สจล.เปิดแผนรับมือสถานการณ์ COVID-19พร้อมโชว์ 9 นวัตกรรมฝีมือคนไทยสู้ COVID-19 ระลอกใหม่เต็มรูปแบบ


สถาบันเทคโนโลยีพร ะจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 เปิดแผนรับมือสถานการณ์ COVID-19 พร้อมโชว์ 9 นวัตกรรมฝีมือคนไทยสู้ COVID-19 ระลอกใหม่ ประกอบด้วย เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉิน, กล่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด, ระบบคัดกรองบุคคลด้วย AI, รถตู้ตรวจเชื้อ, ชุด PAPRs, ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันบวก, ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันลบ, หุ่นยนต์ RAIBO-X ฆ่าเชื้อโรคด้วยแสง UV ครั้งแรกของคนไทย และเครื่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. โดยศูนย์รวมนวัตกรรม KMITL GO FIGHT COVID-19 ได้เดินหน้าแผนเชิงรุกส่งนวัตกรรมทางการแพทย์สู้COVID-19 ตั้งแต่การแพร่ระบาดรอบแรกจนกระทั่งเกิดระลอกใหม่ ซึ่งมีความรุนแรงและระบาดเร็วกว่ารอบแรกมาก ทางสจล.จึงได้มุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือคลี่คลายสถานการณ์ COVID-19 ในขณะที่รอวัคซีนที่กำลังพัฒนานำมาใช้ฉีดป้องกันแก่ผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อและประชาชนทั่วไป โดยนำทีมนักวิจัย อาจารย์และนักศึกษา ร่วมพัฒนานวัตกรรมต่างขึ้นใช้เอง ซึ่งได้รับการทดสอบจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ PTEC ตามมาตรฐาน IEC 60601-1 ด้านความปลอดภัย เพื่อช่วยเหลือสังคมให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง เป็นฝีมือคนไทย “ไทยทำ ไทยใช้ ไทยรอด” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแรงเสริมในการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการนำอุปกรณ์ นวัตกรรมต่างๆที่คิดค้นได้นี้ไปใช้ป้องกันตนเองในขณะทำการเข้าตรวจประชาชนในพื้นที่เสี่ยง เช่นในพื้นที่สมุทรสาคร ประชาชนที่เข้ามารับการตรวจเชื้อในโรงพยาบาลต่างๆ

ขณะนี้ สจล.ได้ส่งมอบนวัตกรรมแล้วกว่า 800 ชิ้น ไปยังโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุข 300 แห่ง ใน 66 จังหวัด และจะเร่งส่งมอบให้ครบทั้ง 77 จังหวัด นอกจากนี้ยังได้ส่งออกนวัตกรรม เช่น เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉิน,ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันบวกและตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันลบประมาณ 30 ชิ้นไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้แก่ สาธารณรัฐมัลดีฟส์, สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเมียนมา เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนด้านสุขอนามัยและใช้ตรวจคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงแบบเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่าง ๆ ทั่วประเทศและต่างประเทศ โดยมีเกณฑ์ในการส่งมอบนวัตกรรม ได้แก่ เป็นโรงพยาบาลภายใต้การกำกับของรัฐ โรงพยาบาลที่แต่งตั้งเป็นศูนย์ COVID-19 ศูนย์คัดกรอง COVID-19 หรือมีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังและสอบสวนโรค เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ติดชายแดน และมีหนังสือขอความอนุเคราะห์มาจากหน่วยงานหรือกระทรวงสาธารณสุข

9 นวัตกรรมฝีมือคนไทยสู้ COVID-19 ระลอกใหม่

สำหรับ 9 นวัตกรรมฝีมือคนไทยที่ สจล.คิดค้นสำหรับใช้สู้ COVID-19 ระลอกใหม่ ประกอบด้วย

1.เครื่องช่วยหายใจแบบฉุกเฉิน (Emergency Transport Ventilator) มีแนวคิดการออกแบบให้สามารถใช้งานง่ายและสามารถเคลื่อนย้ายในกรณีฉุกเฉิน ตัวเครื่องมีขนาดเล็ก พกพาได้ง่าย มีแบตเตอรี่ในตัว เหมาะกับสถานการณ์ที่ต้องใช้เร่งด่วน ในการช่วยเหลือผู้ป่วย หรือกรณีเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจแบบบีบมือตลอดเวลา ใช้งานได้ทั้งในสถานพยาบาล รถพยาบาล หรือหน่วยงานแพทย์เคลื่อนที่ ที่สำคัญราคาถูกกว่านำเข้าจากต่างประเทศ

2.กล่องอบฆ่าเชื้อโรคระบบปิด ใช้หลักการฆ่าเชื้อด้วยระบบอัลตราไวโอเลต สามารถนำเครื่องมือทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องการปลอดเชื้อ เข้าไปอบในกล่องด้วยระบบรังสีอัลตราไวโอเลต ประหยัดพลังงาน สามารถเสียบใช้ไฟฟ้าบ้านได้ และตัวเครื่องออกแบบมาให้มีขนาดเล็ก พกพาสะดวกเหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ในการนำไปใช้ในขณะลงพื้นที่ตรวจเชื้อ COVID-19

3.ระบบคัดกรองบุคคลด้วย AI ใช้หลักการทำงานโดยระบบจะมีสัญญาณ สามารถต่อกับไซเรน หรือระบบติดต่อกับเจ้าหน้าที่ได้ โดยระบบจะทำการประมวลผลและแจ้งภายในเวลา 0.5 วินาที แต่หากตรวจจับได้ว่าอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จะมีแถบสีแดงแสดงอุณหภูมิจริงแจ้งเตือนขึ้นและในกรณีที่ผู้ใช้งานไม่ใส่หน้ากากอนามัยระบบจะทำการแจ้งเตือนให้ใส่หน้ากากอนามัยทันที เพื่อคัดแยกผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงออกจากพื้นที่ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

4.รถตู้ตรวจเชื้อ (Mobile Swab Test) ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการอำนวยความสะดวกโรงพยาบาล หน่วยงาน หรือจุดคัดกรอง สามารถเคลื่อนที่ไปได้ทุกที่ เพื่อใช้ตรวจเก็บตัวอย่างหาเชื้อ COVID-19 เชิงรุก ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมีการใช้ระบบปรับความดันอากาศภายในให้เป็นบวก เพื่อป้องกันอากาศภายนอกที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคไม่ให้ผ่านเข้าไปในตัวรถ นอกจากนี้การใช้งานระบบปรับความดันอากาศ และเครื่องปรับอากาศภายในตัวรถ ใช้การเชื่อมต่อระบบไฟบ้าน ทำให้ไม่สิ้นเปลืองมลภาวะจากการติดเครื่องยนต์ตลอดเวลาขณะที่ทีมแพทย์ทำการตรวจเชื้อ ช่วยให้แพทย์ที่ประจำอยู่ในรถสามารถทำการตรวจเชื้อในพื้นที่เสี่ยงจากภายในได้อย่างปลอดภัย และสามารถรองรับการตรวจผู้ป่วยได้จำนวนมาก ถึง 100 คนต่อวัน

5.ชุด PAPRs ถูกออกแบบในการคลุมเฉพาะศีรษะโดยประยุกต์การใช้งานของหมวก Safety ให้สวมใส่ง่าย สบาย และสามารถปรับให้พอดีกับศีรษะ ภายในหมวกมีความดันเป็นบวกคงที่ขณะสวมใส่มีส่วนประกอบ ได้แก่ Loos-fitting เพื่อใช้กระชับลดการรั่วไหลของอากาศเพื่อคงระดับความดันบวกภายใน Hood, Face Shield โดยใช้เป็นวัสดุลดการสะท้อนของแสงเพื่อให้สามารถมองได้ชัดเจน,
Blower Box คือกล่องบรรจุพัดลมโดยมีพลังงานแบตเตอรี่ Li-ion 12v 6.4 AH สามารถชาร์จกับไฟบ้านทั่วไปได้และมีระบบการกรอง Filtration system สามารถใช้หัวกรองออกซิเจน แบบที่ใช้ใน CPAP BiPAP และถอดประกอบได้ตามการใช้งานจริง และที่สำคัญสามารถใช้ได้หลายครั้ง เนื่องจากสามารถซักและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ช่วยป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องลงพื้นที่ออกตรวจในพื้นที่เสี่ยง หรือต้องใกล้ชิดผู้ป่วยเพื่อลดการใช้ชุด PPE ที่มีจำนวนจำกัดได้

6.ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันบวก (Positive Pressure) ขนาดกว้าง 1.2 เมตร x ยาว 1.80 เมตร x สูง 2.40 เมตร เน้นใช้งานด้านนอกอาคาร ใช้หลักการทำงานโดยแพทย์ประจำอยู่ในตู้เพื่อทำการตรวจเชื้อจากผู้ที่อยู่ภายนอก ซึ่งจะทำให้แพทย์ตรวจเชื้อได้หลายครั้งโดยไม่ต้องเปลี่ยนชุด PPE อีกทั้งยังมีแรงดันบวกที่ทำให้สามารถผลักอากาศด้านนอก ป้องกันเชื้อไวรัสที่ลอยเข้าไปในตัวตู้กระจก เพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ขณะตรวจผู้ที่มีความเสี่ยง

7.ตู้ตรวจเชื้อ (Swab Test) ความดันลบ (Negative Pressure) ขนาดกว้าง 0.95 เมตร x ยาว 1.4 เมตร x สูง 1.92 เมตร ออกแบบโดยใช้หลักการทำงานโดยผู้มีความเสี่ยงประจำอยู่ในตู้ ขณะที่แพทย์สอดมือเข้าไปทำหัตถการ Swab โดยภายในห้องใช้ระบบควบคุมความดันลบเพื่อให้อากาศไหลเข้าทางเดียว พร้อมติดตั้งระบบกรองและฆ่าเชื้อด้วย UV-C และ HEPA ก่อนปล่อยอากาศสู่ภายนอก ป้องกันและควบคุมเชื้อไม่ให้ออกสู่ภายนอกเมื่อเปิดประตู

8.หุ่นยนต์ RAIBO-X ฆ่าเชื้อโรค ด้วยแสง UV ครั้งแรกของคนไทย เป็นหุ่นยนต์ที่พัฒนาต่อยอดจากหุ่นยนต์ AGV (Automatics Guide Vehicle) ชนิดใช้แผนที่ในการนำทาง เดิน และหลบสิ่งกีดขวางแบบอัตโนมัติโดยต่อยอดใช้กับอุปกรณ์ฉายแสง UVC เพื่อใช้สำหรับการฆ่าเชื้อโรค เนื่องด้วยรังสี UVC ที่มีความอันตรายต่อการมองและสัมผัสโดยตรง ดังนั้นการวางแผนเส้นทางเดินของหุ่นยนต์เคลื่อนที่ได้แบบอัตโนมัติ AGV และระบบเปิด-ปิด UVC ด้วย IoT (Internet of Things) จึงช่วยให้หุ่นยนต์ RAIBO-X สามารถดำเนินการฆ่าเชื้อโรคตามแผนทางเดินที่วางไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน สามารถฆ่าเชื้อโรค ด้วยแสง UV-C ในรัศมี 1 – 1.5 เมตร ทำงานได้ 12 ชั่วโมง ต่อการชาร์จแบตเตอรี่ 1 ครั้ง สามารถกำจัดสิ่งมีชีวิตหรือเชื้อโรคขนาดเล็ก เช่น ไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อโรคชนิดต่างๆ ควบคุมง่ายผ่านสมาร์ทโฟน

9.เครื่องฆ่าเชื้อโรคระบบปิด ฆ่าเชื้อโรคด้วยระบบโอโซน ภายในพื้นที่ 50 ตารางเมตร สามารถตั้งเวลาทำงานได้ ใช้ฆ่าเชื้อเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์หรืออุปกรณ์ที่ต้องการปลอดเชื้อ

“สจล.มีแผนต่อยอดพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ช่วยยับยั้งและป้องกัน COVID-19 ภายใต้ศูนย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 ต่อยอดใช้ในโรงพยาบาลพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMC Hospital) เพื่อคนไทยภายใต้แนวคิดเดียวกัน ในการวิจัยนวัตกรรมทางการแพทย์ผ่านการบูรณาการองค์ความรู้หลากสาขา ให้สามารถผลิตนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาด้านสุขภาพและโรคระบาดของประชาชน สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้านวัตกรรมจากต่างประเทศ” อธิการบดี สจล. กล่าว


เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    คุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรังปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

Save