อีทรานระดมทุน Series A เป็นผลสำเร็จจ่อเปิดตัวมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น – สร้าง E Power Station ใจกลางเมือง


อีทราน (ETRAN) ประสบความสำเร็จในการระดมทุน Series A มูลค่าราว 3.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 100 ล้านบาท จาก 2 นักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR ผู้ผลิตและจำหน่ายยางล้อรถมอเตอร์ไซค์สัญชาติไทย ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาด หลักทรัพย์ เอ็ม.เอ.ไอ (mai)  และ Angle Investor หรือนักลงทุนอิสระ  ซึ่งการระดมทุนครั้งนี้จะช่วยให้อีทรานสามารถทำการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมที่กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

การระดมทุนในครั้งนี้ของทั้งสองนักลงทุนรายใหญ่ เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นในศักยภาพของอีทราน ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงเทรนด์รถไฟฟ้า (EV) ที่กำลังเติบโตทั่วโลก สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาทิ เทคโนโลยีมอเตอร์และแบตเตอรี่สมรรถนะสูง  เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย และเทคโนโลยีการผลิตที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อีทรานได้วิจัยและพัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า   ภายใต้ต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม   จุดเปลี่ยนแบตเตอรี่และการบริการหลังการขายที่ครอบคุม  และมองการตลาดเป็นการสร้าง Community  ให้ไทยเปิดรับการเติบโตของรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้อีทราน

สรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด (ETRAN) กล่าวว่า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ETRAN ถูกสร้างขึ้นภายใต้แนวคิด Drive The Better World ผ่าน 3 กลยุทธ์หลัก ได้แก่  1.Clean มุ่งมั่นพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ของรถมอเตอร์ไซค์ให้เป็น Cleaner Mobility  ทำให้ Value Chain  เป็น Clean Energy ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  ตั้งแต่ต้นน้ำ ไปจนถึงปลายน้ำ ลดการใช้พลาสติกจากพลังงานฟอสซิสมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2.Efficient พัฒนารถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่มีประสิทธิภาพ  ใช้พลังงานน้อยลง  สมรรถนะโดดเด่น ใช้งานได้ทุกรูปแบบ  และ Equitable ส่งเสริมความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ โดยทำให้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า พลังงานสะอาดของอีทราน เข้าถึงได้ง่าย ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ ให้ผู้ใช้งาน  เพื่อสร้างประสบการณ์ในการขับขี่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ในปีพ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา ETRAN PROM รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ออกแบบเพื่อการขนส่ง สาธารณะโดยเฉพาะคันแรกของโลก ได้รับรางวัล “Reddot Winner 2020 Innovative Product” จาก Red Dot Design Award ประเภทผลิตภัณฑ์นวัตกรรมยอดเยี่ยม และได้การสนับสนุนงบประมาณวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การลดต้นทุน และสร้างมาตรฐานของรถไฟฟ้าสัญชาติไทยให้สามารถแข่งขันในประเทศได้

ในปีนี้อีทรานวางแผนจะเปิดตัวรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดจำนวน 2 รุ่น คือ รุ่นที่1 KRAF ทำตลาดในกลุ่มผู้ใช้รถมอเตอร์ไซค์ทั่วไป ซึ่งจะเปิดตัวในปลายปีนี้

ส่วนรุ่นที่ 2 MYRA   รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ออกแบบเพื่อการขนส่งโดยเฉพาะรุกตลาดกลุ่มไรเดอร์เดลิเวอรี่   ด้วยระยะทางต่อการชาร์จ 190 กิโลเมตร ทำความเร็วสูงสุด 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เนื่องจากผู้ขนส่งทั่วไปใช้ยานพาหนะวิ่งขนส่งสินค้า  100-200 กิโลเมตรต่อวัน   โดยเฉพาะในช่วงก่อนเกิด COVID-19  วิ่งระยะทางเกิน 200 กิโลเมตรต่อวัน และมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรองรับอุปกรณ์พิเศษ เช่น กล่องขนส่ง ตู้เย็น อุปกรณ์ติดตามและระบบบริหารจัดการเครือข่ายขนส่งขนาดใหญ่

พร้อมกันนี้ได้สร้างระบบเปลี่ยนแบตเตอรี่ในรูปแบบของ ETRAN Power Station ที่จะติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล 100 จุด ภายใน 3 ปี เพื่อรองรับผู้ใช้งานโดยเฉพาะกลุ่มไรเดอร์  โดยในปีนี้จะสร้าง ETRAN Power Station เฟสแรก 3 จุด ในใจกลางกรุงเทพมหานคร และมองเป้าหมายเติบโตไปกับภาคการขนส่ง Last Mile Delivery กว่า 10,000 คัน ภายในปี พ.ศ.2567

สรณัญช์ กล่าวว่า   ตามแผนการดำเนินธุรกิจอีทราน ในปีพ.ศ. 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้าสร้างรายได้ที่ประมาณ 400-500 ล้านบาท และในปีพ.ศ. 2566 คาดว่ารายได้จะเติบโตก้าวกระโดดแตะ 1,000 ล้านบาท  พร้อมกันนี้ได้วางเป้าหมายสร้างยอดขาย 50% ของตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารวม ภายในปี พ.ศ.2568 ด้วยยอดขายกว่า 100,000 คัน

อีทรานตั้งเป้าเป็นผู้นำรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในไทยภายใน 3ปี  โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่  กลุ่มขนส่ง  วินมอเตอร์ไซค์ 3. ภาครัฐ และผู้รักมอเตอร์ไซค์ ซึ่งมีการพัฒนาต้นแบบแล้วกว่า 40 คัน   คาดว่าจะได้การตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้รักและชื่นชอบมอเตอร์ไซค์

สรณัญช์ กล่าว

อาร์ชวัส เจริญศิลป์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด  กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังมีความพยายามพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กับภาคนโยบาย (Policy) เพื่อผลักดัน EV ในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้ตลาด EV ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด ด้วย 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ภาครัฐเดินหน้านโยบายจริงจังผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) วางเป้าหมายผลักดันประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิต EV ของภูมิภาคอาเซียน (EV Hub) พร้อมทั้งวางเป้าหมายสนับสนุนให้มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ EV ในประเทศจำนวน 1,800,000 คัน ภายใน 3 ปี  2. ภาคผู้ผลิต เริ่มมีรถ EV ในแผนการพัฒนาและผลิตผลิตภัณฑ์ เพื่อทำการตลาดในประเทศ มากขึ้น ซึ่งอีทรานเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่พร้อมจะร่วมเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็น EV Hub อย่างเต็มรูปแบบ  และ3. ภาคผู้บริโภค เห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกมากขึ้นประกอบกับเทคโนโลยีมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภค มีความมั่นใจต่อศักยภาพของรถ EV และประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้รถ EV

เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและเตรียมพร้อมรับโอกาสจากแนวโน้มตลาด EV ที่จะเติบโตในอนาคต อีทรานได้วางแผนปรับองค์กร ก้าวจากสตาร์ทอัพสู่องค์กรธุรกิจเต็มรูปแบบ โดยตั้งคณะกรรมการบริหาร (Board of Directors) เพิ่มเติมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ ศิโรตม์ เสตะพันธุ   Managing Partner บริษัท เอ็กซ์ฟอร์แม็ท จำกัด  ฐิติ ตวงสิทธิตานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Dole Packaged Foods  และธันวา มหิทธิวาณิชชา Partner บริษัท แกรนท์ ธอนตัน จำกัด มี เพื่อวางแผนพัฒนาองค์กรและสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง ทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการ การเงิน การตลาด การสร้างแบรนด์ การสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อนำไปสู่ การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต  และตั้งเป้าหมายให้บริษัทฯ เป็นผู้นำให้เกิดขบวนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตั้งแต่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ

ด้านชัยสิทธิ์ สัมฤทธิวณิชชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็น.ดี.รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NDR กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติเข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญในบริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด จำนวน 157,500 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 100 บาท ในราคา 382.22 บาท คิดเป็นสัดส่วน 35% ของทุนจดทะเบียนของ อีทราน ด้วยมูลค่ารวม 60.20 ล้านบาท ซึ่งจะชำระค่าหุ้น สามัญของ ETRAN โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทในลักษณะการเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (PP) แทนการชำระด้วยเงินสด จำนวนไม่เกิน 31.5 ล้านหุ้น มีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท ในราคาเสนอขายหุ้นละ 2.72 บาท คิดเป็นมูลค่า 60.20 ล้านบาท (Share Swap) โดยมีอัตราแลกเปลี่ยนหุ้นเท่ากับ 1 หุ้นใหม่ของ อีทราน ต่อ 140.52 หุ้น ใหม่ของบริษัท

การเข้าร่วมลงทุนในอีทรานสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทฯ ในการมองหาธุรกิจที่มีศักยภาพ ในการเติบโตเพื่อสร้าง New S-curve ซึ่งเล็งเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ กำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการ Growth Cycle ซึ่งการร่วมลงทุนครั้งนี้ จะทำให้บริษัทฯ มีธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น เป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจและต่อยอดจากธุรกิจเดิม อีกทั้งจะช่วย สนับสนุนให้ผลดำเนินการของบริษัทฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด ได้ในอนาคต โดยคาดว่าอีทรานจะสามารถสร้างรายได้และผลกำไรได้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

กรรมการผู้จัดการ   NDR กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save