่นแล้วสารเคลือบจะกลิ้งบนพื้นผิวเหมือนใบบัว เหมาะสำหรับศาสนสถาน โดยเฉพาะวัดปากน้ำ (สมุทรคงคาราม) เพราะเป็นปูนเปลือย ทั้งนี้ในระหว่างฉีดพ่นควรใส่ชุดพร้อมปิดอย่างมิดชิด เพราะสารเคลือบนาโนจะมีกลิ่นจาก Solvent ซึ่งทำให้แห้งง่าย

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบวิธีการทดสอบการเคลือบผิวอาคารและประเมินประสิทธิภาพของสารเคลือบ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการต่อยอดงานวิจัยไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีการเคลือบผิวที่เหมาะสมกับเนื้อวัสดุของสิ่งปลูกสร้าง เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพหรือความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของอาคารศาสนสถานหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น ๆ ด้วย

นาโนเทคมีงบบูรณะวัด 100 ล้านบาท ตั้งเป้าทดสอบสารเคลือบนาโน10 วัดภายในปีนี้

ดร.ธันยกร กล่าวว่า สำหรับการทำงานวิจัยภาคสังคมในโครงการ “เทคโนโลยีสารเคลือบนาโนเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน” นาโนเทคมีงบบูรณะวัด 100 ล้านบาท โดยทีมวิจัยตั้งเป้าทดสอบประสิทธิภาพและความคงทนของสารเคลือบนาโนนี้ให้ได้ 10 วัดภายในปีพ.ศ. 2563 เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารเคลือบในพื้นผิวต่าง ๆ ได้แก่ คอนกรีต กระเบื้อง โลหะ อลูมิเนียม ภายใต้สภาพแวดล้อม สภาพอากาศที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ ขณะนี้เคลือบได้ 7 แห่ง ได้แก่ วัดปิตุลาธิราชรังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา วัดปากน้ำสมุทรคงคาราม จ. ระยอง วัดมาบจันทร์ จ. ระยอง วัดผาตากเสื้อ จ.หนองคาย วัดพระธาตุชัยมงคล จ.เชียงราย วัดป่าภูตูม จ.มุกดาหาร และวัดโพธิภาวนาวัน จ.อุบลราชธานี ส่วนอีก 3 แห่ง คือ วัดในจ.เลย จ.ภูเก็ตและจ.เชียงใหม่ โดยค่าใช้จ่ายของ สารเคลือบนาโนอยู่ที่ตารางเมตรละ 40 บาท หากสามารถขยายผลในเชิงพาณิชย์ระดับ 1,000 ลิตร ราคาจะลดลงถึง 10 เท่า

นอกจากการต่อยอดใช้ในเชิงสาธารณประโยชน์และการท่องเที่ยวในพื้นที่ ยังสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจได้ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสี รวมถึงธุรกิจก่อสร้างที่เริ่มมีคนสนใจติดต่อเข้ามาแล้ว รวมทั้งขยายโครงการในโซลาร์เซลล์ ซึ่งได้มีการพูดคุยกับกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน เนื่องจากตลาดพลังงานโซลาร์มีขนาดใหญ่มาก ทั้งโครงการโซลาร์ภาคประชาชน และSolar Floating โดยเป็นอีกสูตรพ่นแล้วเป็นฟิล์มน้ำ ได้แก่ กระจก บ้าน อาคาร แผงโซล่าร์เซลล์ เป็นต้น

ตั้งเป้าปีพ.ศ.2564-2565 หารายได้ตามเป้าที่่ตั้งไว้ 25% เน้น Nano Coating เป็นเรือธง – เพิ่มจำนวนนักวิจัยปีละ 10%

ดร.ภาวดี กล่าวทิ้งท้ายว่านาโนเทคจัดตั้งมาครบ 17 ปีในปีนี้ มีรายได้ 1,000 ล้านบาท โดยมีรายได้มาจากการถ่ายทอดสิทธิ์และค่าเปิดเผยเทคโนโลยี ตามพันธกิจจะต้องหารายได้ให้ได้ 25% ในแต่ละปี นาโนเทคใช้เงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ดังนั้นจะต้องหารายได้ 100 ล้านบาท คิดเป็น 25% ขณะนี้ทำได้จริง 17% อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปีพ.ศ.2564-2565 จะหารายได้ให้ได้ตามเป้าที่่ตั้งไว้ 25%โดยมุ่งเน้น Nano Coating เป็นเรือธง รวมทั้งนาโนเวชสำอาง และ Nano Encrysulation และนาโนเส้นใย โดยเพิ่มจำนวนนักวิจัยปีละ 10% เพื่อรองรับเทคโนโลยีดังกล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save