สภาธุรกิจไทย –เวียดนาม ชี้เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุน 132 ประเทศจากปัจจัยและยุทธศาสตร์เอื้อต่อการลงทุนรอบด้าน



    สภาธุรกิจไทย–เวียดนาม พร้อมด้วย สถานทูตเวียดนามประจำประเทศไทย และบริษัท อมตะ วีเอ็น จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าว “โอกาสทองสำหรับนักลงทุนไทยในเวียดนาม” โดยระบุว่าเวียดนามยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนอย่างยิ่งเนื่องจากมีปัจจัยหลายด้านที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมาก เช่น ความมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง มีแรงงานจำนวนมาก และด้วยขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน และที่สำคัญเวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีน อินเดียและอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ




    ฟัน จิ้ ทัน เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบกับประเทศเวียดนามเช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ แต่ด้วยการบริหารจัดการทางด้านเศรษฐกิจที่ดีและการบริหารจัดการ COVID-19 ได้อย่างรวดเร็วภายในประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเชิงบวก (GDP) ในปี พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา โดยมียอดการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 2.91 % และเมื่อย้อนการเติบโตทาง GDP ของเวียดนามในช่วง 5 ปี (พ.ศ. 2559-2563) พบว่า GDP เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9% ซึ่งเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในโลก ส่งผลให้แนวโน้มเศรษฐกิจของเวียดนามในปีพ.ศ. 2564 สดใสและน่าลงทุนอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศนอกจากนี้องค์กรการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก (World Bank) ,กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ “ไอเอ็มเอฟ” (International Monetary Fund : IMF) และธนาคารพัฒนาเอเชียหรือ “เอดีบี” (Asian Development Bank : ADB) คาดการณ์ไว้ว่า GDP ของเวียดนามยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งจะเติบโตอยู่ที่ประมาณ 6.5-7%

สำหรับปัจจัยที่เอื้อให้มีการเข้ามาลงทุนจำนวนมากเนื่องจากเวียดนามมีเสถียรภาพทางการเมืองสูง มีแรงงานจำนวนมากและมีทักษะที่สูงในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งภาษาที่แรงงานสามารถพูดภาษาอังกฤษและสื่อสารให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจได้ดีกว่าอีกหลายๆประเทศในอาเซียนด้วยกัน รวมทั้งขนาดของตลาดในประเทศที่มีประชากรสูงถึง 100 ล้านคน และที่สำคัญเวียดนามยังเป็นจุดยุทธศาสตร์มีภูมิศาสตร์ทางการค้าสามารถเชื่อมโยงกับตลาดอาเซียน จีน อินเดียและอีกหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เวียดนามเป็นเป้าหมายของนักลงทุนกว่า 132 ประเทศ ที่สนใจเข้ามาลงทุนโดยปัจจุบันนักลงทุนชาวไทยเข้ามาในประเทศเวียดนามเวียดนามถึง 603 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวม 13 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 400 พันล้านบาท โดยนักลงทุนชาวไทยจัดอยู่ที่ลำดับ 9 ที่มีเข้ามายังเวียดนามมากสุดในปีพ.ศ.2562 รองจากประเทศสิงคโปร์, จีน, ญี่ปุ่น,ไต้หวันและฮ่องกง

ขณะที่ในปีพ.ศ.2563 นักลงทุนชาวไทยเริ่มมีการเพิ่มการลงทุนเข้ามามากขึ้นในเวียดนามจนขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 7 ของนักลงทุนที่เข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนามมากที่สุด โดยเพิ่มการลงทุนทางด้านโรงงานไฟฟ้า, การเงินการธนาคารและสาธารณูปโภคอื่น ๆทั้งลงทุนเองและร่วมการลงทุนร่วมกับนักลงทุนท้องถิ่นในเวียดนามทั้งทางภาคเหนือ ภาคใต้และใจกลางเมืองเวียดนาม คาดว่าอีก 5 ปีนักลงทุนชาวไทยจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว

“สำหรับเป้าหมายการพัฒนาประเทศในด้านการลงทุนในอนาคตนั้น เวียดนามตั้งเป้าจะเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ที่น่าลงทุนในปีพ.ศ.2573 และภายในปี พ.ศ.2578 จะก้าวผ่านประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว” เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย กล่าว

“เวียดนาม” เป็นตลาดที่น่าลงทุนในอนาคต


    ธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า เวียดนามยังเป็นจุดหมายปลายทางของการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงนักลงทุนไทยด้วยเป็นตลาดที่ใหญ่ มีแรงงานวัยหนุ่มสาวที่พร้อม สภาพแวดล้อมเชิงภูมิศาสตร์เหมาะสมและตลาดเติบโตต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มีทั้งความท้าทายและโอกาสสำหรับนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งประเทศไทยที่ต้องทำการศึกษาการลงทุน แต่ประเทศไทยยังถือได้ว่ามีความได้เปรียบกว่าหลายๆประเทศที่เข้าไปลงทุน เนื่องจากผลิตภัณฑ์สินค้าไทยเข้าไปสู่ตลาดเวียดนามจากรุ่นต่อรุ่นจำนวนมาก ทำให้ชาวเวียดนามคุ้นเคยและนิยมใช้มากว่าสินค้าผลิตภัณฑ์จากประเทศอื่น ๆ แต่ในอนาคตความไม่แน่นอนภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 สงครามการค้าจะมีอีกหรือไม่ และนโยบายจากคณะทำงานรัฐบาลใหม่ของเวียดนาม ดังนั้นความสำเร็จของการลงทุนของไทยในเวียดนามในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของนโยบายการลงทุนในปัจจุบันที่จะลงทุนและขับเคลื่อนให้เหมาะสมในแต่ละธุรกิจ และการสนับสนุนของรัฐบาลเวียดนาม การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามรวมถึงการเติบโตของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจของเวียดนาม ความสามารถของนักธุรกิจไทยและนักลงทุนในเวียดนามในการร่วมมือกันซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการเติบโตและการอยู่รอดในอนาคต ทั้งนี้ควรมีการประเมินความเสี่ยงการลงทุนทุก ๆไตรมาสหรืออย่างน้อยทุก ๆ 6 เดือน รวมทั้งมีการจัดอบรมให้กับพนักงานบุคลากรที่จะเข้าไปร่วมทำงานกับนักลงทุนชาวเวียดนามให้รู้ทักษะเพิ่มเติมในหลายๆด้านโดยเฉพาะภาษาอังกฤษ

จับตายุทธศาสตร์สำคัญของเวียดนาม ล้วนดึงดูดให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง


สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาธุรกิจไทย-เวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามมีประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และมีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่ำทำให้ตลาดเวียดนามมีกำลังซื้อสูง อีกทั้งการส่งออกสินค้าเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปีที่ผ่านมามีการส่งออกรวมมูลค่าถึง 281,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ได้ดุลการค้า 19,100 ล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นผลจากการทำความตกลงด้านการค้ากับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวม 17 ฉบับ ขณะเดียวกันเวียดนามให้สิทธิพิเศษในด้านภาษีและสิทธิประโยชน์อื่น ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการค้าและการลงทุน (Ease of doing Business) ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการลงทุน การก่อสร้างสาธารณูปโภค และอื่น ๆ นับเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ส่งผลให้เกิดการลงทุนในประเทศเวียดนามอย่างต่อเนื่อง ทำให้สร้างโอกาสทางการลงทุนการค้าในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เทรนด์ของโลกทางด้านเทคโนโลยีล้ำสมัย อีกทั้งในพื้นที่ทางตอนเหนือของเวียดนามเป็นขุมทรัพย์แห่งใหม่ของนักลงทุนที่จะเข้าไปร่วมลงทุนมีอยู่จำนวนมาก

สำหรับประเทศไทย หากมีการจัดตั้งหอการค้าไทย-เวียดนามให้แล้วเสร็จภายในปีพ.ศ.2564 นี้ จะเอื้อประโยชน์และช่วยให้นักลงทุนชาวไทยลงทุนได้สะดวกมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อย้อนมองดูประเทศไทยแล้วพบว่าปัจจัยการลงทุนในประเทศไทยยังแตกต่างจากเวียดนามในการเอื้อต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะเรื่องนโยบายภาครัฐที่ยังมีหลายๆเรื่องที่ไม่ชัดเจนไม่สร้างภาพความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งมีการประท้วงจากประชาชนอยู่ตลอดเวลา ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งขับเคลื่อนนโยบายสร้างความเชื่อมั่นอย่างเร่งด่วน

อมตะวีเอ็นเดินหน้าเพิ่มการลงทุนในเวียดนาม ตั้งเป้าพัฒนานิคมฯ ในเวียดนามสู่ “เมืองอัจฉริยะ”


    สมหะทัย พานิชชีวะ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อมตะวีเอ็น จำกัด (มหาชน) (AMATAV) กล่าวว่า อมตะวีเอ็น ได้เข้าไปลงทุนพัฒนาที่ดินสำหรับการก่อสร้างเป็นพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมให้กับบริษัทต่าง ๆในเวียดนามตั้งแต่ปีพ.ศ.2538 หรือ 26 ปีที่ผ่านมาด้วยมองเห็นโอกาสในการขยายการดำเนินงานของบริษัทฯ ให้เติบโตอย่างต่อเนื่องสร้างผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นในบริษัทฯ รวมทั้งสร้างโอกาสให้นักลงทุนไทยรายอื่น ๆที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามในอนาคต โดยปัจจุบันอมตะวีเอ็นได้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของเวียดนาม มีลูกค้าประมาณ 170 รายที่สนใจพื้นที่ที่อมตะวีเอ็นเข้าไปพัฒนาให้นักลงทุนเข้ามาใช้ก่อสร้างบริษัทในธุรกิจต่างๆ ทั้งหมด 6 โครงการรวมพื้นที่พัฒนา 2,500 เฮกตาร์หรือ 15,625 ไร่ ด้วยเงินลงทุนประมาณ 840 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 27,200 ล้านบาท ในขณะที่รัฐบาลเวียดนามอยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาสังคมเศรษฐกิจ อมตะวีเอ็นก็ได้วางเป้าหมายในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศเวียดนามสู่การเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านพลังงาน ชุมชน การผลิต การขนส่งและคมนาคม การศึกษา เทคโนโลยี และการจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ สอดรับกับแผนพัฒนาประเทศของเวียดนาม

“อมตะวีเอ็นพร้อมที่จะเพิ่มการลงทุนในเวียดนามตามแผนการดำเนินธุรกิจ โดยในขณะนี้ได้ตกลงกับพันธมิตรทางการค้า 2 รายจากเอเชียในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ดินเป็นนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ภาคกลางของเวียดนาม ที่เมืองดานัง ในพื้นที่ประมาณ 3,000 ไร่ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปีพ.ศ.2564 นี้” สมหะทัย กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save