สวทช. ร่วมกับพันธมิตร ส่งมอบ “ชุดสกัด RNA ” 82,000 ชุด สนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์รับมือ COVID-19


สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดพิธีส่งมอบ “ชุดสกัดอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019” ให้แก่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม จำนวน 82,000 ชุด มูลค่า 8.2 ล้านบาท  เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์การระบาด COVID-19

อว.เผยนักวิจัยไทยพัฒนาชุดสกัดอาร์เอ็นเอประสิทธิภาพเทียบเท่าต่างประเทศ แถมราคาถูกกว่ามาก 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กระทรวง อว. เป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับ COVID 19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ระดมทีมนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันการศึกษาร่วมคิดค้นวิจัย ผลิตผลิตภัณฑ์ เครื่องมือที่จะสามารถนำไปช่วยเหลือในการปฏิบัติงานของทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ารับมือกับวิกฤตครั้งใหญ่ครั้งนี้รอบด้านทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวเพราะไม่แน่ชัดว่าสถานการณ์จะยุติเมื่อไร โดยในระยะสั้นมีโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล สร้างรากแก้วให้ประเทศหรือเรียกสั้นๆ ว่า U2T ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการว่างงาน เป็นการจ้างงานของรัฐบาลที่ทำได้อย่างรวดเร็วที่สุด ทำให้คน 60,000 คน ที่เป็นลูกหลานของชาวบ้านมีงานทำกระจายไป 3 พันตำบลทั่วประเทศ และเป็นครั้งแรกที่ให้มหาวิทยาลัยทั่วประเทศกว่า 76 แห่ง ลงสู่ตำบลเพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชนหลายร้อยล้านบาท และกำลังเข้าสู่โครงการ U2T ในระยะที่ 2 ซึ่งจะเป็นโครงการที่พัฒนาขึ้นและต่อยอดจากระยะที่ 1 ประกอบไปด้วย 3 เรื่องได้แก่  1.การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบ COVID- 19 2.การดูแลเศรษฐกิจชุมชนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ตามบริบทของชุมชน และ 3.การจ้างงานบุคลากรที่มีความรู้ มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เป็นประเด็นสำคัญ จะมีการปฏิบัติงาน 7,435 ตำบลทั่วประเทศ จ้างงาน 150,000 คน 

นอกจากนี้ กระทรวง อว. ยังโทรศัพท์ไปให้กำลังใจและคำปรึกษาแก่ผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาแบบ Home Isolation ในยามที่โรงพยาบาลสนามไม่เพียงพอ ซึ่งตระหนักว่าผู้ป่วย Home Isolation ต้องการกำลังใจมาก อีกทั้งกระทรวง อว. ยังได้ส่งยาสมุนไพร และอุปกรณ์ของใช้ที่จำเป็น ที่เรียกว่า “อว. พารอด” โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจำนวนมากที่ช่วยบริจาคสิ่งของ เกิดเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคม 

ในวันนี้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักวิจัยไทยสามารถวิจัยชุดสกัดอาร์เอ็นเอ ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สวทช. ที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพเทียบเท่าชุดสกัดอาร์เอ็นเอที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่ราคาถูกกว่ามากเป็นผลสำเร็จ และได้ส่งมอบให้แก่ 3 หน่วยงานจำนวน 82,000 ชุด มูลค่า 8.2 ล้านบาท   คือ กรมควบคุมโรค จำนวน 50,000 ชุด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 12,000 ชุด และกรมราชทัณฑ์ 20,000 ชุด เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

 ศาสตราจารย์(พิเศษ) ดร. เอนก กล่าว

 

สวทช. สนับสนุนงานวิจัยรองรับการระบาด COVID- 19 อย่างต่อเนื่อง

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า  สวทช. มีเป้าหมายที่จะใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดและขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ตามเป้าหมายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบาย BCG Economy Model ในสาขายุทธศาสตร์ สุขภาพและการแพทย์ ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้เร่งพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรม รองรับการระบาดของ COVID- 19 โดยส่งมอบผลงานมากกว่า 20 ผลงาน ครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน การลดการแพร่กระจายและฆ่าเชื้อโรค รวมทั้งการตรวจคัดกรองและการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีหลายผลงานที่พร้อมทางด้านเทคโนโลยีการผลิตจนสามารถนำไปต่อยอดและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง

 สำหรับชุดสกัด RNA (Viral RNA Extraction Kit) ของศูนย์โอมิกส์แห่งชาติที่ได้จัดพิธีส่งมอบในวันนี้ ได้รับเงินกู้ฉุกเฉินภายใต้ “พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563” เพื่อดำเนินการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยชุดสกัด RNA ให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเหมาะสมกับการใช้งานจริง รวมถึงการขยายผลในการผลิตเพื่อส่งมอบให้หน่วยงานที่ใช้ประโยชน์โดยตรง เพื่อนำไปใช้สกัดอาร์เอ็นเอ ก่อนส่งตรวจวินิจฉัยผู้ป่วย COVID-19 โดยใช้ตัวอย่างจากสารคัดหลั่ง หรือ Swab ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคนิค Real-time RT ซึ่งการวิจัยและพัฒนานี้ถือเป็นจุดแข็งของประเทศที่จะช่วยสนับสนุนความมั่นคงด้านสุขภาพ ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าชุดสกัด ช่วยให้ประเทศมีความพร้อมในการรับมือต่อการระบาดของโรคอุบัติใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ทีมวิจัยศูนย์โอมิกส์ฯ จับมือ 2 หน่วยงาน พัฒนาวิธีสกัดอาร์เอ็นเอ

ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ทีมนักวิจัยศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คิดค้นและพัฒนา “วิธีสกัดอาร์เอ็นเอ (RNA) ของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จากตัวอย่างแบบง่าย” ขึ้น โดยใช้อนุภาคแม่เหล็ก (Magnetic Bead) จับกับสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอของไวรัส ซึ่งอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสที่สกัดได้มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปตรวจวิเคราะห์ด้วยวิธี RT-PCR ทั้งนี้วิธีในการสกัดสารพันธุกรรม ที่คิดค้นมี 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การทำให้เซลล์แตกตัวแล้วปล่อยสารพันธุกรรมออกมา 2.การเข้าจับสารพันธุกรรมและทำความสะอาดสารพันธุกรรม และ 3.การละลายสารพันธุกรรมบริสุทธิ์นั้นออกมาจากตัวจับ และทำความสะอาดสารพันธุกรรมที่อยู่ในตัวอย่าง ซึ่งสามารถทำการสกัดได้เร็ว ราคาถูก ที่สำคัญยังปรับวิธีให้ใช้ได้กับเครื่องสกัดอัตโนมัติที่มีอยู่ในท้องตลาดได้ค่อนข้างง่าย 

วิธีสกัดอาร์เอ็นเอดังกล่าว ยังสามารถนำไปใช้ในการสกัดสารพันธุกรรม ในสิ่งมีชีวิตอื่นๆได้ ไม่จำกัดเพียงไวรัสก่อโรค COVID-19 เท่านั้น แต่ยังรวมถึงไวรัสก่อโรคในพืช สัตว์และมนุษย์ สำหรับวิธีการสกัดที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นวิธีที่ง่ายสามารถใช้งานกับสารเคมีและอุปกรณ์ที่มีอยู่ในห้องปฏิบัติการด้านพันธุกรรม ซึ่งทีมนักวิจัยฯ ได้มีการนำไปทดสอบใช้งานจริงกับตัวอย่างตรวจของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว พบว่าให้ผลไม่แตกต่างจากการใช้ชุดสกัดที่นำเข้าจากต่างประเทศ


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save