คมนาคม จับมือ อว. และพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน 13 หน่วยงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรางไทยทุกมิติ


คมนาคม จับมือ อว. และพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน 13 หน่วยงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรางไทยทุกมิติ

กรุงเทพฯ – 19 กุมภาพันธ์ 2563 : กระทรวงคมนาคม โดย กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) บูรณาการความร่วมมือพันธมิตรระบบรางภาครัฐ/สถาบันการศึกษา รวม 15 หน่วยงาน สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย ครอบคลุมด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยี วิจัยและพัฒนา มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง ทดสอบและการทดลอง พัฒนาทรัพยากรบุคคล หวังช่วยเสริมประสิทธิภาพระบบขนส่งทางรางและความปลอดภัยในการให้บริการเดินรถไฟ ยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์ระบบรางให้เป็นไปตามมาตรฐานระบบรางของประเทศและมาตรฐานสากล ช่วยเพิ่มขีดความสามารถด้านการทดสอบวิเคราะห์ด้านระบบราง สนับสนุนการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า สนับสนุนการผลิตบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านระบบราง ตลอดจนวิจัยและพัฒนาแก้โจทย์ปัญหาด้านระบบรางของประเทศ สร้างความยั่งยืนให้ระบบรางของไทย

คมนาคม จับมือ อว. และพันธมิตรภาครัฐ-เอกชน 13 หน่วยงาน ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรางไทยทุกมิติ

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. และ สุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำคมนาคม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม โดยมี ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และ สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูง 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมลงนามอย่างเป็นทางการ

สุชาติ โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำคมนาคม กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวให้มีความยั่งยืน และมั่นคง รวมทั้งการสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเสริมศักยภาพคนให้มีคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบคมนาคมขนส่งของไทยตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยระยะ 20 ปี เน้นการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งทั้งในประเทศและในภูมิภาค เพื่อเสริมความสามารถในการแข่งขันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทำให้อุตสาหกรรมรางในประเทศและในภูมิภาคขยายตัวอย่างรวดเร็ว ระบบรางของประเทศจะยั่งยืนได้นั้นต้องอาศัยรากฐานของอุตสาหกรรมรางในประเทศที่เข้มแข็ง ในขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรางไทยยังมีน้อยรายและมีความสามารถในการแข่งขันในระดับต่ำ นโยบายส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนระบบรางในประเทศ (Local Content) ในสัดส่วนที่เหมาะสมต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมรางในประเทศอย่างยั่งยืนจึงเป็นปัจจัยแรกเริ่มที่สำคัญต่อความมั่นคงของระบบรางไทยในอนาคต

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานถือเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่าจีนมีโครงการ One Belt One Road แสดงให้เห็นศักยภาพด้าน Connectivity ของเอเชีย ในจีนมี 10 อุตสาหกรรมสำคัญ หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมราง ทำอย่างไรจึงจะเกิด Regional Connect กับอาเซียน

สำหรับประเทศไทย การที่จะ Connectivity สุดท้ายเป็นเรื่อง Physical Connectivity คือ ระบบราง โดย Plug in Local Connectivity และเชื่อมโยงกับ Global Connectivity

“การสร้างอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนระบบรางมีทั้ง Core Industry Related Industry และ Supporting Industry ซึ่งใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมรางให้กลายเป็น Competitive Industry ซึ่งจะเป็นการปักหมุดของสอท.และอว.ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงคมนาคม โดยจะผลักดันให้ระบบรางเป็น 1ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตของประเทศ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอว. กล่าว

นอกจากการมีระบบรางแล้วจะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพระบบรางรองรับ ที่เรียกว่า National Quality Infrastructure ของระบบราง ซึ่งจะช่วยสร้าง Local Content ทำให้ Made in Thailand ภายใต้นโยบาย Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้รับประโยชน์ก่อนเกิดขึ้นให้ได้

สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์

สรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า กรมการขนส่งทางรางได้ตั้งเป้าหมายในการวางมาตรฐานเพื่อกำหนดชิ้นส่วนของรถไฟ และกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์รถไฟ ภายในประเทศสัดส่วน 40% ในปีพ.ศ. 2566 สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศได้มากกว่า 7,000 ล้านบาท ทั้งนี้การใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ ช่วยลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุง ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งบประมาณซ่อมบำรุงรถไฟทุกสาขา 9,600 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้า จะใช้ค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงถึง 15,000 ล้านบาทต่อปี

ภายหลังจาการลงนามในครั้งนี้ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือประมาณเดือนมีนาคม โดยกรมการขนส่งทางรางจะจัดประชุมครั้งแรก และพร้อมเริ่ม Action ได้ทันที

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานรวมทั้งสิ้น 15 หน่วยงาน ร่วมแสดงพลังในการเป็นพันธมิตรสนับสนุนนโยบาย Local Content ระบบราง โดยหน่วยงานภาครัฐร่วมกันส่งเสริมภาคเอกชนทั้งด้านมาตรฐาน ข้อบังคับ การทดสอบ การถ่ายทอดเทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตบุคลากรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมระบบราง ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาระบบราง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญในการส่งเสริมการผลิต local content ระบบราง ผ่านการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบ 4 ฝ่าย (Quadruple Helix) ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาสังคม โดยอาศัยการประสานจุดแข็งของหน่วยงานแต่ละประเภท อาทิ องค์ความรู้ต่อยอดการวิจัยพัฒนา (Research & Development) และการพัฒนาทักษะกำลังคน (Manpower Skill) ของภาคการศึกษา ความพร้อมในการสนับสนุนทางโครงสร้างพื้นฐานคุณภาพทางระบบราง (National Quality Infrastructure: NQI) และการแบ่งปันทรัพยากร (Infrastructure Sharing) ของหน่วยงานรัฐ พื้นฐานที่แข็งแกร่งและความพร้อมในการลงทุนและการผลิตของหน่วยเอกชน รวมถึงการมีส่วนร่วมในการสนับสนุนของชุมชนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและการใช้บริการรถไฟ

“การร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบ 4 ฝ่าย ในระยะต่อไป ขยายผลสร้างผลกระทบต่อเนื่องให้แก่อุตสาหกรรมรางในประเทศให้ก้าวไปสู่การเป็นฐานการผลิตรถไฟในภูมิภาคที่มีศักยภาพสูงสามารถผลิตชิ้นส่วนระบบรางทดแทนลดการนำเข้ารถไฟได้ทุกระบบรวมทั้งเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงในอนาคต” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

ดร.ชุติมา กล่าวว่า วว.ทำงานด้านรถไฟมาเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว สามารถผลิตเครื่องยึดเหนี่ยวราง (Fastener) ที่มีความต้องการใช้งานสูงได้ ส่วนการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ผลิต ผู้ผลิตบางรายสามารถส่งชิ้นส่วนรางมาทดสอบที่วว.ได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าต่างประเทศ ด้านงานวิจัยและพัฒนา วว.มีงานวิจัยพร้อมใชัให้ผู้ประกอบการสามารถผลิต รวมทั้งขอรับรองมาตรฐานได้ด้วย ภายใต้การทำงานของทีมนักวิจัยทางด้านระบบราง ซึ่งมีพื้นฐานทางด้านยานยนต์อยู่แล้ว จึงมีความพร้อมที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมรางของประเทศ

สำหรับการพัฒนาบุคลากรระบบราง ทางดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) ช่วยจัดทำหลักสูตรโดยนำร่องกับหลายมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งรับนักศึกษาปริญญาโทเข้ามาช่วยทำโปรเจ็กต์ทางราง เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีสมัยใหม่ของไทย วว.ได้ทำงานร่วมกับ 5 มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาบุคลากรด้านรางทั้ง Reskill และ Upskill และจัด Workshop ขนาดใหญ่ให้นักศึกษาด้วย

ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) วว. กล่าวว่า วว. จัดทำ Lab ด้านระบบรางมา 10 ปี เมี่อ 2 ปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) โดยได้รับการสนับสนนงบประมาณจากทางภาครัฐ ทำให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์พร้อม และต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลง ส่งผลให้ค่าบริการทดสอบถูกลง สำหรับราคาศูนย์ทดสอบต่อหน่วยจะเท่าหรือถูกกว่าที่สิงคโปร์ แต่คุณภาพดีกว่า เนื่องจากได้มาตรฐาน ISO 17025 ที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ส่งอุปกรณ์รางที่ลด Vibration ขณะผ่านโรงพยาบาล พระราชวังได้มาซ่อมบำรุงที่ศูนย์ทดสอบ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของอุปกรณ์ในการให้บริการ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save